ความโหลยโท่ยของราชการไทย สร้างวิกฤติระดับสากล

ความโหลยโท่ยของราชการไทย สร้างวิกฤติระดับสากล

นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้ “อำนาจพิเศษ” ของมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหามาตรฐานดำเนินการบินของไทย ที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจแล้วพบว่าการทำงานของกรมการบินพลเรือน (บพ.) ไม่ได้มาตรฐานสากล

  ผลที่ตามมาทันทีก็คือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สั่งห้ามเครื่องบินเหมาลำของไทยเข้าประเทศ และอาจจะมีผลกระทบต่อเนื่องที่ร้ายแรงต่อการท่องเที่ยว การเดินทาง และที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือของประเทศ

คำถามแรกคือทำไมต้องใช้ อำนาจเด็ดขาด ในเมื่อปัญหานี้คือปัญหาระบบราชการที่ล้าหลังไร้ประสิทธิภาพของเราที่เห็นกันอยู่เป็นประจำ เพียงแต่ครั้งนี้ไปเกี่ยวกับมาตรฐานสากล และมาตรฐานต่ำของเราไปกระทบมาตรฐานสากลของคนอื่น

ความจริง นายกฯใช้ อำนาจปกติ ก็สามารถจะ ล้างบาง ข้าราชการที่ล้มเหลวในหลาย ๆ หน่วยงานได้อยู่แล้ว

นี่คือส่วนหนึ่งของการ ปฏิรูประบบราชการ ที่จะต้องยกเครื่องการทำงานของระบบราชการที่เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงของประเทศ

ข้ออ้างของกรมการบินพลเรือนไทยคือ ขาดงบประมาณและบุคลากร ทำให้ไม่สามารถทำตามมาตรฐานสากลที่ต้องการให้แบ่งหน้าที่ระหว่างฝ่ายกำกับกับฝ่ายปฏิบัติ และให้สวัสดิการการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้านนี้อยู่ในระดับสากล

ICAO มาตรวจและระบุข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขเมื่อปี 2548 หรือเกือบ 10 ปีมาแล้ว ขอให้ไทยปรับปรุงการบริหารงานและบุคลากร เพราะไทยยังใช้ระบบเก่า ไม่เป็นสากล พอเขามาตรวจอีกครั้งเมื่อต้นปี พบว่ายังไม่มีการแก้ไขปรับปรุงแต่อย่างไรเลย จึงขอให้เร่งแก้ไข

กระทรวงคมนาคมเพิ่งจะแก้ไขและส่งแผนไปให้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา ICAO พิจารณาแล้วขอให้ปรับแผนและแก้ไขเพิ่มเติมอีก

ทางการไทยมักจะอ้างว่า ICAO ไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมาย เป็นเพียงกลไกการตรวจสอบของสมาชิกเท่านั้น แต่เราหารู้ไม่ว่ายุคนี้ไม่เกี่ยวกับอำนาจทางกฎหมาย แต่เป็นการกระจายข่าวสารที่กว้างไกล ตรวจสอบได้ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเขาเอาข้อมูลเรื่องนี้ของไทยขึ้นเว็บไซต์ของเขา หลายประเทศที่มีมาตรฐานเรื่องนี้สูง และเป็นห่วงความปลอดภัยของเขาเอง ก็ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแสดงว่า รัฐบาลของเขาไม่ได้นิ่งเฉยต่อเรื่อง มาตรฐานการบินสากล

พี่ไทยเราจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่สนใจว่าทั่วโลกเขามีมาตรฐานอย่างไรก็ต้องรับรู้ว่าชาวโลกเขาไม่เล่นด้วย และความเดือดร้อนนี้ไม่ได้จำกัดแต่หน่วยราชการที่ไร้ประสิทธิภาพเท่านั้น หากแต่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

เพราะสะท้อนว่าไทยเราเป็นประเทศไร้คุณภาพในหลาย ๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่ลำดับคอร์รัปชันที่สูง, มาตรฐานการศึกษาที่ต่ำและความตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนที่แย่ (เรื่อง “ค้ามนุษย์” เป็นอีกตัวอย่างของความชุ่ยของระบบราชการที่เห็นได้ชัด)

นักข่าวถามรัฐมนตรีคมนาคม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ว่าทำไมจึงปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ เพราะเรื่องนี้เกิดตั้งแต่ปี 2548 ท่านบอกว่าไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมปล่อยมาเนิ่นนานขนาดนี้ แต่พอจะทราบเรื่องมาบ้างกับสิ่งที่ผ่านมา กรมการบินพลเรือนก็พยายามปรับปรุง แต่ดูเหมือนไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร และงบประมาณที่ได้รับมีจำกัด จึงทำอะไรได้ไม่มาก เรื่องนี้จึงค้างมานาน

รัฐมนตรีคมนาคมบอกว่า นายกฯประยุทธ์ ได้พบนายกฯญี่ปุ่น ชินโซะ อาเบะ ที่สิงคโปร์ และหารือ โดยนายกฯญี่ปุ่นรับปากว่าจะไปดูให้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก

ข้อเท็จจริงที่เราควรตระหนักก็คือว่า เรื่องมาตรฐานสากลเช่นนี้แม้แต่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็ไม่สามารถจะไปสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวกับความปลอดภัยการบินระหว่างประเทศย่อหย่อน ไม่ทำตามกติกาได้ มิฉะนั้น ญี่ปุ่นเองจะเสียหายไปด้วย

พูดง่าย ๆ คือเรื่องมาตรฐานสากลนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะขอร้องให้ผ่อนผันโดยระดับการเมืองได้

เขาอาจจะรับปากไป ดู ให้ได้ แต่เขาไม่สามารถจะไปลดมาตรฐานความปลอดภัยการบินของเขาได้

ถามว่านายกฯ ใช้อำนาจเด็ดขาดตามมาตรา 44 จะแก้ปัญหาได้หรือไม่?

คำตอบคือปัญหานี้ไม่เกี่ยวกับว่านายกฯ มีอำนาจหรือไม่ ปัญหาอยู่ที่ความโหลยโท่ยของระบบราชการที่ต้องแก้ด้วยการยกเครื่องครั้งใหญ่ ลงโทษคนผิด ตั้งคนทำงาน และเกาะติดการทำงานทุกขั้นตอนทุกเวลา

  ตราบที่สำนึกของคนไทยเรื่องมาตรฐานสากลยังเฉื่อยแฉะ และ ทำได้ตามใจคือไทยแท้ตราบนั้นเราก็จะยังติดอยู่กับ วิกฤติต่อเนื่องอย่างที่เห็นอยู่นี่แหละ