พายเรือแข่งในอ่างหรือ สร้างรัฐนาวาที่ฝ่าคลื่นลม?

พายเรือแข่งในอ่างหรือ สร้างรัฐนาวาที่ฝ่าคลื่นลม?

ถ้าคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่ากำลังแข่งพายเรือกับนักการเมือง

 ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไร

ความจริง ถ้าคนร่างรัฐธรรมนูญมองไม่ตรงกับนักการเมืองก็ควรจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีด้วยซ้ำ ตรงกันข้าม ถ้าคนเขียนกติกากับคนทำตามกติกาเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย นั่นซิน่ากลัวกว่า

การเขียนกติกาของบ้านเมืองโดยเฉพาะสำหรับนักการเมือง ควรจะเป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องวางกรอบไว้ให้แน่ใจว่า การเมืองต่อจากนี้ไปต้องตรวจสอบได้ ต้องลงโทษนักการเมืองฉ้อฉลได้ และหากใครเห็นว่าไม่สามารถทำตามกฎเกณฑ์ที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนแล้ว ก็ไม่ควรจะเข้ามาเล่นการเมือง

คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็เป็นเพียงคน ยกร่าง เท่านั้น ต้องผ่านกระบวนการที่สะท้อนความเห็นชอบของประชาชนก่อนจึงจะถือว่าเป็นกติกาของบ้านเมืองได้

ในคำปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สานพลังเครือข่าย ภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ” วันก่อน คุณบวรศักดิ์เปรียบเปรยได้น่าสนใจ ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ท่านบอกว่า “กมธ. ยกร่างฯเปรียบเสมือนเป็นคนพายเรือ สปช. เป็นลูกเรือ เรือลำนี้กำลังแข่งกับนักการเมืองซึ่งเตรียมทีมแจวไว้อย่างดี เป็นการปรองดองครั้งแรกระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ในการถล่มร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นความร่วมมือของ สปช. และทุกหน่วยงานมีความสำคัญมากในการช่วยกันจัดทำรัฐธรรมนูญ การทำกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายเพื่อทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเกิดความสำเร็จ...”

ความเห็นของนักการเมืองเป็นประเด็นที่คนร่างต้องรับฟัง แต่เพราะนักการเมืองเป็นคนกระโดดลงไปเล่นด้วย จึงไม่อาจจะถือว่าเป็นความเห็นที่ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้นจึงต้องประเมินว่าความเห็นใดเป็นการกลั่นกรองจากประสบการณ์เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง และความเห็นใดเป็นเรื่องของการปกปักรักษาผลประโยชน์ของคนมีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเลือกตั้งและการเมืองเอง

สมาชิก กมธ. ยกร่างฯ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เอง ก็อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนอำพรางอยู่ การถกแถลงเพื่อหาสูตรที่เหมาะสมที่สุดเพื่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศชาติอย่างแท้จริง จึงจะต้องทำอย่างกว้างขวาง โปร่งใส และถ่วงดุลอำนาจของคนในสังคมให้เหมาะสมโดยหยิบเอาบทเรียนในอดีตมาแก้ไข และยืนหยัดบนหลักการของการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับประเทศไทย ไม่ยอมให้ ศรีธนญชัย ครอบงำสังคมการเมืองและต้องให้มีการตรวจสอบผู้มีอำนาจในทุก ๆ ด้านโดยอำนาจของประชาชนเอง

สมาชิก สปช. ก็เตรียมจะวิพากษ์วิจารณ์ร่างของ กมธฯ ยกร่างอย่างเผ็ดร้อนซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็น นายกรัฐมนตรีคนนอก หรือระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน หรือการเปิดทางให้ ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง อีกทั้งเรื่องการได้มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม

ล้วนแล้วแต่มีแง่มุมที่ละเอียดอ่อน และจำเป็นที่ประชาชนจะต้องได้รับทราบข้อดีข้อเสียอย่างกว้างขวางก่อนที่จะมีการตัดสินใจ

ท้ายที่สุดการลงประชามติในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ น่าจะเป็นการตอกย้ำความชอบธรรมของการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ

เพราะหากเป็นเพียงการต่อสู้กันระหว่างกรรมการยกร่างฯ, สปช., สนช. และนักการเมืองกับนักวิชาการบางคนบางกลุ่มเท่านั้น เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าปลายทางของการร่างกติกาใหม่นี้ จะสะท้อนความต้องการของประชาชนที่แท้จริงหรือไม่อย่างไร

การเดินทางของการร่างรัฐธรรมนูญจากนี้ไปตามคำบอกเล่าของคุณบวรศักดิ์ก็คือ

26 พฤษภาคม ถึง 23 กรกฎาคมนี้ กมธ. ยกร่างฯเข้าสู่กระบวนการทบทวนเนื้อหาตั้งแต่มาตรา 1 ถึง มาตรา 315 โดยนำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากทุกฝ่ายมาประกอบการพิจารณา

จากนั้นส่งต่อให้ สปช. ลงมติภายในวันที่ 6 สิงหาคม

ถ้า สปช. ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ คุณบวรศักดิ์บอกว่า แฝดอินจัน คือ กมธ. ยกร่างและ สปช. ก็ตายไปด้วยกัน ถูกจับใส่หม้อถ่วงน้ำ เสียชื่อวงศ์ตระกูล

ถ้า สปช. เห็นชอบ ประธาน สปช. ก็มีเวลาระหว่าง 7 สิงหาคมถึง 4 กันยายนส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ ครม. ดำเนินการตามขั้นตอน

ขั้นตอนต่อจากนั้น ภายใน 60 วันต้องดำเนินการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับคือ

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ

พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง

ทั้งหมดนี้ให้เสร็จใน 90 วัน

หากกระบวนการนี้เป็นไปโดยไม่มีการทำประชามติ การเลือกตั้งก็น่าจะเกิดขึ้นประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม 2559

แต่ถ้า ครม.ตัดสินใจทำประชามติ ก็บวกเวลาเพิ่มอีก 3 เดือน การเลือกตั้งก็คงเป็นช่วงเดือนมิถุนายน 2559

แต่นั่นยังไม่ได้ตกลงกันว่า ประชามติ จะตั้งคำถามประชาชนอะไรบ้าง หรือ “ประชามติ” ควรจะเป็นการตั้งคำถามที่กำลังถกแถลงกันเพื่อให้การยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตาม “ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” หรือไม่

ดังนั้น ที่ว่า กมธ.ยกร่างฯ กำลังพายเรือแข่งกับนักการเมืองนั้นอาจไม่ใช่การเปรียบเทียบที่ถูกต้องนัก ความจริงทั้ง กมธ. สปช. และ ครม. กับ คสช. จะต้องสำนึกในหน้าที่การร่วมกันสร้าง รัฐนาวา ลำใหม่ที่จะฝ่าคลื่นลมข้างหน้าอย่างเต็มที่มากกว่า

แล้วอย่าลืมถามเจ้าของรัฐนาวาให้รอบด้านเสียก่อนในทุก ๆ ประเด็นที่สำคัญต่อการเดินทางรอบใหม่เพื่อไม่ให้อับปางอีกรอบ!

เพราะพายุข้างหน้าหนักหน่วงนัก และ แป๊ะก็ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือคนเดียว!