เศรษฐกิจไทยไร้ซึ่งข่าวดี ?

เศรษฐกิจไทยไร้ซึ่งข่าวดี ?

“ถ้าเศรษฐกิจไม่มั่นคงความมั่นคงก็จะไม่มั่นคง” คำกล่าวของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหลังหารือนักธุรกิจใหญ่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจของคนในรัฐบาลที่ในระดับสูงสุด หากจะพูดว่าให้ความสำคัญเทียบเท่าเรื่องความมั่นคงก็ไม่ผิดนัก

 

ต้องยอมรับว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาการควานหาข่าวดี เรื่องเศรษฐกิจไม่ง่ายนัก เมื่อสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆพากันทยอยปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจในปี2558ลงอย่างต่อเนื่องตั้ง เริ่มจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดจีดีพีเหลือ3.8%จากคาดการณ์ไว้ที่4% ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB)ปรับลดจีดีพีไทยลงจาก 3.9% เหลือ 3.6%ขณะที่ปิดท้ายด้วยตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาที่ปรับตัวลดลงถึง6.14%เป็นการลดลงที่มากสุดในรอบ 6 เดือนและส่งผลให้ส่งออก2เดือนติดลบ4.82%

 

จริงๆแล้วก่อนที่ตัวเลขต่างๆจะออกมาคนในรัฐบาลโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์รู้ดีถึงสัญญาณเศรษฐกิจในช่วงต้นปีที่ชะลอตัวต่อเนื่อง รวมทั้งได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายโอกาสว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอธิบายว่าที่ภาคส่งออกเราติดลบ ประเทศอื่นๆก็ติดลบมากกว่า นอกจากนั้นสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์สั่งการก็คือ ให้ช่วยๆกันอธิบายสิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อให้เศรษฐกิจดี ดังนั้นเราจึงเห็นภาพของคีย์แมนเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม. อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ ออกมานั่งแถลงข่าวหลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจด้วยตัวเอง

ที่จริงแล้วเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องภาคการส่งออกเท่านั้น แต่มีปัญหาจากกำลังซื้อที่ลดลงจากราคาพืชผลที่ตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลง ขณะที่คนเมือง ก็ติดหล่มอยู่กับปัญหาหนี้ครัวเรือนการจับจ่ายใช้สอยก็มีข้อจำกัด รวมทั้ง

 ปัญหาที่สั่งสมมานานอย่างเรื่องเศรษฐกิจสีเทา และเศรษฐกิจนอกระบบ เมื่อถึงเวลารัฐเข้าไปจัดระเบียบเงินบางส่วนที่เคยหมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจฐานล่างหายไปซึ่งม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ กล่าวในการประชุม ครม.เศรษฐกิจว่าเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจ1ใน3จากที่เคยหมุนเวียนอยู่ 

สิ่ิ่งที่รัฐบาลพอจะทำได้ในขณะนี้ก็คือการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศรองผ.อ. สศค.บอกว่าในสถานการณ์แบบนี้รัฐต้องใช้มาตรการคลังโดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐให้เต็มที่ในการกระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจ โดยภาครัฐที่จะมีการลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจในนี้ประมาณ3.47ล้านล้านบาท รวมทั้งจะมีการกู้เงินเพิ่มเติมอีก8หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินงานในโครงการบริหารจัดการน้ำ และแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน โดยผูกพันงบประมาณปี2558วงเงินประมาณ5.6หมื่นล้านบาทโดยเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐจะมีผลกระตุกกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายไตรมาสที่2เป็นต้นไป

 

เศรษฐกิจไทยวันนี้จึงไม่ได้ไร้ซึ่งข่าวดีไปเสียทีเดียว เพียงแต่ต้องรอให้การใช้มาตรการทางการคลัง มีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะในระดับฐานล่างดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ผ.อ.ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้าบอกว่าตามทฤษฎีการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการใช้การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า3เดือน