อันเนื่องมาจากเรื่องความปิติยินดีของการมีน้อย

อันเนื่องมาจากเรื่องความปิติยินดีของการมีน้อย

นิตยสารไทม์ประจำสัปดาห์นี้ขึ้นปกด้วยเรื่องของครอบครัวคลินตันและเขียนเรื่องนำด้วยบทวิเคราะห์พฤติกรรมของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน

และฮิลลารี คลินตัน เนื่องจากช่วงนี้มีการเคลื่อนไหวของค่ายต่างๆ อย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งต่อไปตอนปลายปีหน้า นิตยสารจำนวนมากจึงมักนำเรื่องการเมืองมาขึ้นปกโดยเฉพาะเรื่องของฮิลลารี คลินตันซึ่งคอการเมืองต่างเก็งกันว่าจะลงแข่งขันเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตอีกครั้งหลังพ่ายแพ้แก่บารัก โอบามา เมื่อปี 2551 การขึ้นปกเช่นนั้นคงต้องการจูงใจให้คอการเมืองซื้อ แต่สำหรับผม นิตยสารไทม์ฉบับนี้มีเรื่องซึ่งยาวกว่าและน่าสนใจกว่าเรื่องการเมืองที่ขึ้นปก เรื่องนั้นชื่อ The Joy of Less หรือ ความปีติยินดีของความมีน้อย


แม้ชื่อเรื่องจะเป็นความปีติยินดีของการมีน้อย แต่เนื้อหาซึ่งยาวถึง 7 หน้ากระดาษ (เรื่องของคลินตันใช้พื้นที่ 6 หน้ากระดาษ) เกือบทั้งหมดพูดถึงการซื้อหาแบบบ้าคลั่งของชาวอเมริกัน พวกเขาซื้อกันแบบแทบไม่หยุดยั้งจนกระทั่งหาที่เก็บมิได้ ส่งผลให้เกิดกิจการบริการใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งโกดังให้เช่าสำหรับเก็บของ อาชีพที่ปรึกษาซึ่งให้คำแนะนำว่าจะเก็บอะไรไว้และอะไรควรทิ้งไป หรือให้ผู้อื่น จะจัดเก็บสิ่งของที่มีอยู่อย่างไรเพื่อทำให้บ้านไม่รกรุงรัง และกิจการบรรทุกสิ่งของที่เหลือใช้ไปทิ้ง


เนื่องจากชาวอเมริกันนับล้านยังไม่ต้องการทิ้งสิ่งของที่ตนซื้อหามาได้ โกดังให้เช่าจึงขยายอย่างรวดเร็วจนคนอเมริกันกว่า 320 ล้านคนสามารถเข้าไปยืนอยู่ข้างในได้สบาย กิจการโกดังเกิดขึ้นทั้งที่บ้านของชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีที่เก็บของอย่างเพียงพออยู่แล้วรวมทั้งห้องใต้ดินและห้องระหว่างหลังคากับฝ้าเพดาน นอกจากนั้น บ้านส่วนใหญ่ยังมีโรงจอดรถยนต์ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เป็นที่เก็บของได้อีกด้วย แต่ราว 75% ของโรงจอดรถเหล่านั้นเต็มไปด้วยสิ่งของสารพัดส่งผลให้รถยนต์ต้องจอดทิ้งให้ตากแดดตากฝนอยู่ข้างนอก


อนึ่ง สิ่งของดังกล่าวไม่นับรวมอีกส่วนหนึ่งซึ่งยังอยู่ในสภาพดีมาก แต่ชาวอเมริกันอยากได้ของใหม่จึงโยนทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเรือนจำพวกโซฟา ตู้เย็น โทรทัศน์ ประตู หน้าต่างหรือพรม เนื่องจากผมใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกาและใช้เวลาเดินออกกำลังกายเป็นระยะทางไกลๆ ไปตามหมู่บ้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่นิตยสารไทม์พูดถึงจึงยืนยันได้จากการสังเกตทั้งเพื่อนบ้านและหมู่บ้านที่ผมเดินผ่านไปเป็นประจำ


อะไรทำให้ชาวอเมริกันทำเช่นนั้น? คำตอบมีทั้งแบบสั้นๆ และแบบยาวๆ คำตอบสั้นๆ ที่นิตยสารไทม์พูดถึงคือ “เพราะฉันทำได้” แต่นั่นดูจะง่ายเกินไป นิตยสารจึงพูดถึงคำตอบยาวๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับทั้งเรื่องจิตวิทยาและเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ ทางจิตวิทยา มีสันนิษฐานหลายอย่างรวมทั้งคนอเมริกันจำนวนมากรู้สึกไม่มั่นคงและว้าเหว่อย่างแพร่หลาย จำนวนหนึ่งถึงกับเป็นโรคซึมเศร้า นอกจากนั้น ราว 1 ใน 6 เป็นโรคเกี่ยวกับความกระสับกระส่าย ทางออกอย่างหนึ่งของคนเหล่านั้นคือการซื้อหาสิ่งของ ในสมัยนี้ การซื้อหาทำได้ง่ายมากเนื่องจากสามารถสั่งสารพัดอย่างได้ทางอินเทอร์เน็ตและภายในเวลาอันสั้นสินค้าก็จะมาถึงประตูบ้าน (บริษัทแอเมซอนกำลังทดลองส่งของถึงบ้านหลังการสั่งซื้อภายในหนึ่งชั่วโมง) การซื้อหาได้ง่ายทำให้ความยับยั้งชั่งใจแทบไม่มีเหลือ ประเด็นนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งของ “คำสาปของเทคโนโลยี” ซึ่งคอลัมน์นี้พูดถึงหลายครั้ง แต่การซื้อหานั้นก็แก้ความว้าเหว่และความกระสับกระส่ายไม่ได้ ซ้ำร้ายมักสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น


สำหรับด้านนโยบายเศรษฐกิจ แนวคิดกระแสหลักเป็นตัวผลักดัน นั่นคือ ความเชื่ออย่างฝังใจว่าการขาดกำลังซื้อเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ นิตยสารมิได้อ้างถึงเรื่องนี้ แต่จากวันที่เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์หลังตลาดหลักทรัพย์อเมริกันล่มเมื่อเดือนตุลาคม 2472 นโยบายเศรษฐกิจเดินตามแนวคิดของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ซึ่งเน้นการกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง นักเศรษฐศาสตร์และคนทั่วไปถูกล้างสมองให้คิดว่า เศรษฐกิจที่ดีจะต้องขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจจะขยายตัวไม่ได้หากไม่มีผู้ซื้อสิ่งของที่ผลิตออกมา การซื้อหาอย่างบ้าคลั่งจึงถูกกระตุ้น


นิตยสารชี้ว่า การซื้อหามาสะสมแบบนั้นแทนที่จะทำให้ชาวอเมริกันมีความสุข กลับทำให้พวกเขามีความทุกข์เนื่องจากมันทำให้เกิดความกระสับกระส่าย นอกจากนั้น มันยังทำให้ไม่อาจเชิญเพื่อนมาบ้านได้อีกด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีที่ให้เขานั่ง หรือบ้านรกรุงรังจนรับแขกไม่ได้ (คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมาอ้างถึงการมีเพื่อนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข) ท่ามกลางการซื้อหาอย่างบ้าคลั่งนี้ เริ่มมีชาวอเมริกันรุ่นหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งซึ่งเคลื่อนไหวที่จะไม่เข้าร่วมในกระบวนการ นิตยสารมิได้ขยายความนอกจากยกตัวอย่างสั้นๆ และมิได้สรุปว่าการเคลื่อนไหวนั้นจะมีพลังต้านทานกระแสการซื้อหาแบบบ้าคลั่งได้หรือไม่ จากมุมมองของผู้ที่เข้าใจการเคลื่อนไหวในแนวต่อต้านการบริโภคนิยมของพวกฮิปปี้ การเคลื่อนไหวล่าสุดนี้คงไม่มีทางต้านทานการบริโภคนิยมในสังคมอเมริกันได้


เรื่องการซื้อหาได้มากมายเพราะมีรายได้สูงขึ้น แต่ไม่มีความสุขเพิ่มขึ้นมิใช่ของใหม่ ย้อนไปเมื่อปี 2547 หนังสือเล่มหนึ่งชี้ให้เห็นประเด็นนี้แล้วชื่อ The Progress Paradox : How Life Gets Better While People Feel Worse (มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) หลังจากนั้นก็มีเล่มอื่นพิมพ์ตามออกมาอีก อย่างไรก็ดี ขณะนี้ชาวอเมริกันยังตกอยู่ในภาวะไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา จึงยังซื้อหากันอย่างบ้าคลั่งต่อไป เรื่องที่น่าเศร้าใจคือ คนไทยยังเดินตามก้นเขาแบบไร้ความยั้งคิด ทั้งที่เรามีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นภูมิปัญญามานานแล้ว