เสียงร้องจาก... บุตร‘บุญ’ธรรมเกาหลีใต้

เสียงร้องจาก... บุตร‘บุญ’ธรรมเกาหลีใต้

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ เศรษฐกิจเกาหลีใต้รุ่งระดับแถวหน้าของเอเชีย แต่เกาหลีใต้เป็นแชมป์โลกในการให้ต่างชาติรับเด็กเกาหลีใต้เป็นบุตรบุญธรรม

ถือเป็นประวัติการณ์ของโลก ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งปล่อยให้เด็กเกิดในประเทศจำนวนมากขนาดนี้หลั่งไหลออกไปเป็นบุตรบุญธรรมในต่างแดน


60 ปี นับจากสงครามโลก ครั้งที่สองและ หลังสงครามเกาหลี (ค.ศ. 1953-55) มีเด็กเกาหลีใต้ถึงสองแสนคน ที่ต่างชาติรับเป็นบุตรบุญธรรม 150,000 คนอยู่ในสหรัฐอเมริกา 50,000 คนอยู่ในแคนาดา


ในทศวรรษที่ผ่านมา บุตรบุญธรรมเกาหลีใต้จำนวนมากมายเหล่านี้ ที่มีชีวิตอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป นี่เอง ที่ได้เผยความจริงต่อโลกอย่างเป็นขบวนการ และเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่เกี่ยวกับเรื่องราวบุตรบุญธรรมโดยเฉพาะการเป็นบุตรบุญธรรมระหว่างชาติ (international adoption) จากมุมมองของบุตรบุญธรรมตัวจริง โดยที่แต่เดิมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบุตรบุญธรรมมักจะมีแต่มาจากฝ่ายพ่อแม่บุตรบุญธรรมและหน่วยงานบุตรบุญธรรมเท่านั้น


ประมาณปี 2004 ที่เสียงร้องของบุตรบุญธรรมเกาหลีใต้ ผู้มีชีวิตเติบโตอย่างดีในสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มดังขึ้น บุตรบุญธรรมกลุ่มนี้ เรียนจบมหาวิทยาลัยชั้นนำติดอันดับ มีงานดีๆ รออยู่ บ้างแต่งงานตั้งครอบครัวแล้วกับชาวอเมริกันเพียบพร้อม มีพ่อแม่บุญธรรมที่รักและดูแลพวกเขามาตลอดชีวิต แต่แล้วบุตรบุญธรรมเกาหลีใต้เหล่านี้ จากหนึ่งก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เริ่มตัดสินใจกลับเกาหลีใต้เพื่อค้นหาภูมิกำเนิดของตัวเอง


จนถึงวันนี้ บุตรบุญธรรมที่เดินทางมาเกาหลีใต้แล้วยังไม่กลับ ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลักสิบเป็นหลักร้อยและไต่ขึ้นหลักพัน โดยพวกเขาล็อบบี้รัฐบาลเกาหลีใต้ออกวีซ่า เอฟ 4 ให้ เพื่อจะได้อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้อย่างไม่มีกำหนด ตลอดจนสามารถขอมีสองสัญชาติได้


อย่างไรก็ดี แม้จะเรียนภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี ตัดสินใจอยู่ต่อในเกาหลีใต้อย่างไม่มีกำหนดกลับสหรัฐ บุตรบุญธรรมเหล่านี้ต่างยอมรับว่าไม่ได้รู้สึกเป็นคนเกาหลี โดยตลอดชีวิตตั้งแต่เล็กจนโตในสหรัฐอเมริกานั้น ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเป็นคนอเมริกัน ผิวขาว รู้ตัวตลอดเวลาว่า ตนเองต่างจากคนอเมริกันผิวขาว ต่างเผ่าต่างพันธุ์


ตลอดชีวิต พวกเขารู้สึกแปลกแยก ไม่ใช่คนเกาหลี ไม่ใช่คนอเมริกัน ไม่ใช่ทั้งคนที่นั่น และก็ไม่ใช่ทั้งคนที่นี่ ยอมรับว่าพวกเขาเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างสองประเทศ (in between) หรือจะเรียกว่าเป็นพื้นที่ที่สาม (third space) ก็ได้


เสียงร้องของบุตรบุญธรรมเกาหลีใต้เช่นนี้ดังขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น เขียนหนังสือ สร้างภาพยนตร์ ทำงานวิจัย มีองค์กรรณรงค์ด้านต่างๆ ทั้งทางกฎหมายและทางสังคมเพื่อ “ประโยชน์สูงสุด” ของเด็กไร้บ้านไร้ผู้ปกครอง หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์เรื่องบุตรบุญธรรมจึงได้เริ่มเขียนขึ้น ทั้งในเกาหลีใต้และในต่างประเทศ


ทั้งหมดนี้ เกิดจากการที่บุตรบุญธรรมเกาหลีใต้คนแล้วคนเล่าค่อยๆ ได้พบว่าในหลักฐานการรับบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศของตน มีการแจ้งข้อมูลเท็จ การปกปิดข้อมูล ตลอดจนการตกแต่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งสามารถหลุดผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนทั้งในประเทศและระหว่างรัฐต่อรัฐ ทั้งนี้ก็เพราะการรับบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายมหาศาล เช่น หากพ่อแม่บุญธรรมไม่มารับด้วยตนเอง ก็ต้องจ้างคนพาไป ตลอดจนค่าธรรมเนียมที่พ่อแม่บุญธรรมต้องเสียเพื่อการตรวจสอบ “ระหว่างรัฐต่อรัฐ” นั่นเอง


ด้วยความรู้สึกสับสน ผิดหวัง มีท่วมท้น บุตรบุญธรรมเหล่านี้ จึงเกิดสนใจใคร่รู้ลึกยิ่งขึ้น ชาวโลกจึงได้ประจักษ์พร้อมกับพวกเขาที่พบว่า การคอร์รัปชันทั้งทางข้อมูลและเงินตราพบได้ในทุกประเทศที่มีการรับบุตรบุญธรรมระหว่างชาติ ไม่ใช่เฉพาะในเกาหลีใต้ เพียงแต่ไม่มีประเทศไหนที่ เด็กบุตรบุญธรรมตัวจริงตัวเป็นๆ จะมีโอกาสกลับมาสืบค้นหาตัวตนของตนเองมากมายอย่างในกรณีของเกาหลีใต้ อีกทั้งได้สืบค้นนำมาเปิดเผยอย่างเป็นระบบเป็นองค์กร


ในที่สุด คำถามถึงความเป็นมาของตัวเองก็ได้นำไปสู่คำถามถึงประวัติศาสตร์ระดับประเทศ ทะลุทะลวงเข้าในหัวใจของคนร่วมชาติ เกิดเป็นประสบการณ์ร่วม นั่นคือ เหตุใดประเทศของตนจึงปล่อยให้มีการรับบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศมากมายขนาดนี้


หากในทศวรรษ 1950 พออธิบายได้ว่าเพราะหลังสงคราม มีเด็กกำพร้ามากมาย จึงส่งเด็กออกไปเป็นบุตรบุญธรรม โดยเฉพาะเป็นเด็กลูกครึ่งเชื้อสายอเมริกันทั้งผิวขาวผิวดำเสียก็มากเมื่อสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง ทว่าเหตุใด หลังสงครามแล้วหลายทศวรรษ บุตรบุญธรรมส่งออกนอกประเทศจึงไม่ลดลง มีแต่สูงขึ้น โดยทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ไม่มีเด็กลูกครึ่งให้รับเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว มีแต่เด็กจากพ่อแม่เกาหลีแท้ๆ ทั้งนั้น ปี 1985 เกาหลีใต้ ‘ส่งออก’ บุตรบุญธรรมถึง 8,837 คน


และทศวรรษ 1990 เกาหลีใต้ก้าวสู่ประเทศพัฒนาแถวหน้าในเอเชีย แต่ยังไม่หยุด ‘ส่งออก’ บุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งสวนทางกับการเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างน่าประหลาดใจ ที่จำนวนบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศลดลงดังเช่นประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วทั่วๆ ไป


ด้วยการศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ ทำการรณรงค์ต่อเนื่อง บุตรบุญธรรมเกาหลีใต้กลุ่มนี้ สามารถเปลี่ยนทัศนคติสังคมให้ยอมรับหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม จัดสวัสดิการให้ทั้งแม่และทารก ล็อบบี้แก้ไขกฎหมายในเกาหลีใต้สำเร็จ


ภายในทศวรรษเดียว บุตรบุญธรรมระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ลดลงเรื่อยๆ จากจำนวนที่เคยมีปีละเกือบหมื่น มาเป็นปีละ 1,700 คน ปี 1993 พันคนในปี 2007 และเหลือเพียง 263 คนในปี 2013 พวกเขากลุ่มนี้มีเป้าหมายจะเห็นสังคมเกาหลีใต้ยุติการรับบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศให้จงได้


(จบตอนที่ 2 จากทั้งหมด 4 ตอน)