การขับขี่ Motorbike ของท่านผู้นำ (2)

การขับขี่ Motorbike ของท่านผู้นำ (2)

อาจจะมีผู้นำบางคนที่อาจจะอยู่ในระดับ “สนใจ” อย่างเช่น ดไวท์ ไอเซนฮาวร์, โรนัลด์ เรแกน, จอร์จ บุช รวมทั้งบิล คลินตัน ก็เคยพยายามสื่อภาพ

ว่าเป็นคนรักมอเตอร์ไซค์ในช่วงระหว่างรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก แต่ที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักบิด” ตัวจริงคนหนึ่งแบบไม่เสียชื่อความเป็นอเมริกันก็คือจอห์น เคอรี่ รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบัน และอาร์โนลด์ชวาร์เซเน็กเกอร์ในฐานะผู้ว่าการรัฐแคลิเฟอร์เนีย ที่คนอเมริกันยังคงประทับใจภาพมอเตอร์ไซค์คันดุสวมแว่นดำถือปืนโตในภาพยนตร์เรื่อง Terminator 2 แบบไม่จางหาย


ประธานาธิบดีหญิงของบราซิลอย่าง จิลมารูเซฟ ก็เคยแอบซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ให้รัฐมนตรีว่าการความมั่นคงแห่งสังคมเป็นผู้ขับตระเวนไปทั่วเมืองหลวงแบบปิดบังไม่มีใครทราบไม่มีใครเห็น ชนิดที่ทำให้คนบราซิลทั้งประเทศช็อกแบบไม่เชื่อ แต่สุดท้ายก็พากันชื่นชมในตัวผู้นำหญิงคนนี้ที่แสดงออกซึ่งภาพลักษณ์ของความเป็นปุถุชนคนหนึ่ง ว่ากันว่า ถึงแม้จะเป็นผู้หญิงวัยเกิน 60 แล้ว แต่ท่านผู้นำหญิงก็เกิดหลงใหลมนต์เสน่ห์ของชอปเปอร์คันใหญ่ขึ้นมาทันที



ผู้นำระดับโลกที่รู้จักใช้ประโยชน์จากมอเตอร์ไซค์เพื่อผลทางการเมืองมากที่สุดคนหนึ่งก็คือ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า ปูตินชอบแสดงออกให้โลกเห็นว่าเป็นผู้นำที่มากความสามารถได้ทั้งบู๊ทั้งบุ๋น สามารถทำอะไรๆได้หมด โดยเฉพาะการแสดงออกให้ประจักษ์ว่าเป็นผู้นำแบบชายชาตรีมีสามศอกทรหดแข็งแรงที่สุด ตั้งแต่ว่ายน้ำ ขี่ม้า ขับเครื่องบิน ขับรถแข่ง เล่นยูโด และอีกสารพัด


แต่การขับมอเตอร์ไซค์กลับมีความหมายมากที่สุดนอกเหนือจากการขับมอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์ เดวิดสัน (สามล้อ) เพื่อโชว์ความเป็นแมนๆ แล้ว ปูติน กลับใช้ประโยชน์เพื่อผลทางการเมืองอย่างน่าทึ่งโดยเฉพาะการประกาศนับญาติเป็นพี่น้องกับกลุ่ม “หมาป่าราตรี” ซึ่งถือเป็นกลุ่มมอเตอร์ไซค์ที่ใหญ่ในประเทศมีสมาชิกกว่าห้าพันคนจนประสบความสำเร็จในดึงกลุ่มที่ทรงพลังที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศเข้าเป็นพวกอย่างสนิทใจด้วย


แก๊ง “หมาป่าราตรี” (ที่ดูเหมือนเป็นกองทัพทหารนี้) ได้สร้างคุณูปการทางการเมืองให้แก่ปูตินอย่างมาก เพราะทำหน้าที่เป็นกองกำลังแนวหน้า (แบบเนียนๆ) เปิดทางให้มีการบุกยึดไครเมียร์แยกออกจากยูเครนเมื่อปีที่แล้ว จนหัวหน้าแก๊งถูกขึ้นแบล็กลิสต์จากรัฐบาลสหรัฐเมื่อปลายปีที่แล้ว


นอกจากนี้ ภาพของปูตินขับรถฮาร์เลย์ เดวิดสันอย่างทะมัดทะแมงนำขบวนแก๊ง “หมาป่าราตรี” รุกคืบเข้าไปในยูเครน (ก่อนยึดจริง) ถูกเปรียบเทียบกับภาพความเป็นแฟมิลีแมนของ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ขณะกำลังปั่นจักรยานธรรมดาๆ ว่านี่คือความแตกต่างระหว่างผู้นำที่เข้มแข็งและผู้นำที่อ่อนแอ (?)


แต่ผู้นำที่ดูเหมือนเท่ห์ที่สุดก็คือรัฐมนตรีคลังคนปัจจุบันของกรีซ ที่หลงใหลและขับมอเตอร์ไซค์ไปทำงานและร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีโดยไม่อายใคร จนสื่ออังกฤษขนานนามว่า “นักบิดมาสซิสต์”


ในบรรดานายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ต้องถือว่า พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นผู้นำไทยคนแรกๆ ที่หลงใหลมอเตอร์ไซค์ชอปเปอร์มานานแล้ว (เหมือนเช่นกษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดนและอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย) และเมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศในปี พ.ศ. 2531 “น้าชาติ” ก็อาศัยมอเตอร์ไซค์มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างภาพพจน์อย่างได้ผล


ทั้งนี้ ก่อนที่รับตำแหน่ง พลเอกชาติชายเคยยอมรับว่า “อายุมากแล้ว ตอนนี้ผมอายุ 69 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีตอนอายุ 70-71 ปี ไม่สนุกแน่ ผมแก่แล้วทำไม่ไหว”


แต่เมื่อรับตำแหน่งหน้าที่ผู้นำประเทศแล้ว พลเอกชาติชายไม่อาจปล่อยให้สังคมมอง (ผิดๆ) ว่าเป็น “ผู้นำแก่” ที่ไร้น้ำยาได้ มิฉะนั้น จะกลายเป็นอุปสรรค (ทางจิตวิทยา) ต่อการบริหารประเทศได้ ทำให้ประชาชนหมดความเชื่อถือตั้งแต่ต้น


ด้วยเหตุนี้ มอเตอร์ไซค์จึงถูกเลือกใช้ให้เป็น “เครื่องมือ” หนึ่งในการสร้างภาพพจน์ของท่านผู้นำอย่างได้ผล ทำให้ “น้าชาติ” (ไม่ใช่ “ลุงชาติ”) กลายเป็นคนที่ดูกระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวาและร่ำรวยเสน่ห์ จนได้รับฉายาว่า “น้าชาติมาดนักซิ่ง” อย่างเหมาะสมที่สุด


สำหรับ “น้าชาติ” แล้ว ความรู้สึกที่ว่า “ความสนุกสนานในอายุผมดูเหมือนจะหมดไปแล้ว” นั้น จะไม่หมดจริงยามเมื่ออยู่บนหลังอานมอเตอร์ไซค์คันโปรด


การสร้างอนุสาวรีย์ของ “น้าชาติ” คู่กับมอเตอร์ไซค์ และภาพ 3 มิติของพลเอกชาติชายขี่ชอปเปอร์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ได้เป็นอย่างดี


การขับขี่รถชอปเปอร์ของพลเอกชาติชายต้องถือเป็นความชอบความหลงใหลเป็นรสนิยมส่วนตัวอย่างแท้จริง (ควบคู่กับการเต้นรำตามแบบฉบับของนักการทูต) แต่ภาพที่สังคมเห็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังขับขี่มอเตอร์ไซค์ผู้หญิงสีเหลืองต้องถือเป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นิยมสูบซิการ์อย่างสิ้นเชิง


ดูเหมือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีพื้นฐานชื่นชอบหลงใหลหรือมีไลฟ์สไตล์ในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์เหมือนพลเอกชาติชายอย่างแน่นอน แต่ พ.ต.ท.ทักษิณเลือกขับขี่ “รถเครื่อง” แบบบ้านๆ ที่ชาวต่างจังหวัดนิยมใช้ (นอกเหนือจากการอาบน้ำนุ่งผ้าขาวม้า กินข้าวกับชาวบ้าน และนอนวัด) เพื่อสื่อสารและสร้างภาพพจน์ทางการเมืองว่า เป็นกันเองหรือไม่แปลกแยกกับประชาชน


ถึงแม้จะมีความรักหลงใหลที่แตกต่างกันอย่างมาก แต่ทั้งพลเอกชาติชายและพ.ต.ท.ทักษิณเลือกใช้มอเตอร์ไซค์ในฐานะ “เครื่องมือ” สร้างภาพพจน์มากกว่าการเป็นเพียง “ยานพาหนะ” เพื่อสัญจรหรือเป็นงานอดิเรกเพื่อความสนุกสนาน


ล่าสุด แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ขับขี่มอเตอร์ไซค์สวมหมวกแก๊ปสีแดงอวดโชว์รอบทำเนียบจนเป็นข่าวฮือฮา เข้าใจว่า น่าเป็นการขับขี่แบบไม่มีสคริปเขียนล่วงหน้าเพื่อผลทางการเมืองใดๆ อุปมาเหมือนบิ๊กตู่เห็นมอเตอร์ไซค์แล้ว “อดเปรี้ยวไม่ได้” (เพราะมีความชอบความหลงใหลเป็นทุนเดิมที่ไม่ต่างจากพลเอกชาติชาย) เหมือนเช่นอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชที่เห็นโต๊ะทำอาหารเมื่อไหร่เป็นต้องรีบปลี่เข้าไปทันที


เพราะฉะนั้นแล้ว มอเตอร์ไซค์สำหรับท่านผู้นำแต่ละคน อาจจะมีความหมายหรือความสำคัญแตกต่างกันได้เสมอ