Shale oil & gas คลื่นลูกใหม่แห่งพลังงาน จะรุ่งจริงหรือ?

Shale oil & gas คลื่นลูกใหม่แห่งพลังงาน จะรุ่งจริงหรือ?

การขุดค้นพบ shale oil จำนวนมหาศาลของสหรัฐ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุปทานน้ำมันล้นตลาด

ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงเกือบ 60% จากระดับ 107 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อกลางปีที่แล้ว สู่ราคาปัจจุบันที่ราว 45 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะกลับขึ้นไปสู่ระดับเดิมดูยากขึ้นไปอีก เมื่อกลุ่ม OPEC ยังยืนยันไม่ลดปริมาณการผลิตน้ำมัน โดยมีนโยบายมุ่งรักษาส่วนแบ่งการตลาด และหวังให้ผู้ผลิตน้ำมันที่มีต้นทุนสูงอย่าง shale oil ประสบกับภาวะขาดทุนและออกไปจากตลาดเอง ดังนั้น จากที่เราเคยคาดการณ์ว่า shale oil และ shale gas จะเป็นขุมทองแห่งพลังงานและเป็นตัวพลิกโฉมธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอนาคตอันใกล้ แต่ราคาน้ำมันที่ตกต่ำอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้พลังงาน shale ได้รับความสนใจจากนักลงทุนดังที่เคยคาดไว้จริงหรือ? 

shale oil (หรือ tight oil) และ shale gas คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ถูกกักอยู่ในชั้นหินดินดานอยู่ลึกลงไปใต้เปลือกโลก จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีการขุดเจาะที่ซับซ้อนกว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบดั้งเดิม (conventional oil&gas) ปัจจุบันค้นพบแหล่ง shale oil และ shale gas 95 แห่ง ครอบคลุม 41 ประเทศ ขนาด 3.5 แสนล้านบาร์เรล และ 7,300 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ตามลำดับ คิดเป็น 10% ของปริมาณสำรองน้ำมันดิบ และ 32% ของปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติทั่วโลก โดยประเทศที่มีปริมาณสำรอง shale oil และ shale gas จำนวนมาก ได้แก่ จีน สหรัฐ รัสเซีย เป็นต้น แต่ประเทศที่มีการขุดเจาะมากที่สุดคือสหรัฐฯ เนื่องจากมีความได้เปรียบเรื่องศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะอย่างต่อเนื่อง และลักษณะทางธรณีวิทยาที่ไม่ซับซ้อน รวมทั้งมีแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการขุดเจาะ

โดยสหรัฐ เป็นผู้ค้นพบและพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะที่เรียกว่า hydraulic fracturing หรือ fracking คือการใช้แรงดันน้ำขนาดสูงผสมสารเคมีและทรายเพื่อทำให้หินร้าว ควบคู่กับ horizontal drilling หรือ การเจาะแนวราบเพื่อช่วยเพิ่มผิวสัมผัสของหลุมเจาะกับชั้นหิน Shale ซึ่งสหรัฐ เริ่มนำพลังงาน shale มาใช้ในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2007 และมีอัตราการเติบโตของปริมาณการผลิตเกือบ 40% ต่อปี

เทคโนโลยีดังกล่าวมีต้นทุนค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ทำให้ผู้ผลิต shale คุ้มทุน (breakeven price) จะต้องมีราคาโดยเฉลี่ยมากกว่า 60 ดอลลาร์/บาร์เรล ขึ้นไป ซึ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ผู้ผลิตสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในช่วงขาลงจนมาสู่ระดับปัจจุบันที่ราว 45 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้การผลิตพลังงาน shale ในบางแหล่งเริ่มไม่คุ้มทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่ง shale เช่นกัน ในบางแหล่งที่เป็นแหล่งเก่ามีปริมาณสำรองอยู่มากอย่าง Bakken หรือ Eagle Ford ในสหรัฐ ยังสามารถทำกำไรได้หากราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ราว 40 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่เมื่อเทียบกับซาอุดีอาระเบีย พี่ใหญ่ของกลุ่ม OPEC มีต้นทุนการผลิตน้ำมันเพียง 10-20 ดอลลาร์/บาร์เรล เท่านั้น!

สถานการณ์ราคาน้ำมันดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ เริ่มชะลอการลงทุนในพลังงาน shale อาทิ Continental Resources บริษัทผู้บุกเบิกการผลิต shale oil ในสหรัฐ มีแผนลดแท่นขุดเจาะในปี 2015 จาก 50 เหลือ 31 แท่น ส่วน ConocoPhillips ประกาศตัด CAPEX ในปี 2015 ลงกว่า 30% เหลือ 11.5 พันล้านดอลลาร์ และเลื่อนโครงการขุดเจาะ shale oil และ shale gas หลายโครงการออกไปก่อน เช่นเดียวกับ Chevron ได้ยกเลิกโครงการ shale gas ในโรมาเนีย และโปแลนด์ นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) ประเมินว่าปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง shale ที่สำคัญในสหรัฐฯ จะลดลง 2.4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายนนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 ดังนั้นแล้วพลังงาน shale อาจก้าวไปต่อได้ช้ากว่าที่คาด

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงาน shale นอกเหนือจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ จนทำให้การผลิตไม่คุ้มทุนแล้ว ยังมีเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งเทคโนโลยี fracking ทำให้น้ำใต้ดินเป็นพิษ ส่งผลต่อคุณภาพและความสะอาดของน้ำดื่ม นอกจากนี้ ยังเกิดการรั่วซึมของก๊าซมีเทนที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และการขุดเจาะดังกล่าวสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่ระดับ 1-3 ริคเตอร์ ดังนั้นจึงมีการสั่งห้ามการขุดเจาะดังกล่าวในบางพื้นที่ เช่น ในรัฐ New York ของสหรัฐ ในประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าพลังงาน shale ยังไปต่อได้แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยปัจจัยที่สนับสนุนการขุดเจาะ shale oil และ shale gas ได้แก่ เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่นปัจจุบันแท่นขุดเจาะ 1 แท่น สามารถผลิต shale gas ได้ปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 300% เมื่อเทียบกับแท่นขุดเจาะเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง และขณะนี้ผู้ผลิตได้พัฒนาวิธีขุดเจาะแบบใหม่ เช่น ใช้เลเซอร์ หรือการใช้นาโนเทคโนโลยีช่วยเรื่องความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้นไปอีกด้วยต้นทุนที่ถูกลง ผู้ผลิตพลังงาน shale จะยิ่งมีความสามารถในการทำกำไรที่ระดับราคาน้ำมันต่ำกว่าในปัจจุบัน และสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบดั้งเดิมที่มีต้นทุนต่ำได้

อีกทั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินของภาคเอกชนในสหรัฐ กว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการผลิต การจัดเก็บ และการขนส่งพลังงาน shale ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทต่างๆ ย่อมไม่ยอมให้การลงทุนนั้นเสียเปล่า อย่างไรเสียก็ต้องเดินหน้าพัฒนาการขุดเจาะพลังงาน shale ต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อมองในระยะยาว ความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมกันแล้วยังมีปริมาณสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพลังงานประเภทอื่น อย่าง ถ่านหิน พลังงานทดแทน หรือนิวเคลียร์ ซึ่งในปี 2025 สัดส่วนอุปสงค์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติของโลกต่ออุปสงค์พลังงานรวม อยู่ที่ 30% และ 25% และมีอัตราการเติบโตต่อปี ระหว่างปี 2015-2025 เฉลี่ย 1% และ 2% ตามลำดับ ในขณะที่ IHS CERA ประเมินว่าปริมาณสำรองและการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบดั้งเดิมจะเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังปี 2035 ดังนั้น shale oil และ shale gas จะต้องเข้ามาแทนที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากพลังงาน shale ยังคงรุ่งต่อไป ภาพที่จะเห็นในอนาคตคือ สหรัฐฯ จะกลายเป็นประเทศที่พึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ภายในปี 2021 โดยไม่ต้องนำเข้าอีกต่อไป และอาจเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสุทธิภายในปี 2031 และ 2016 ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเดิมไปยังสหรัฐฯ อย่างกลุ่ม OPEC และแคนาดา ที่ต้องหาตลาดใหม่ และอาจทำให้อุปทานในตลาดโลกมีอยู่เป็นจำนวนมากกดดันราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

สำหรับผลต่อประเทศไทยนั้น บริษัทน้ำมันและปิโตรเคมีของไทยมีความสนใจลงทุนในแหล่งพลังงาน shale ในต่างประเทศเช่นกันเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และความมั่นคงด้านวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานก็จะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำจากการขุดเจาะพลังงาน shale ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาค่าไฟฟ้า ภาคขนส่ง ภาคครัวเรือนผู้ขับขี่ยานยนต์ ภาคธุรกิจที่จะมีต้นทุนการดำเนินงานลดลง โดยเฉพาะธุรกิจการบิน อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากมีต้นทุนค่าขนส่งในสัดส่วนที่สูง

ในขณะเดียวกัน shale boom จะเป็นความท้าทายต่อพลังงานหมุนเวียน อย่างพลังงานลม แสงอาทิตย์ เชื้อเพลิงชีวภาพ ที่มีต้นทุนสูง กำลังการผลิตต่ำ ซึ่งในที่สุดรัฐบาลจะต้องมีภาระอุดหนุนเพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถแข่งขันได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวพลังงานหมุนเวียนย่อมมีความยั่งยืนมากกว่าพลังงาน shale เพราะในที่สุดแล้วพลังงาน shale ย่อมมีวันหมดไปเช่นกัน