ถาม-ตอบ กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียม (เฉพาะ) ระหว่างเพศ

ถาม-ตอบ กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียม (เฉพาะ) ระหว่างเพศ

ผู้เขียนเชื่อว่าการได้รับการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนทุกๆ คน เพราะเป็นหลักการพื้นฐานของการดำรงอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข

และมีศักดิ์ศรี รัฐธรรมนูญไทยในอดีต ทั้งฉบับปี 2540 และ 2550 ได้บัญญัติรับรองหลักความเท่าเทียมกันไว้ในมาตรา 30 ดังนี้


“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้...”


แต่แม้ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิในความเท่าเทียมมานานแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ยังขาดไป คือ มาตรการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิ ประกอบกับความยุ่งยากในการบังคับใช้สิทธิทางศาล จึงทำให้ที่ผ่านมาหลักการดังกล่าวจึงยังไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมได้อย่างที่ควรเป็น


ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามสร้างมาตรการที่จะทำให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีหลักการที่น่าสนใจหลายประการ ผู้เขียนนำมาเรียบเรียงเป็นแนวถามตอบง่ายๆ ดังนี้


1. กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับเมื่อไหร่?


วันที่ 9 กันยายน 2558 กล่าวคือ อีกประมาณครึ่งปี แปลว่าตอนนี้ยังคงอ้างสิทธิไม่ได้นะครับ


2. กฎหมายฉบับนี้แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในทุกๆ รูปแบบหรือไม่?


กฎหมายฉบับนี้มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะ “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม (เฉพาะ) ระหว่างเพศ” เท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยข้อเท็จจริงลักษณะอื่นๆ เช่น สภาพร่างกาย ชาติพันธุ์ หรือศาสนา การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุอื่นจึงยังไม่มีกฎหมายกำหนดมาตรการเยียวยาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมดังเช่นการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศที่กำหนดในกฎหมายฉบับนี้


3. อะไรคือสิ่งที่กฎหมายคุ้มครอง?


กฎหมายกำหนดว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” จะกระทำมิได้ และหลักการดังกล่าว ผูกพันหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติ ทั้งนี้ “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า


“การกระทำหรือไม่กระทำการใด อันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด”


ซึ่งส่งผลให้ต่อไปการจ้างแรงงาน การกำหนดค่าตอบแทน เงื่อนไขการอนุญาตต่างๆ การเข้าถึงสิทธิพื้นฐานทั้งปวง เงื่อนไขการดำรงตำแหน่งหรือเข้าสู่ตำแหน่ง จะใช้เพศสภาพเป็นตัวแบ่งแยกหรือกำหนดความแตกต่างไม่ได้ (แต่ยังใช้เรื่องอายุ สภาพร่างกาย ชาติพันธุ์ ศาสนา หรือความเชื่อและทัศนคติทางการเมืองได้ ใช่หรือไม่?)


4. กฎหมายมีข้อยกเว้นหรือไม่?


กฎหมายยกเว้นให้มาตรการในบางกรณี “ไม่ถือ” เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เช่น การดำเนินการเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น การกระทำเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัย หรือความมั่นคงของประเทศ อาทิ เรื่องการทหาร และการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา (ดังนั้น ภิกษุณี ก็น่าจะยังคงมีไม่ได้เช่นเดิม)


5. กฎหมายผูกพันองค์กรใดบ้าง?


ทั้งภาครัฐและเอกชน ขอเน้นว่า “ภาคเอกชน” ด้วยครับ


6. หน่วยงานใดเป็นผู้บริหารบังคับใช้กฎหมาย?


“คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่หลักในการกำหนดกรอบนโยบาย และมี “คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” (คณะกรรมการ วลพ.) ทำหน้าที่ในการบังคับการต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย


7. กฎหมายกำหนดมาตรการเยียวยาและการชดเชยไว้อย่างไร?


(1) มาตรการทางปกครอง ได้แก่ การยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. เพื่อขอให้กำหนดการชดเชยและเยียวยาต่างๆ เช่น ค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหาได้ ค่าสูญเสียโอกาสที่เป็นค่าเสียหายในเชิงพาณิชย์ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลรวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ และการชดเชยเยียวยาในลักษณะอื่น โดยการยื่นคำร้องนี้ไม่ตัดสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล


(2) มาตรการทางแพ่ง กำหนดให้ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติสามารถฟ้องศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายได้ โดยศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินและค่าเสียหายในเชิงลงโทษได้ไม่เกิน 4 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการเยียวยาทางแพ่งที่สูงมาก เมื่อเทียบกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ใช้หลักค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ


8. เอกชนจะมีความรับผิดทางอาญาจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศหรือไม่


หลักการคือไม่มีความรับผิดทางอาญาจากกรณีดังกล่าว เว้นแต่กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ วลพ. หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่


จะเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มุ่งกำจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศเป็นสำคัญ แต่หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญในอดีต จะพบว่าการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะจากเรื่อง “เพศ” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ภาษา อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฯลฯ อีกด้วย


ทั้งนี้ ผู้เขียนพบว่าในชั้นยกร่างกฎหมายมีการกล่าวถึงกฎหมายของอังกฤษ 2 ฉบับ ได้แก่ Disability Discrimination Act 1995 และ Sex Discrimination Act 1975 แต่เป็นกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้วโดย Equality Act 2010 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่บูรณาการหลักความเท่าเทียมในทุกๆ มิติ ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องเพศ แต่ก็น่าเสียดายที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณาแต่อย่างใด ซึ่งโดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นการดีกว่าหากเราสามารถมีกฎหมายกลางที่ทำให้หลักว่าด้วยความเท่าเทียมสามารถใช้บังคับได้อย่างครอบคลุมทุกกรณี มากกว่าที่จะเน้นเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแต่เพียงเรื่องเดียวครับ