อยู่รอดได้ แม้เศรษฐกิจไม่เป็นใจ

อยู่รอดได้ แม้เศรษฐกิจไม่เป็นใจ

SMEs ที่มักมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดและสายป่านสั้น ลองนำแนวทางการควบคุมต้นทุนนี้เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย

ในสภาวะที่เศรษฐกิจการค้าทั่วโลกดูเหมือนจะหยุดชะงักและซบเซาจากภัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภัยจากวิกฤตทางการเงิน ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ยังคงทรงๆ แม้ดูเหมือนว่าสหรัฐกำลังฟื้นตัวก็ตาม แต่ก็ยังเป็นท่าทีแบบคนเพิ่งฟื้นไข้คือล้มๆลุกๆ เดินได้บ้างแต่ยังเป็นไปแบบช้าๆ อีกทั้งต้องต่อสู้กับพายุหิมะที่โจมตีในหลายมลรัฐจนทำให้การคมนาคมต้องสะดุดหยุดลง ในเอเชียแม้ว่าจะไม่ค่อยมีภัยคุกคามมากนัก และดูเหมือนจะเป็นความหวังเดียวในโลกนี้ที่น่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น ดูเหมือนปัญหาทางการเมืองจะสงบลงชั่วคราว และความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของจีนก็ลดลงชั่วขณะ

 

ประเทศไทยคงต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้น แต่กระนั้นก็ต้องพยายามขยายสัดส่วนทางการค้ากับพันธมิตรในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรืออินเดีย และแสวงหาตลาดต่างประเทศใหม่ๆในซีกตะวันออกกลางและอาเซียน การประคองตัวและสร้างความอยู่รอดให้กับธุรกิจของตัวเองในช่วงปีนี้มีความสำคัญมาก แนวโน้มต่างๆทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และทางสังคมของไทยกำลังปรับตัวเข้าสู่ระบบใหม่ นักเศรษฐศาสตร์บางท่านเชื่อว่าถ้าไม่มีแรงปะทะหรือความขัดแย้งแรงๆอีก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีน่าจะมาพร้อมกับการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีหน้า

 

สำหรับผู้ประกอบการนั้น ธุรกิจจะอยู่รอดหรือเจริญเติบโตได้ ต้องทำให้ได้ดีกว่าคู่แข่ง และผู้บริหารต้องตระหนักว่าบรรยากาศของการประกอบธุรกิจเปลี่ยนไปจากเดิมมาก   ต้องคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับธุรกิจของตนและเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ทุกครั้งที่วงจรเศรษฐกิจซบเซา ผมก็มักจะหยิบยกหลักปฏิบัติเพื่อความอยู่รอดมาปัดฝุ่นและกระตุ้นเตือนทุกครั้ง ว่าอย่าลืมที่จะต้องพิจารณาและตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ ด้วยการ (1) มุ่งเน้นลูกค้า (2) ใส่ใจในการออกแบบ(3) ดำเนินการเป็นระบบ (4) พัฒนาทรัพยากรบุคคล (5) ปรับปรุงคุณภาพสินค้า (6) จัดทำฐานข้อมูล (7) เพิ่มขีดความสามารถการผลิต (8) ส่งเสริมการขายและการตลาด

 

มุ่งเน้นลูกค้า ด้วยการสร้างกระบวนการและช่องทางการรับฟังเสียงลูกค้า

    1.สร้างทีมร่วมกับลูกค้า
    2.รวบรวมและประยุกต์สารสนเทศ
    3.ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
    4.พนักงานส่วนหน้ามีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยน และวางแผนกลยุทธ์

 

การออกแบบทั้งผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ด้วยวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    5.ตัดลดส่วนประกอบ ขั้นตอนการทำงานและพนักงานให้เหลือเฉพาะสิ่งที่ดีที่สุด ในจำนวนน้อยที่สุด

 

การดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผ่านกระบวนการที่ดีมีความสูญเสียน้อย

    6.ลดเวลาและระยะทางในกระบวนงานต่างๆให้สั้นที่สุด
    7.ทำการผลิตให้ใกล้เคียงกับความต้องการมากที่สุด

 

พัฒนาทรัพยากรบุคคล ให้มีความสามารถที่สอดรับกับบริบทใหม่ ทั้งทักษะและความคิดสร้างสรรค์

    8.พัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างต่อเนื่อง ฝึกฝนทักษะหลากประเภท
    9.เพิ่ม/ลดรางวัล และผลตอบแทนให้สอดคล้องกับผลงาน

 

ปรับปรุงคุณภาพสินค้า และความสามารถที่สอดรับกับลูกค้าและตลาดที่หลากหลาย

    10.ลดการผันแปรและความผิดพลาด
    11.ทีมปฏิบัติการส่วนหน้าต้องบันทึกและเป็นเจ้าของข้อมูลเพื่อการปรับปรุงกระบวนการ

 

จัดทำฐานข้อมูลที่ทันสมัย และนำสารสนเทศที่ได้ไปใช้ในการวางแผน ปฏิบัติการ และการควบคุม

    12.ควบคุมสาเหตุหลักของต้นทุนและผลลัพธ์ของการปฏิบัติงาน
    13.ปรับดัชนีผลการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

 

ยกระดับขีดความสามารถการผลิต ทั้งด้วยคนและเครื่องจักร ให้เต็มกำลังความสามารถที่สุด

    14.ปรับปรุงเครื่องจักรและแรงงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
    15.แสวงหาเครื่องจักรที่ใช้งานง่าย ยืดหยุ่น เคลื่อนที่ได้ ต้นทุนต่ำมาใช้งาน

 

การส่งเสริมการขายและการตลาด ด้วยการนำจุดแข็งจุดขายที่โดดเด่นเหนือคู่แข่ง มาใช้ในการสร้างแรงดึงดูดลูกค้า

    11.ส่งเสริมการขายและการตลาดโดยขายความสามารถ และสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นขององค์กรที่ได้มาจากการปรับปรุง ทั้ง 15 ประการข้างต้น

 

และในระยะเวลาเฉพาะหน้าปีนี้ ขอให้ข้อคิดสั้นๆเพื่อให้ทุกธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่มักมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดและสายป่านสั้น ลองนำแนวทางการควบคุมต้นทุนเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยได้ในยุคที่สภาพเศรษฐกิจและการแข่งขันทางธุรกิจไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร ดังนี้

 

    1.ลดค่าใช้จ่าย (ที่ไม่จำเป็น) ลง
    2.ลดต้นทุนการผลิต (ขจัดความสูญเสีย) ลง
    3.ลดจำนวนผลผลิต (ที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด) ลง
    4.ลดเวลาทำงาน (ที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม) ลง
    5.เชื่อมโยงเงินเดือนพนักงานกับความสามารถ
    6.รักษาสมดุลของจำนวนพนักงานกับปริมาณงาน