ชนชั้นกลาง ‘ระลอกสุดท้าย’ ในสังคมไทย (1)

ชนชั้นกลาง ‘ระลอกสุดท้าย’ ในสังคมไทย (1)

ความเปลี่ยนแปลง/ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคืออะไร และจะนำพาสังคมไทยไปทางไหน

ผมถูกถามทำนองนี้บ่อยมากจากนักศึกษา เพื่อนฝูงญาติมิตรและคนทั่วไปที่รู้จักกัน คำตอบที่ใช้ในการพูดคุยก็คืออยู่กับจังหวะเวลาที่ถูกถาม หากมีเวลามากก็ร่ายยาวหน่อย หากมีเวลาน้อยก็จะตอบง่ายๆ ว่าไม่รู้เหมือนกันครับ เพราะก็มองไม่เห็นเหมือนกัน ส่วนไอ้ที่ร่ายยาวๆ กับคนสนิทสนมได้ก็มักจะเป็นเรื่องอรรถาธิบายความเปลี่ยนแปลงสังคมทั่วๆ ไป


เวลาผมคิดว่าจะเขียนอะไรในแต่ละอาทิตย์ เกณฑ์หลักในการคิดหาหัวข้อ/ประเด็นในการเขียนก็มักจะเป็นการประเมินว่าในช่วงนั้นๆ สังคม (ผู้อ่าน) ต้องการที่จะรู้อะไร สังคม (ผู้อ่าน) ต้องการที่จะมองอะไรแตกต่างออกไปจากเดิมที่รับรู้กันมาไหม หรือประเด็นอะไรที่กำลังร้อนอยู่ในขณะนั้นที่ควรจะต้องให้สังคม (ผู้อ่าน) ไตร่ตรองจากแง่มุมอื่นๆ แต่ในบางคราวผมก็เหมาเอาเองว่าเอาล่ะ หลีกไปจากประเด็นปัจจุบันหันกลับไปอธิบายความเป็นมาของสังคมยาวๆ หน่อยเพื่อที่จะได้ใช้เป็นฐานในการคิดที่หลากหลายมากขึ้น อาทิตย์นี้และต่อไปอีกสักสองสามอาทิตย์ก็จะเป็นเรื่องของการอธิบายความเปลี่ยนแปลงของสังคมยาวสักหน่อยนะครับ


ความพยายามจะเป็นนักเขียนบทความรายอาทิตย์เช่นนี้ จะว่ายากก็ยาก จะว่าไม่ยากนักก็ไม่ยาก เพราะในบางสถานการณ์ก็มีความจำเป็นหรือเงื่อนไขที่ทำให้ต้องคิดในการใช้ภาษาทุกคำเพื่อสื่อสารได้อย่างครบถ้วนและ “ปลอดภัย” (ฮา) เช่น สถานการณ์ภายใต้อำนาจรัฐที่มุ่งเน้นคืนความสุขให้แก่ประชาชนเช่นนี้


ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่การจัดหน้าใหม่ในเว็บของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้ซ่อนนักเขียนคอลัมน์เอาไว้อย่างที่คนทั่วไปคงไม่คลิกเข้าไปอ่าน ซึ่งก็ทำให้คนทั่วไปที่ชอบมองหาเรื่องว่านักเขียนชอบใส่เสื้อกีฬาสีคงลดน้อยลง ทำให้ไม่ต้องรำคาญกับคนที่อ่านหนังสือไม่แตกแล้วชอบแสดงความคิดเห็นแบบไม่รู้เรื่อง แต่บรรดานักจับจ้องเอาผิดของกลไกอำนาจรัฐก็คงเข้าไปอ่านตามปรกติ ซึ่งก็ไม่เป็นไร แต่ละฝ่ายก็ทำหน้าที่ของตนไป


ความที่จะกล่าวต่อไปและในอีกหลายตอน จะเป็นการนำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยโดยจะชี้ให้เห็นถึงระลอกของการก่อตัวของชนชั้นกลางในแต่ละช่วงเวลาเพื่อจะนำมาสู่ประเด็นของความเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในปัจจุบันที่เป็นการขยายตัวระลอกสุดท้ายของชนชั้นกลางในสังคมไทย ซึ่งมีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนานัปการเลยทีเดียว


แม้ว่าจะตั้งใจอธิบายการขยายตัวระลอกสุดท้ายของสังคมไทยที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทุกมิติในสังคมไทย แต่ก็เกรงว่าจะไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้สังคม (ผู้อ่าน) ได้มองเห็นปฏิบัติการทางสังคมของชนชั้นกลาง จึงตัดสินใจที่จะอธิบายประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางที่ผ่านมาเพื่อที่จะเสริมความหนักแน่นในการคิดหาทางเลือกได้มากขึ้น จึงต้องขออภัยที่ทำผิดมารยาทการเขียนบทความรายอาทิตย์ที่ความทั้งหมดควรจะจบลงในหนึ่งบทและขอให้ช่วยติดตามเป็นตอนๆ กันหน่อยนะครับ


หากเราเริ่มต้นด้วยการมองว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้โลกเราพัฒนามาถึงวันนี้


ไม่ว่าเราจะมองจากสาเหตุปัจจัยอะไร ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ต้องมีความสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นและขยายตัวของคนกลุ่มใหม่ในสังคมทั้งสิ้น ส่วนความเปลี่ยนแปลงนำไปสู่อะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดิมว่าจะรองรับ/ปรับเปลี่ยน/ดูดกลืนชนกลุ่มใหม่ได้หรือไม่ หากไม่สามารถทำอะไรเช่นการดูดกลืนให้เข้ากับคนกลุ่มใหม่ได้ ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมที่แปรรูปไปจากเดิม


ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างทางสังคมเดิมกับคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นจึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่ในโลกใบนี้ การทำความเข้าใจความแตกต่างในแต่ละพื้นที่จำเป็นที่จะต้องมองในสองด้าน ด้านหนึ่งได้แก่ รัฐ ซึ่งเป็นองค์กรทรงอำนาจอย่างมาก และในอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ ลักษณะเฉพาะของสังคมหนึ่งๆ


การศึกษาของโจเอล เอส. มิกดัล (Joel S. Migdal) เรื่อง State in Society: Studying How the States and Society Transform and Constitute One Another ได้วิพากษ์วิจารณ์กรอบการศึกษาที่เน้นบทบาทของรัฐในฐานะพลังหลักในการกำหนดความเปลี่ยนแปลงของสังคมว่าทำให้ไม่สามารถเข้าใจส่วนที่สำคัญที่ส่งผลให้เกิดการก่อรูปรัฐขึ้นมาได้ โดยเขาได้เน้นถึงความสัมพันธ์เชิงแปรรูปและก่อรูป (transform and constitute) ซึ่งกันและกันระหว่างรัฐกับสังคม ที่ทำให้เกิดการประกอบสร้างกันขึ้นมาเป็นรูปรัฐและสังคมดังที่ปรากฏได้ แม้ว่ารัฐจะเป็นพลังสำคัญ แต่รัฐก็ไม่ได้ขยายตัวเข้าไปในพื้นที่สุญญากาศ หากแต่มีการก่อรูปของสังคมแบบใหม่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว และรัฐก็ต้องปรับตัวรับกับลักษณะการจัดตั้งทางสังคมในท้องถิ่น ขณะที่ผู้คนในสังคมท้องถิ่นที่มีการจัดตั้งอยู่แล้วก็ได้ปรับตัวรับกับการขยายตัวของรัฐแตกต่างกันออกไปตามลักษณะเฉพาะของการจัดตั้งทางสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ


แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว มิกดัล พยายามยกระดับกรอบคิดการศึกษาการแปรรูปกลืนกลายระหว่างรัฐกับสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ให้เป็นทฤษฎีที่เน้นการพิจารณาคุณลักษณะของรัฐและสังคมว่าแต่ละฝ่ายมีความเข้มแข็งหรืออ่อนแออย่างไร และเมื่อมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมที่มีความเข้มแข็ง/อ่อนแอแตกต่างกันแล้วจะก่อให้เกิดรูปลักษณะการปกครองที่ไม่เหมือนกันอย่างไรบ้าง เช่น ถ้ารัฐเข้มแข็งแต่สังคมอ่อนแอก็จะเกิดรัฐเผด็จการอำนาจนิยม เป็นต้น ซึ่งการยกระดับให้เป็นทฤษฎีเช่นนี้อาจจะไม่มีประโยชน์มากนักสำหรับการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ แต่กรอบคิดที่เน้นให้พิจารณาปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมก็มีคุณค่าอย่างมาก เพราะทำให้เกิดมุมมองใหม่ที่ไม่เน้นบทบาทรัฐเป็นปัจจัยหลักในการก่อรูปลักษณะของสังคมหนึ่งๆ ซึ่งกรอบการคิดของ มิกดัล ทำให้มองเห็นปัญหาของการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีมาในอดีตได้ชัดเจนขึ้น


การศึกษาของมิกดัลในเรื่องการมองปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับการจัดตั้งทางสังคมของท้องถิ่นนี้มีประโยชน์อย่างมากในการหยิบยืมมาเป็นกรอบกว้างๆ ในการอธิบายสังคมไทย เพราะวงวิชาการและคนทั่วไปในสังคมไทยมักจะมองหรือให้ความสำคัญแก่ผู้นำหรือรัฐว่าเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดความเปลี่ยนแปลง


ตัวอย่างการมองเฉพาะบทบาทชนชั้นนำหรือรัฐเป็นปัจจัยหลังในการกำหนดความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยกรอบคิดการพัฒนาการทางการเมือง (Political Development) ที่ขยายตัวและได้รับความนิยมอย่างมากในยุคอิทธิพลอเมริกา ซึ่งล้วนแล้วแต่มองข้ามความเปลี่ยนแปลงในเชิงตอบรับ/เปลี่ยนแปลง/ปรับตัวของผู้คนในสังคม


ขออภัยที่ต้องต่อในคราวหน้าครับ