8 มีนาคม วันสตรีสากล : สิทธิสตรี

8 มีนาคม วันสตรีสากล : สิทธิสตรี

วันที่ 8 มีนาคมนี้เป็นวันสตรีสากล การปกป้องสิทธิสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและการต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศ

เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ ของการดำเนินงานด้านต่างประเทศของฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปในเรื่องการส่งเสริมการปกป้องสิทธิมนุษยชน


ปีนี้เราเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีของการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรี ณ กรุงปักกิ่ง ที่มีประเทศเข้าร่วมมากกว่า 189 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน 2 เรื่องคือความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของสตรีทั่วโลก ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในเรื่องของสิทธิสตรีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน


อย่างไรก็ตาม 20 ปีหลังจากการประชุมที่ปักกิ่ง ตัวเลขมากมายทำให้เราต้องกลับมาประเมินว่ายังมีสิ่งใดอีกบ้างที่ต้องดำเนินการ สตรีหนึ่งในสามยังคงเป็นเหยื่อความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศ แต่ละวันสตรี 800 คนทั่วโลกเสียชีวิตระหว่างการคลอดบุตรเนื่องจากความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิด้านการสืบพันธุ์และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ อันส่งผลต่อจำนวนเด็กกำพร้า


เด็กผู้หญิงและสตรีมากกว่า 125 ล้านคนทั่วโลกถูกขริบอวัยวะเพศ และในแต่ละปีเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 5 ปีเกือบ 3 ล้านคนมีโอกาสที่จะได้รับชะตากรรมเดียวกัน


นอกจากนี้ ในความขัดแย้งที่ใช้อาวุธห้ำหั่นกัน สตรีเป็นผู้ที่อ่อนแอที่สุด ฝรั่งเศสกับประเทศอื่นๆ ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติว่าด้วย “สตรี สันติภาพ และความมั่นคง” เพิ่มการคุ้มครองสตรีในความขัดแย้งและเปิดทางให้พวกเขามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจได้อย่างเต็มที่เท่าเทียมกับบุรุษ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างและการรักษาสั
นติภาพที่ยั่งยืน


ในประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกับในไทย มีความพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงความท้าทายในเรื่องความเสมอภาคด้านการประกอบอาชีพและการได้รับสินจ้าง ประเทศทั้งสองพยายามบังคับใช้กฎหมายต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งยังไม่สามารถขจัดปัญหาได้สำเร็จ


จะเผชิญหน้ากับการท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร ก่อนอื่น ต้องเน้นย้ำสิทธิสากลของสตรีที่ยังต้องคงไว้ซึ่งมีความสำคัญต่อการเลือกวิถีชีวิตของพวกเขา นอกจากสิทธิอื่นๆ แล้ว ต้องมีสิทธิด้านสุขภาพทางเพศและสิทธิด้านการสืบพันธุ์ที่เท่าเทียมกันทั่วโลก การศึกษาสำหรับเด็กหญิงเท่าเทียมกันกับเด็กชาย รวมถึงการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติและการเหมารวม


ประชาคมโลกต้องเน้นย้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการมีส่วนร่วมของสตรีและความสำคัญของพวกเขาในกระบวนการพัฒนา การเจรจาเกี่ยวกับวาระต่างๆ หลัง ค.ศ.2015 ของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นโอกาสที่จะบรรจุเรื่องความเสมอภาคระหว่างหญิงชายไว้ในวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการพัฒนา และยกประเด็นเรื่องการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการพึ่งพาตนเองของสตรีขึ้นมาพูดอีกครั้ง


ประเทศที่หญิงชายมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด บริษัทที่จ่ายค่าสินจ้างอย่างเสมอภาคมีประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการอย่างสูงสุด ข้อตกลงสันติภาพที่เปิดโอกาสให้สตรีมีส่วนร่วมเป็นข้อตกลงยั่งยืนที่สุด รัฐสภาที่ผู้แทนสตรีมีบทบาทสำคัญออกกฎหมายเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญด้านสุขภาพ การศึกษา การต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติและการสนับสนุนเยาวชนได้มากขึ้น


20 ปีหลังจากการประชุมว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เรื่องดังกล่าวมีความก้าวหน้าแต่ความเสมอภาคยังคงเป็นประเด็นที่จะต้องดำเนินการให้ลุล่วง เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ประชาคมโลกต้องทำให้ประเด็นดังกล่าวฝังรากลึกในจิตใจและกำหนดไว้ในกรอบข้อกฎหมายต่างๆ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเราทุกคน