เขาบอกว่าไทยเรา "ทุกข์น้อยที่สุดในโลก"

เขาบอกว่าไทยเรา "ทุกข์น้อยที่สุดในโลก"

ท่ามกลางข่าวร้ายว่าด้วยเศรษฐกิจของประเทศ ก็ย่อมมีข่าวดีแปลก ๆ และเป็นข่าวที่สำนักข่าว Bloomberg

     สำรวจเอง มิใช่สำนักโพลล์ในประเทศของเรา

    เขาเอาสถิติเศรษฐกิจสองตัวของประเทศทั่วโลก มาวิเคราะห์เพื่อประเมินว่าใครมี “ความทุกข์น้อยที่สุด” นั่นคือตัวเลขคนว่างงานและเงินเฟ้อ

    แล้วพบว่าประเทศไทยมีสถิติสองตัวนี้ต่ำสุดของโลก

    ข่าวนี้จะทำให้คนไทยมีความทุกข์น้อยลง หรือมีความสุขมากขึ้นยังไม่แน่ชัด

    ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ไทยบางสำนักเริ่มเตือนว่า ตัวเงินเฟ้อต่ำอาจนำไปสู่ภาวะเงินฝืด แต่ถ้าตีความไปอีกทางหนึ่ง สำนักข่าวบลูมเบอร์ก กลับบอกว่านี่คือสัญญาณทางบวกสำหรับวิถีชีวิตของคนไทยวันนี้

    เขาบอกว่าเป็นเรื่อง “น่าแปลกใจ” ที่ประเทศไทยซึ่ง “ไม่ใคร่จะร่ำรวยอะไรนัก” (not-so-wealthy Thailand) กลับมี “ดัชนีแห่งความทุกข์ต่ำสุด”  (the least-miserable country)  ดีที่สุด

    เขาไม่ใช้คำว่า “มีความสุข” คือ happy แต่ใช้คำว่า least-miserable คือ “ทุกข์น้อยที่สุด”

    เขาบอกว่าอัตราว่างงานของประเทศไทยต่ำกว่า 1% และไม่ได้กระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

    นักเศรษฐศาสตร์ไทยบางคนบอกว่า ภาวะเงินเฟ้อต่ำนี่แหละทำให้เกิด “ทุกข์” เพราะเริ่มมีความกังวลในบางสำนักว่าจะเกิดภาวะ “เงินฝืด” ซึ่งอาจจะมาจากการใช้จ่ายที่ต่ำลง ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร

    สำนักข่าวฝรั่งแห่งนี้บอกว่าประเทศไทยเป็น “แดนยิ้มสยาม” ขณะนี้อยู่ใต้กฎอัยการศึกหลังเกิดรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว

    เขาบอกว่าไทย “ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะใกล้เข้ามาตรฐานของเศรษฐกิจของประเทศพัฒนา”

    ประเทศที่ “ทุกข์น้อยที่สุด” รองลงมาจากไทยตามแนวทางวิเคราะห์นี้คือ สวิตเซอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, เดนมาร์ก, จีน, สหรัฐฯ, นอร์เวย์, อังกฤษ, ออสเตรีย, นิวซีแลนด์, ไอซ์แลนด์, มาเลเซีย และเยอรมัน

    แน่นอนคำว่า “ทุกข์น้อย” หรือ least miserable ของบลูมเบอร์กับคำว่า “มีความสุข” ย่อมจะมีนิยามที่ต่างกัน เพราะสำหรับคนไทยขณะนี้แม้ คสช. จะ “คืนความสุข” ให้มาแล้วหลายเดือน แต่คนที่มีความทุกข์ก็มีไม่น้อยรวมทั้งนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยไม่ยังกระเตื้อง สาเหตุหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลก

    แต่นักวิเคราะห์บอกว่า จะโทษปัจจัยภายนอกอย่างเดียวคงไม่ได้ คงต้องอยู่ที่ฝีไม้ลายมือการบริหารของรัฐบาลและทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย

    นิยาม “ความทุกข์” กับ “ความสุข” ย่อมแตกต่างกันระหว่างนักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมวิทยา เพราะด้านหนึ่งเกี่ยวกับเงินในกระเป๋า อีกด้านหนึ่งอยู่ที่ความรู้สึกต่อความเป็นไปของบ้านเมือง สังคมรอบตัวและบทบาทหน้าที่ของตัวเองในสิ่งแวดล้อมทางการเมือง

    ความสุขเกิดขึ้นได้เมื่อเห็นเศรษฐกิจในภาพกว้างเดินไปได้ดี

    แต่ก็เป็นทุกข์เมื่อเห็นว่าเศรษฐกิจดีสำหรับคนเพียงกลุ่มเดียว ไม่กระจายตัวกว้างพอไปถึงคนหมู่มากในระดับกลางและล่าง

    ความสุขเกิดขึ้นเมื่อเห็นบ้านเมืองเดินหน้าไปสู่การปฏิรูป

    แต่เกิดทุกข์ทันทีเมื่อต้องล้มกระดานการเมือง เพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีก

    ความสุขเกิดเมื่อได้เห็นความขัดแย้งในสังคมยุติลงอย่างน้อยก็ชั่วคราว

แต่ความทุกข์ก็เกิดขึ้นในบัดดลเมื่อเห็นภาพว่า ถ้าไม่ปฏิรูปกันอย่างจริงจัง อีกหน่อยผู้คนในบ้านเมืองก็จะกลับไปสู่ภาวะความขัดแย้งที่อาจจะรุนแรงกว่าเดิมด้วยซ้ำ

    ดังนั้น ความสุขกับความทุกข์จึงเป็นเรื่องของนิยาม จังหวะเวลาและจุดยืน