สนช.เครือญาติ : แถอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น

สนช.เครือญาติ : แถอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น

อธิบายอย่างไร, ชี้แจงอย่างไร, แก้ตัวอย่างไรก็คงจะตอบคำถามของสังคมไม่ได้ ว่าทำไมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

     หลายคนจึงตั้งสมาชิกในครอบครัวของตนมาเป็น “ที่ปรึกษา” “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือ “ผู้ช่วยฯ” พร้อมเงินเดือนและสถานภาพทางการได้?

    ท่านประธาน สนช. บอกว่าไม่มีกฎอะไรห้าม

    สมาชิก สนช.บางคนอ้างว่าคนในครอบครัวมีความรู้ความสามารถจริง จึงไม่ผิดอะไรที่จะตั้งมาเป็นที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ

    อีกบางคนอ้างว่าการตั้งคนในบ้านมาเป็น “ผู้ช่วย” ของสมาชิก สนช. นั้น เพราะต้องการทำงานกับคนที่ “ไว้วางใจ”ได้จริง ๆ

    หมายความว่าหาก สมาชิก สนช.ท่านเหล่านั้น ไม่มีความสามารถที่จะหาคนไว้ใจได้ที่ไม่อยู่ในครอบครัวกระนั้นหรือ?

    กฎ, กติกา, มารยาทของ สนช. เขียนเรื่องนี้เอาไว้อย่างไรไม่ทราบ หรือวิถีปฏิบัติเรื่องเช่นนี้ในรัฐสภาเดิมเป็นอย่างไรก็ไม่ชัดเจนสำหรับคนทั่วไป

    แม้จะเป็นที่รู้กันว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในอดีต เคยตั้งคนใกล้ชิดสนิทสนมหรือคนที่เป็นหนี้บุญคุณกัน อีกทั้งยังมีญาติโกโหติกามาเป็น “ที่ปรึกษา” หรือ “ผู้ช่วย” แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าคนอื่นเคยทำไม่ถูกไม่ต้อง คนรุ่นนี้ก็สามารถทำได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ

    สังคมเคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ส.ส. และ ส.ว. เป็น “สภาผัวเมีย” อย่างไร วันนี้สังคมก็ตั้งคำถามกับสมาชิก สนช. ที่ตั้งญาติพี่น้องของตนในตำแหน่งรับเงินเดือนอย่างเป็นทางการอย่างนั้น

    เพราะสำหรับคนในสังคม ผู้เสียภาษี และเจ้าของประเทศส่วนใหญ่แล้วคำว่า “จริยธรรม” มีมาตรฐานเดียวเท่านั้น นั่นคือความถูกต้อง ความเป็นธรรม และความโปร่งใสกับธรรมาภิบาลสำหรับคนที่เป็น “บุคคลสาธารณะ” ไม่ว่าจะมาจากระบบการเลือกตั้ง, แต่งตั้ง, ลากตั้ง, และไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

    ยิ่งสมาชิก สนช. รู้ว่าตนมีที่มาที่ไปที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เพราะมาด้วยระบบรัฐประหาร ก็ยิ่งต้องตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมสูงกว่าปกติ ยิ่งต้องแสดงความเป็นผู้เสียสละมากกว่าคนอื่น ๆ

    ปัญหาของประเทศไทยที่ติดหล่มวิกฤตการเมืองมาช้านานนั้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือระบบ “อุปถัมภ์” ที่คนมีอำนาจบารมีเกื้อกูลคนใกล้ชิดเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตนและพวกพ้อง

    การอุ้มชูเครือญาติของตนโดยไม่สนใจความถูกต้องชอบธรรมหรือ “ความรู้สึกถูกผิดชั่วดี” ของคนในสังคมนั้นคือส่วนหนึ่งของปัญหา “อุปถัมภ์” เช่นกัน

    ที่อ้างว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามจึงทำได้ ไม่ใช่คำตอบสำหรับสังคมที่กำลังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสำนึกแห่งจริยธรรมและศีลธรรม ท่ามกลางความฟอนเฟะของสังคมไทยขณะนี้

    ทำได้ แต่ควรทำหรือไม่? นั่นคือคำถามใหญ่สำหรับท่านผู้ทรงเกียรติในสภาวันนี้อีกครั้งหนึ่ง

    จึงเป็นหน้าที่ของสมาชิก สนช. ที่มีประเด็นเรื่อง “สภาญาติพี่น้อง” ที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการปลดคนในบ้านออกจากตำแหน่งใน สนช. โดยด่วนและแจ้งแก่สาธารณชนว่าได้มองหาคนที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมจะมาทำหน้าที่อย่างเร่งด่วนอย่างไร

    สำหรับปุถุชนโดยทั่วไปนั้น คนในบ้านก็เก่งแน่ แต่ก็ควรจะเก่งในบ้าน หรือเก่งในหน้าที่งานการของตนเองเพื่อช่วยเหลือสังคมด้านอื่น ๆ ด้วยความภาคภูมิใจ สบายใจ และตอบคำถามของคนบ้านอื่นๆ อีก 60 กว่าล้านครอบครัวได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ