ส่งออก-เงินเฟ้อม.ค.หดตัว กดดันเศรษฐกิจเสี่ยงขาลง

ส่งออก-เงินเฟ้อม.ค.หดตัว กดดันเศรษฐกิจเสี่ยงขาลง

ด้านส่งออกไทยเดือนแรกปีนี้วูบติดลบ 3.5% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือนโดยเป็นไปตามทิศทางการชะลอตัว

ของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ลดลง 13% โดยเฉพาะยางพาราที่ลดลงมากกว่า 40%จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถึงแม้ว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะขยายตัวได้ก็เติบโตเพียง 0.6% เช่นอุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับกับทองคำ แต่ยังมีการหดตัวของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องน้ำมันดิบโลกที่ส่งผลทั้งน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก


ทั้งนี้ไทยได้สูญเสียตลาดส่งออกหลักจากการส่งออกไปญี่ปุ่นลดลง 7.5% สหภาพยุโรปหดตัว 5% เนื่องจากเศรษฐกิจทั้งสองกลุ่มประเทศนี้ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญเช่นจีนหดตัวลงถึง 19.7% และอาเซียนที่หดตัว 0.7% เช่นกัน จึงมีเพียงการส่งออกไปตลาดสหรัฐที่มีสัญญาณฟื้นตัวดีโดยขยายตัว 6% ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 1.77 หมื่นล้านดอลลาร์ลดลง 13.33% แต่ไทยขาดดุลการค้า 460 ล้านดอลลาร์ 
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจปี2558 จากที่คาดการณ์ไว้เดิมอยู่ที่ 4.1% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วันที่ 11 มี.ค.นี้ หลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้ว่าจะมีภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ แต่การใช้จ่ายภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน เหตุครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่าย และธุรกิจยังรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐบาล โดยที่อัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค.ถึงกับติดลบ 0.41%


นอกจากนี้ยังมีเงินไหลออกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ในวงเงิน 1,894 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีสาเหตุจากการเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศ และชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงิน เพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ โดยดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจการเงิน เชื่อว่าธปท.จะนำข้อมูลทางเศรษฐกิจล่าสุดเพื่อพิจารณาปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีใหม่ รวมทั้งพิจารณาตัวเลขการส่งออกทั้งปีนี้ ซึ่งการทบทวนตัวเลขประมาณการ 2558 แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นตัวเลขติดตามการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มี.ค.


ขณะที่การลงทุนของรัฐบาลเป็นความหวังที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทำได้แค่การเห็นชอบกู้เงินเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมทางหลวงและทางหลวงชนบททั่วประเทศ วงเงิน 40,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐและระบบเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยแยกเป็นวงเงินกู้เพื่อซ่อมแซมเส้นทางหลวง 25,000 ล้านบาท และเป็นงบของทางหลวงชนบท 15,000 ล้านบาท หลังจากที่ในช่วงครึ่งปีแรกนี้เงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจจะมาจากงบซ่อมสร้างวงเงิน 23,000 หมื่นล้านบาทที่มีความล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นช่วงปลายปีที่แล้ว แต่กลับล่าช้ามาถึงต้นปีนี้ ทั้งนี้ที่ประชุมได้อนุมัติหลักการแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่มีหนี้สินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) แบ่งเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ธ.ก.ส.จะรับภาระหนี้เสียแทน ส่วนกรณียังชำระหนี้ได้จะผ่อนปรนการชำระหนี้ไป 1-2 ปี และกรณีหนี้สินเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งก็จะให้สินเชื่อเพื่อนำไปฟื้นฟูกิจการ


สิ่งปรากฏให้เห็นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการที่ชัดเจน ตรงกันข้ามรัฐบาลกลับใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเป็นจุดๆ ทำให้พลังในการที่จะยกเครื่องเศรษฐกิจเพื่อที่จะผลักดันให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า กลับดำเนินการไม่ได้ผล ในขณะที่ปัจจัยลบในต่างประเทศที่ส่งผลต่อความไม่แน่นอนของกำลังซื้อนอกประเทศเริ่มมีมากขึ้นนั้น โดยที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ยังคงต้องประสบกับความเสี่ยงสูงว่าจะเกิดการหดตัวอีกปีหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจในต่างประเทศยังคงเกิดภาวะเงินฝืดที่กระทบกับกำลังซื้อในตลาดโลกให้อ่อนแอลงจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปลายปีนี้