เมื่อเด็กป.6 ลุกขึ้น วิพากษ์ระบบการศึกษาไทย

เมื่อเด็กป.6 ลุกขึ้น วิพากษ์ระบบการศึกษาไทย

ถ้าจะหาแนวทางปฏิรูปการศึกษาสำหรับประเทศไทย นอกจากจะระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

    จาก “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ต้องถามผู้ได้รับโดยตรงจากระบบการศึกษาของประเทศนั่นคือ เยาวชนของเรา

    วันก่อน คุณเทพชัย หย่อง กับผมไปดำเนินรายการ “เวทีพลเมืองปฏิรูป” ที่หนังสือพิมพ์ “กรุงเทพธุรกิจ” และทีวีดิจิทัล NOW26 จัดมา 10 ครั้งตลอดเวลา 8 เดือนมาโดยตระเวนไปจังหวัดต่าง ๆ พร้อมหัวข้อที่ทุกภาคส่วนต้องการจะให้มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง

    วันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นครั้งที่ 11 เพื่อสรุปข้อเสนอทั้งหมดรวมถึงประเด็นปฏิรูปการศึกษาซึ่งผมถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการที่จะแก้ปัญหาอื่น ๆ ของประเทศ

    เพราะถ้าแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศไม่ได้ ก็ไม่อาจจะแก้ปัญหาอื่นใดได้

    หนึ่งในผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นวันนั้นเป็นนักเรียนชั้น ป. 6 จากโรงเรียนดรุณสิขาลัย ชื่อ วริท ตู้จินดา ที่ทำให้ผู้ร่วมรายการฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ เพราะนาน ๆ ทีเราจะได้ยินความเห็นจากเด็กชั้นประถม ที่มีความคิดความอ่านเกี่ยวกับปัญหาของสังคมและการศึกษา

    เด็กชายวริท บอกว่าการเรียนหนังสือที่ได้ผลจะต้องมีทั้งครู ผู้ปกครองและตัวนักเรียนเอง จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

    ในความเห็นของเยาวชน บทบาทของครูมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ และไม่ใช่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น หากแต่ครูจะต้องเป็นทั้งเพื่อน, พี่, และที่ปรึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนคิดเองทำเองและกล้าแสดงความเห็น

    คำว่า “คอร์รัปชัน” ของเด็กชายวริท เห็นว่ารวมไปถึงการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง อีกทั้งการโยนความผิดของตนเองให้คนอื่น, การขโมยเครดิตผู้อื่น, คดโกง, หลงผิด, และขาดความพอดี ก็เป็นปัญหาคอร์รัปชันเช่นกัน

    ผมถามว่าเขาคิดอย่างไรกับข้อเสนอที่จะให้ความผิดคอร์รัปชันไม่มีอายุความ เด็กชายวริทบอกว่า เขาไม่เข้าใจว่าคำว่า “อายุความ” มีไว้ทำไม อีกทั้งคนที่ทำผิดต่อสาธารณะ แม้ไม่ได้อยู่ในคุก แต่ก็เหมือนอยู่ในคุกของสาธารณะที่ถูกครอบอยู่แล้ว

    แปลว่าแม้กฎหมายจะจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน แต่คนฉ้อราษฎร์บังหลวงก็จะถูกสังคมลงโทษอยู่ในตัวเอง

    การได้ยินได้ฟังความเห็นของเด็กไทยในเรื่องที่เรากำลังรณรงค์ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะเป็นหัวข้อเรื่องคอร์รัปชัน, ความเหลื่อมล้ำในสังคม, ความไม่เป็นธรรมและกระบวนการยุติธรรมที่มีช่องโหว่, ความยากจน, ระบบราชการ และคุณภาพของนักการเมือง

    เด็กไทยถูกสอนให้ “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” ไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่แสวงหาคำตอบ ไม่แสวงหาความรู้นอกตำรา และไม่มีความกล้าที่จะฝันให้กว้างไกลเหมือนเด็กในประเทศอื่น ที่เน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

    แม้จะมีการนำเสนอวิธีการเรียนการสอน ที่ให้ความสำคัญกับนักเรียนมากกว่าระบบหรือกติกาล้าสมัยที่เรียกว่า child-centered learning แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไปไม่ถึงไหน เพราะระบบราชการและความคิดของนักการเมืองไทยที่ยังงมโข่งอยู่อย่างน่ากลัวยิ่ง

    หากเราอยากจะได้ยินเสียงเด็กไทยในการมีส่วนร่วมแสดงความเห็นถึงอนาคตของพวกเขาเองมากขึ้น ระบบการศึกษาในกรอบปัจจุบันไม่สามารถให้ความหวังได้เลย

    แต่เราไม่อาจจะสิ้นหวังได้ จึงเป็นหน้าที่ของทุกครอบครัว ครูทุกคน นักเรียนทุกชั้นเรียนในทุกชุมชนของประเทศ ที่จะลุกขึ้นทำให้ความเปลี่ยนแปลงสู่ระบบการศึกษาที่จะสร้างคนสร้างชาติได้อย่างจริงจังและมุ่งมั่น

   เราขอเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติยุคใหม่นี้อย่างเต็มเปี่ยมครับ