ดิจิทัลอีโคโนมีนั้นเป็นฉันใด

ดิจิทัลอีโคโนมีนั้นเป็นฉันใด

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้แถลงเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2557 ถึงแนวทางที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ให้อยู่บนฐานเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ให้เป็นรูปธรรมภายในหนึ่งปี พร้อมกับอธิบายความหมายของDigital Economy ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์เท่านั้น แต่เป็นเศรษฐกิจฐานใหม่ที่จะทำให้เศรษฐกิจภาคอื่นๆ เติบโต ในขณะที่ส่วนของธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลก็จะเติบโตเช่นกัน จากคำอธิบายดังกล่าวเชื่อว่า ผู้คนจำนวนมากยังคงงงอยู่ว่าเศรษฐศาสตร์ดิจิทัลมันเป็นฉันใด เหมือนหรือแตกต่างจากเศรษฐศาสตร์ปกติอย่างไร

ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 23 ก.ย.2557 ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ได้เสนอบทความเรื่อง Digital Economy ได้อธิบายว่า Digital Economy หมายถึงเศรษฐกิจที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที (ซึ่งมีอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก) เป็นปัจจัยสำคัญ สิ่งที่เราเรียกว่า E-Commerce หรือการค้าขายกันทางอินเทอร์เน็ตคือลักษณะหนึ่งของ Digital Economy ผู้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นเป็นคนแรกคือ Don Tapscott ผู้เขียนหนังสือชื่อ “The Digital Economy : Promise and Peril in the Age of Networked Intelligence” ในปี 1995 หนังสือเล่มนี้เป็นเบสต์เซลเลอร์ ระดับชาติภายในเวลา 1 เดือน และคงความเป็นหนังสือยอดฮิตอยู่หลายเดือน ในที่สุดก็ได้เป็นหนังสือด้านไอเดียธุรกิจที่ฮิตอันดับ 1 ในปี 1996 Tapscott ชี้ให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนวิถีของการค้าขายอย่างชนิดที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อนโดยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที กฎกติกาและกฎหมาย การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการปรับตัวและปรับทัศนคติของประชาชน

ตามบทความดังกล่าวที่ได้ยกตัวอย่าง E-Commerce หรือการค้าขายกันทางอินเทอร์เน็ตคือลักษณะหนึ่งของ Digital Economy ทำให้คิดไปถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือกิจกรรมที่ประชาชนต้องใช้บริการ ที่ผู้ประกอบการหรือส่วนราชการ ได้ให้บริการแก่ประชาชน ด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ผ่านโทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต หรือ คอมพิวเตอร์ส่วนตัว ในปัจจุบัน เช่น การให้บริการ E Banking ของธนาคารต่างๆ การให้บริการรับชำระเงินออนไลน์ที่เรียกว่า E Payment การจองตั๋วเครื่องบิน ที่เรียกว่า E Ticket การจองตั๋วดูภาพยนตร์หรือการแสดง การจองโรงแรมที่พัก เป็นต้น รวมตลอดถึงการปฏิบัติงานของส่วนราชการที่ให้บริการประชาชนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากกว่าระบบดั้งเดิมมาก เช่น การทำหนังสือเดินทาง การทำบัตรประจำตัวประชาชน การชำระภาษีและต่อทะเบียนรถยนต์ การชำระภาษีเงินได้ เหล่านี้ล้วนเข้าข่ายเป็นกิจกรรมของดิจิทัลอีโคโนมี ทั้งสิ้น

มีคำถามตามมาคือหากเศรษฐกิจประเทศไทยขับเคลื่อนอยู่บนฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจดั้งเดิมรูปแบบเดิมจะต้องเปลี่ยนเป็นดิจิทัลอีโคมีทั้งหมดหรือไม่อย่างไร

ต่อคำถามทำนองนี้ มีผู้ประกอบการให้คำปรึกษาเรื่องไอที ในต่างประเทศรายหนึ่ง ได้ให้คำตอบไว้ สรุปว่าขึ้นอยู่กับลักษณะและสภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น โดยยกตัวอย่างกรณีที่ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เช่น ลูกค้าสั่งซื้อโทรศัพท์มือถือทางออนไลน์ และชำระสินค้าโดยหักบัญชีด้วยบัตรเครดิต ผู้ขายย่อมไม่สามารถส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้ลูกค้าทางอินเทอร์เน็ตได้ เพราะโทรศัพท์มือถือเป็นสินค้าที่มีตัวตน จับต้องได้ ต้องส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้ลูกค้าตามระบบเดิม เช่น ขนส่งไปมอบให้ลูกค้าที่ปลายทางหรือทางพัสดุไปรษณีย์ เป็นต้น แต่ถ้าสินค้าที่สั่งซื้อนั้นเป็นสินค้าที่ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ เช่น สั่งซื้อเพลง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือแอพมือถือ หรือรูปภาพต่างๆ รวมตลอดถึงหนังสือ เช่นนี้ผู้ขายสามารถส่งมอบสินค้าเหล่านี้ให้ลูกค้าทางอินเทอร์เน็ตโดยการดาวน์โหลดได้ สินค้าเหล่านี้เรียกกันว่า ดิจิทัลโปรดักต์หรือดิจิทัลกู๊ด กล่าวอีกนัยหนึ่งเฉพาะสินค้าที่เป็นดิจิทัลโปรดักต์หรือดิจิทัลกู๊ดเท่านั้นที่ส่งมอบทางอินเทอร์เน็ตได้ เป็นการให้คำตอบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจดั้งเดิมที่จะเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลอีโคโนมีอย่างเต็มตัวได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะและสภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น

ทำให้มีคำถามตามมาว่า ถ้าเช่นนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวสินค้าที่จับต้องได้ทั้งหลาย จะปรับเปลี่ยนไปอยู่บนฐานเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้เลยกระนั้นหรือ มีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ในต่างประเทศ ว่าสามารถกระทำได้มากมายหลายวิธี ทั้งทางตรง ทางอ้อม เช่น การใช้เทคโนโลยีไอทีเข้าไปช่วยในการบริหารจัดการการผลิต การเก็บการขนส่งสินค้านั้น โดยยกตัวอย่าง การผลิตเสื้อผ้า ที่ผู้ผลิตฝังชิปเล็กๆ ในเสื้อผ้านั้น ชิบนั้นจะบรรจุข้อมูลว่าเสื้อผ้านั้นผลิตที่ไหน เมื่อใด ใครเป็นผู้ผลิต ส่งออกนำเข้าเมื่อใด วางจำหน่ายเมื่อใด และมีผู้ซื้อไปเมื่อใด ราคาเท่าใด ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิต ผู้ขนส่ง ผู้จำหน่ายปลีก รวมทั้งลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนสินค้า ด้วยเป็นต้น จากตัวอย่างที่ยกมาเพียงตัวอย่างเดียวก็สามารถนำแนวทางดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับสินค้าเกษตรของเราได้ด้วย เช่น ทุเรียนที่ส่งออกในอดีตมีปัญหาถูกร้องเรียนว่าเป็นทุเรียนอ่อน จนต้องออกระเบียบบังคับให้ติดสลาก ว่าจะสุกและบริโภคได้เมื่อไร แทนการติดสลากซึ่งเป็นระบบอนาล็อก เราก็สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลฝังชิป บรรจุข้อมูล แสดงว่าเป็นทุเรียนพันธุ์อะไร ปลูกที่จังหวัดไหน สวนของใคร เก็บวันที่เท่าไหร่ จะสุกเมื่อใด ส่งออกเมื่อใด โดยใคร และนำเข้าโดยใคร เป็นต้น

สำหรับกฎหมายที่จะรองรับดิจิทัลอีโคโนมีนั้น ประเทศไทยได้ตรากฎหมาย พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ออกใช้บังคับ ตั้งแต่ปี 2544 แต่กฎหมายฉบับนี้ตราออกมาเพื่อรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เสมอกับการทำเป็นหนังสือ หรือหลักฐานเป็นหนังสือ ตลอดจนการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลในทางกฎหมายเช่นเดียวกับการทำธุรกรรมโดยวิธีการทั่วไปที่เคยปฏิบัติอยู่เดิม เพื่อส่งเสริมให้ใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แทนระบบเดิมซึ่งก็สามารถอำนวยความสะดวกรวดเร็วได้มากกว่าระบบเดิม เท่านั้น ยังไม่มีบทบัญญัติครอบคลุมรองรับดิจิทัลอีโคโนมีทั้งหมดได้

กิจกรรมของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น กิจกรรมที่เรียกว่า Paperless Trading หรือการค้าไร้กระดาษ หลักการคือในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการยื่นขอใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองสำหรับการส่งออกนำเข้าสินค้าบางอย่าง ไม่ต้องยื่นคำร้องขอเป็นกระดาษที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิม ให้สามารถยื่นคำขอผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรือยื่นคำขอออนไลน์ได้ ซึ่งทำให้ผู้ขอรับบริการไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตหรือออกหนังสือรับรอง ส่วนด้านพิธีการศุลกากรในการส่งออกนำเข้า ได้มีการปรับปรุงก้าวหน้าไปมาก สามารถยื่นเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในพิธีการศุลกากร เช่น ใบขนสินค้าทางระบบออนไลน์ เป็นต้น กิจกรรมที่เห็นเป็นรูปธรรมและเห็นประโยชน์ได้อย่างชัดเจนล่าสุดคือ ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค ICAS โดยธนาคารแห่งประเทศไทย แทนการนำส่งเช็คตัวจริง ซึ่งสามารถร่นระยะเวลาในการเรียกเก็บเงินตามเช็คทั่วประเทศ จากเดิมใช้เวลาหลายวัน เหลือเพียงหนึ่งวันทำการ ซึ่งเริ่มใช้เมื่อปี 2555 และขยายได้ทั่วประเทศในปี 2556

การส่งเสริมให้ใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แทนระบบดั้งเดิม ไม่ก้าวหน้าสู่ผลสำเร็จตามที่หน่วยงานและคณะกรรมการและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องมุ่งหวังตั้งเป้าหมายไว้ เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคมากมายหลายปัจจัย ที่สำคัญคือความไม่ต่อเนื่องและความไม่เข้าใจของผู้บริหารระดับนโยบาย ก็ใคร่ขอฝากผู้มีอำนาจหน้าที่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้อยู่บนฐานเศรษฐกิจดิจิทัลนำบทเรียนจากกรณีธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไปประกอบการพิจารณาด้วย