แนวโน้มโลก 2050 ตอนที่ 2 : โครงสร้างของเศรษฐกิจโลก

แนวโน้มโลก 2050 ตอนที่ 2 : โครงสร้างของเศรษฐกิจโลก

หลังจากที่ได้นำเสนอทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านโครงสร้างประชากรทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์

ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2050 ผ่านบทความตอนที่แล้วในตอนนี้ผมจึงอยากนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติอื่นๆ เพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดประเทศใดบ้างที่จะก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่อไปในปี 2050 และประเทศไทยควรปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต

ทั้งนี้ในปี 2050 เหล่าประเทศที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากทางเศรษฐกิจต่อไป คือ กลุ่มประเทศอันได้แก่บราซิลรัสเซียอินเดียจีนเกาหลีใต้และไนจีเรีย ซึ่งผมจะขออธิบายว่าเหตุใดกลุ่มประเทศข้างต้นจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต โดยจะขอยึดการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2050 ของบริษัทGoldman Sachs เป็นหลักสำหรับการอธิบาย

1. บราซิล

ปัจจุบันประเทศบราซิลเป็นแกนนำทางเศรษฐกิจของทวีปอเมริกาใต้โดยมีGDP สูงที่สุดในทวีปมีความพร้อมด้านพลังงานและแรงงานจำนวนมากเป็นผู้ส่งออกหลักในด้านวัตถุดิบเพื่อการผลิตเช่นเหล็กและอะลูมิเนียมทั้งนี้ประเทศบราซิลยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของโลกเช่นกาแฟข้าวโพดถั่วเหลืองในปี 2050 บราซิลจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากจีนสหรัฐฯและอินเดีย

2. รัสเซีย

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัสเซียซึ่งประเทศมหาอำนาจยุโรปนอกนาโต้ (NATO) มีศักยภาพในการเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจในอนาคตคือทรัพยากรทางธรรมชาติอันมหาศาลในประเทศรัสเซียโดยรัสเซียมีแหล่งถ่านหินเป็นอันดับ 2 ของโลกมีก๊าซธรรมชาติกว่า 35% ของโลกและมีน้ำมันกว่า 20% ของโลกทั้งนี้ในปี 2050 เศรษฐกิจของรัสเซียจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกรองจากจีนสหรัฐฯอินเดียบราซิลและเม็กซิโก

3. อินเดีย

อินเดียมีศักยภาพในการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตจากหลากหลายปัจจัยอาทิอินเดียมีกำลังซื้อของชนชั้นกลางกว่าหลายร้อยล้านคนมีระบบการศึกษาที่ดีมีความพร้อมทางภาษาอังกฤษมีค่าแรงที่ไม่สูงมากเป็นแหล่งการให้บริการในลักษณะการจัดจ้างคนนอก (outsource) ให้กับบริษัทในสหรัฐฯ และยุโรปและเป็นผู้ส่งออกหลักในส่วนของสินค้าซอฟต์แวร์ไอทีเป็นต้นทั้งนี้ในปี 2050 อินเดียจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกรองจากจีนและสหรัฐฯ

4. จีน

ประเทศจีนกำลังทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกถึงแม้ ณ ปัจจุบันประเทศจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ในอนาคตเศรษฐกิจของประเทศจีนจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทั้งนี้ในหนังสือ The Next Hundred Years ซึ่งเขียนโดย จอร์จ ฟรีดแมน ที่ผมได้แปลเอาไว้ได้วิเคราะห์อนาคตของจีนเอาไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจประเทศจีนมีความเป็นไปได้ 3 รูปแบบด้วยกันดังนี้

1) เศรษฐกิจเติบโตพุ่งทะยานต่อเนื่องไม่สิ้นสุดโดยจีนสามารถแก้ปัญหาความไม่สมดุลและความไร้ประสิทธิภาพภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) เศรษฐกิจหดตัวเพราะความขัดแย้งภายในประเทศโดยรัฐบาลจะรวบอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลางและนำเครื่องมือคือความเป็นชาตินิยมกลับมาใช้เพื่อความเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

3) การแตกแยกออกไปตามภูมิภาคต่างๆ เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและรัฐบาลมีความอ่อนแอลง

ทั้งนี้ จอร์จ ฟรีดแมน เชื่อว่าการเติบโตของจีนน่าจะเป็นไปในรูปแบบที่ 3 มากที่สุดเหตุเพราะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไม่เพียงพอที่จะทำให้จีนประสบผลสำเร็จในระยะยาวด้วยเหตุผล 3 ประการที่สำคัญคือ 1) ความไม่เหมาะสมของที่ตั้งทางภูมิประเทศ 2) ไม่มีแสนยานุภาพทางทะเลและ 3) ความไร้เสถียรภาพภายในประเทศแต่ถึงแม้จีนจะมีข้อจำกัดอย่างที่ได้กล่าวไปผมเชื่อว่าขนาดเศรษฐกิจของจีนจะยังสามารถมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกได้ในปี 2050

5. เกาหลีใต้

ปัจจุบันเกาหลีใต้มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของโลกโดยสามารถแซงหน้ากลุ่มประเทศในกลุ่ม G7, G8 และแคนาดาได้อย่างประสบความสำเร็จ ในอนาคต ปี 2050 เกาหลีใต้จะมีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลกโดยเศรษฐกิจจะขยายตัว 360% จากปี 2006 และหากเกาหลีสามารถรวมชาติได้สำเร็จขนาดเศรษฐกิจของเกาหลีจะทะยานขึ้นเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี 2050 ได้ไม่ยาก

6. ไนจีเรีย

ถึงแม้ว่าแอฟริกาใต้ในปัจจุบันจะมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกามีภาคการเงินการธนาคาร และอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่ง เป็นประเทศผู้ส่งออกโดยเฉพาะเหล็ก ถ่านหิน และอัญมณีรายใหญ่ของโลก

แต่กระนั้นในปี 2050 แอฟริกาใต้จะไม่สามารถเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ติด 1 ใน 20 ของโลกได้แต่ประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาอย่างเช่นไนจีเรียจะกลายมาเป็นตัวแทนจากทวีปแอฟริกาประเทศ โดยไนจีเรียจะมีประชากรและเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2050 ทั้งนี้ Goldman Sachs ได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2050 ไนจีเรียจะมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งสูงกว่าฝรั่งเศสที่อยู่ในอันดับ 12 และ เกาหลีใต้ที่อยู่ในอันดับ 13

การทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศ 6 ประเทศข้างต้นมีสาเหตุสำคัญที่แตกต่างกันหลากหลายปัจจัยสำหรับประเทศไทยแล้วเราจำเป็นจะต้องรู้ว่าเรามีจุดแข็งอะไรและควรวางแผนระยะยาวเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพหากทำได้เช่นนั้น ในปี 2050 ไทยอาจเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลกได้เช่นกัน