เศรษฐกิจพอเพียงของกัมพูชา กุสลาอัปสรา

เศรษฐกิจพอเพียงของกัมพูชา กุสลาอัปสรา

ไม่มีสังคมหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) แห่งไหนจะเติบโตได้ไวเท่ากัมพูชาอีกแล้ว

แม้ประวัติศาสตร์โลกจะบันทึกว่าเป็นความโหดร้ายที่สุดของศตวรรษที่ 20 เพราะเชื่อในระบบสังคมนิยมแบบพึ่งตนเอง โดยสร้างชนชั้นแรงงานประชาชนจำนวนมหาศาลเพื่อหวังเพิ่มกำลังผลิตของประเทศที่จะทำให้กัมพูชากลับมาเจริญรุ่งเรืองได้อีกครั้ง วิถีการดำรงชีวิตอย่างสันโดษโดยให้คนอยู่กับการทำนากว่า 14 ชั่วโมง หรือช่วยกันขุดเขื่อนชลประทานขนาดใหญ่หลายแห่งด้วยมือไว้ทำนา และประทังชีพด้วยข้าวต้มถ้วยเล็กๆ ที่รัฐแจกให้เพียงวันละมื้อได้ซ่อนความตายของผู้รู้และชนชั้นกลางกว่า 1.7 ล้านคนขณะที่ระบบการเงิน การศึกษา การศาสนาและสาธารณูปโภคต่างๆ ล่มสลาย มิจฉาทิฐิหรือทรรศนะสุดโต่งที่ผิดพลาดจากความเป็นจริงทำให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นเรื่องที่ต้องเก็บงำและไม่ถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะอีกเลย

สังคมกัมพูชายังอยู่ในความหวาดผวาจากมิจฉาทิฐิที่เกิดขึ้น ปรากฏการณ์ดอลลาร์ไลเซชั่น (Dollarization) ที่คนส่วนใหญ่ปฏิเสธการใช้เงินขะแมร์เรียล (Riel) ในการทำธุรกรรมหลักโดยหันไปใช้เงินดอลลาร์สหรัฐแทนสะท้อนถึงความกลัวได้ดี กัมพูชาจึงไม่อิสรภาพในการควบคุมเศรษฐกิจของประเทศตนเอง

ภายใต้ความหวาดกลัวนั้นยังมีนางอัปสรากว่า 1,600 นางที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) และเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของชาวกัมพูชาร่ายรำ กุสลา ธมฺมาธรรมะที่เป็นกุศลให้ผลเป็นความสุขเกษม หรือ เขมะระตามชื่อของประเทศ ด้วยท่วงท่าลีลาที่แตกต่างกันไปใน อังกอร์วัดมหานครโบราณที่ใหญ่ที่สุดของโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนกัมพูชาปีละกว่า 4 ล้านคน ลำพังแค่การเก็บค่าบัตรเข้าชมอังกอร์วัดในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยววันละ 30 ล้านบาทก็สร้างรายได้เข้าประเทศปีละเกือบ 2,000 ล้านบาท กระตุ้นภาคบริการทั้งธุรกิจท่องเที่ยว สายการบิน ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างให้เติบโตขึ้น กระทั่งเสียมเรียบกลายเป็นหนึ่งใน เมืองที่ดีที่สุดของโลกแห่งปี พ.ศ. 2557”

ธรรมะที่เป็นกุศลหรือความชาญฉลาดที่นางอัปสราซ่อนไว้คือการใช้เกษียรสมุทรหรือโตนเลสาบทรัพย์สินขนาดใหญ่ที่กลายเป็นทรัพย์สินร่วมของประชาคมโลก (Global commons) ให้เป็น ยูเนสโกประกาศให้โตนเลสาบเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล (UNESCO Biosphere) เพราะขนาดที่ใหญ่ถึง 7 เท่าของกรุงเทพ สามารถขยายตัวได้ถึง 6 เท่าในหน้าน้ำหลาก ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 20 เมตรเข้าคลุมผืนป่าและไร่นาทำให้เกิดแหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์ขนาดใหญ่ของปลา นก งูและจระเข้

เมื่อโตนเลสาบเป็นทรัพย์สินเปิดกว้าง (Open access) จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชาวกัมพูชา โดยใช้แรงงานผู้อพยพชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในช่วงสงครามเวียดนามช่วยจับปลา และเฝ้าระวังไม่ให้คนลักลอบจับปลาใน ทะเลโลหรือ บึงแหล่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ในหน้าแล้งกลางทะเลสาบ เพราะเป็นแหล่งรวมปลาหลากสายพันธุ์ทำให้ปลาสามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้

ชาวเวียดนามไร้สัญชาติอาศัยอยู่ในเรือและต้องย้ายไปตามน้ำที่จะเปลี่ยนระดับทุกๆ 2 เดือน ท้องเรือต่อเป็น แบลหรือกระชังปลา ใช้เลี้ยงปลาตัวเล็กๆ ที่จับมาเพื่อรอขายในช่วงที่ได้ราคาดี แม้แบลจะทำให้ครอบครัวไร้สัญชาติมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจแต่การอาศัยอยู่กับน้ำนิ่งนั้นไม่ง่าย เพราะเต็มไปด้วยเชื้อโรคมากมายเด็กๆ ที่โตนเลสาบมักเสียชีวิตในวัยเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการขาดสุขอนามัยที่ดี หลายคนก็จมน้ำตาย ค่าทำศพสำหรับชุมชนกลางน้ำมีราคาแพงครอบครัวที่ยากจนจึงเลือกที่จะแขวนศพไว้ตามยอดไม้ที่ป่าช้ายอดไม้ท้ายหมู่บ้านรอให้ศพแห้งเหลือแต่กระดูกจึงนำลงมาเผาก่อนน้ำจะท่วมสูง บางคนปล่อยให้น้ำพัดพาศพลอยไปป่าช้ายอดไม้ช่วยรักษาต้นไม้ใหญ่ที่ทำให้โตนเลสาบคงความสมบูรณ์เอาไว้

ตลาดการค้าทรัพยากรจากโตนเลสาบจึงเป็นพื้นที่การค้าที่กว้างใหญ่และมีศักยภาพสูง ปลาจากโตนเลสาบมีรสชาติดีเพราะกินพืชหลากหลายสายพันธุ์และน้ำคลอโรฟิลด์ที่เกิดจากใบไม้นานาพันธุ์หมักบ่มกับซากหอยซากปลามานานกว่า 7 เดือน ปลาเล็กๆ ราคาถูกเอาไว้เลี้ยงปลาใหญ่และจระเข้ ทำให้จระเข้แข็งแรงสมบูรณ์ เจริญพันธุ์ได้ไวและออกไข่ได้มากถึง 60 ฟอง ส่วนปลาใหญ่ส่งไปขายยังต่างประเทศ

ขี้ตะไคร่ที่เกาะอยู่ตามริมฝั่งหลังน้ำลดเป็นปุ๋ยไว้ฟักไข่จระเข้ ทำให้ไข่สามารถฟักออกมาได้เกือบทุกฟอง กัมพูชาจึงส่งออกลูกจระเข้ไปขายได้ทั่วอาเซียน หรือจะนำมาผสมกับผักตบชวาทำปุ๋ยไว้ใช้ในไร่แตงกวา แตงโมและข้าวโพดช่วงหน้าแล้งเมื่อน้ำในโตเลสาบแห้งลงก็ได้ ผักตบชวาที่ตากแห้งนำมาผสมกับฟางข้าว ขี้ตะไคร่และขี้วัว วัวกินหญ้าหลากหลายสายพันธุ์กว่าควายและกินเกลือ ขี้วัวจึงดีกว่าขี้ควาย เมื่อรดน้ำปุ๋ยผักตบชวาจะทำให้ดินดีและชุ่มชื้น ผักจะสวยขึ้น

อัปสราทำให้โลกรู้จักความเกษมหรือเขมรในความหมายที่ยิ่งใหญ่เดิมเพราะ ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ อะโสกัง วิระชัง เขมัง” - “จิตใดที่กระทบกับโลกธรรมแล้วไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส ถึงซึ่งความเกษม นั่นคือจิตของพระอรหันต์ ผู้ถึงอนุปาทิเสสนิพพานด้วยเหตุนี้เราจึงต้องจับตาการใช้กุสลาของกัมพูชาไว้ให้ดี