บทบาทสตรีในฐานะผู้บริหาร

บทบาทสตรีในฐานะผู้บริหาร

นับแต่ในอดีตเป็นต้นมา มีวลีหนึ่งที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอ

คือ “Behind Every Great Man, There is Always a Great Woman” หรือ เบื้องหลังความสำเร็จของบุรุษ มักจะมีสตรีที่ดีคอยสนับสนุนเสมอ ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถและความสำคัญของสุภาพสตรีที่มีต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานของเหล่าสุภาพบุรุษทั้งหลาย โดยจะคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เช่น นาง มิเชลล์ โอบามา สตรีหมายเลขหนึ่งคนปัจจุบันของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำหน้าที่เป็นหลังบ้านที่เข้มแข็งและคอยสนับสนุนและสร้างฐานเสียงให้แก่นายบารัค โอบามา โดยได้แสดงวิสัยทัศน์ในการให้ความสำคัญกับบทบาทของสตรีในสังคม ทั้งด้านหน้าที่การงานและครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยสร้างฐานเสียงสนับสนุนให้แก่นายโอบามาผู้เป็นสามีที่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ นอกจากสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ คนปัจจุบันแล้ว

ทุกท่านน่าจะยังสามารถจดจำสตรีหมายเลขหนึ่งในอดีตอีกท่านหนึ่งได้ นั่นคือนางฮิลลารี คลินตัน ภรรยาของอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ที่เดินเคียงข้างและมีความสามารถที่เทียบเคียงหรืออาจจะเหนือกว่าผู้เป็นสามีเสียอีก ทั้งนี้ นางฮิลลารี ได้ผันตัวเองมาอยู่เบื้องหน้าในเวทีการเมือง ในตำแหน่งวุฒิสมาชิกรวมทั้งการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกาในสมัยที่แล้ว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถและความสำเร็จของเหล่าสตรีเพศในเวทีระดับโลกและบทบาทของสตรีที่เริ่มก้าวออกมาอยู่ด้านหน้าเพิ่มเติมไปจากเป็นผู้สนับสนุน

หากมองไปรอบๆ ทุกวันนี้จะพบว่าในองค์กรการเงินที่สำคัญระดับนานาชาติหลายแห่ง ปัจจุบันมีผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำไม่น้อย เช่น นางคริสเตียน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟหญิงคนแรก ที่เข้ามาแก้ปัญหาวิกฤติการเงินในทวีปยุโรป นางเจเน็ต เยลเลน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหญิงคนแรก ที่รับช่วงต่อมาจากนายเบน เบอร์นันเก้ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการเงินสหรัฐฯ และปัจจุบันกำลังดำเนินการปรับลดกระบวนการ QE ให้ตลาดเงินของสหรัฐ และของโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งนางอังเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศเยอรมนี ที่ได้รับเลือกเข้ามาให้ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศเยอรมนี

แม้จะเห็นว่ามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยได้เริ่มก้าวออกมาอยู่ในแนวหน้ามากขึ้นในวงการการเงินทั้งระดับประเทศหรือระดับสากล แต่หากพิจารณาสัดส่วนของสตรีที่เป็นระดับผู้นำจะพบว่ายังอยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ โดยในบริษัทขนาดใหญ่ระดับ Fortune 500 มีสัดส่วนผู้บริหารที่เป็นเพศหญิงอยู่ที่ประมาณ 18% ตามข้อมูลของ Catalyst ที่เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ ในส่วนของแวดวงการเงินในสหรัฐ ตามข้อมูลของ Bureau of Labor Statistic พบว่าสัดส่วนผู้บริหารที่เพศหญิงในธุรกิจการลงทุนที่อยู่ประมาณ 17% และในภาคธนาคารและการบัญชีอยู่ที่ประมาณ 30% สาเหตุที่สัดส่วนยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักส่วนหนึ่งอาจมาจากการยึดติดกับภาพผู้นำที่เป็นบุรุษ

จากผลการศึกษาพบว่าการมีความหลากหลายทางเพศในคณะผู้บริหารอาวุโสและคณะกรรมการนับเป็นสิ่งที่ช่วยให้บริษัทมีผลกำไรที่ดีและมีความสัมพันธ์กับมาตรการในการสร้างความเป็นเลิศของบริษัท โดยบริษัทขนาดใหญ่ระดับ Fortune 500 ที่มีสัดส่วนกรรมการที่เป็นสตรีประมาณ 19-44% จะมีกำไรต่อยอดขายเฉลี่ยสูงกว่าบริษัทที่ไม่มีกรรมการสตรีถึง 16%

สำหรับในประเทศไทยนั้น พบว่าแวดวงธุรกิจบ้านเรามีการเปิดโอกาสสำหรับผู้หญิงในอัตราที่ค่อนข้างสูงที่เดียว โดยสัดส่วนผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงมีจำนวนมากขึ้น จากข้อมูลในบทความของคุณยุทธ์ วรฉัตรธาร ในนิตยสาร Money & Wealth ระบุว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งหมด 568 บริษัท มีจำนวนกรรมการรวมทั้งสิ้น 5,757 คน มีกรรมการที่เป็นสุภาพสตรี 1,064 คน หรือประมาณร้อยละ 18.5 ซึ่งอยู่ในระดับเทียบเคียงกับต่างประเทศ

ในขณะที่มีบริษัทที่มีกรรมการเป็นสุภาพสตรีอย่างน้อย 1 ท่านรวม 465 บริษัท หรือ คิดเป็นร้อยละ 81.9 เลยทีเดียว อย่างไรก็ดี อาจต้องสำรวจในรายละเอียดเพิ่มเติมว่าสัดส่วนนี้ครอบคลุมการเป็นกรรมการอิสระจำนวนมากน้อยอย่างไร ทั้งนี้ พัฒนาการที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ ก็คือได้มีการออกเกณฑ์ที่กำหนดให้บริษัทที่มีขนาดกลางขึ้นไปต้องมีกรรมการอิสระที่เป็นสตรีเพศอย่างน้อย 1 ท่าน

เป็นที่น่ายินดีว่าภาคธุรกิจและภาคการเงินของประเทศไทยเรานั้นไม่มีข้อจำกัดอย่างชัดเจนในด้านเพศของการก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร และมีผู้บริหารหญิงทั้งในระดับสูงสุดและระดับสูงเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยแต่ละท่านนั้นมักมีบุคลิกภาพที่โดดเด่นและเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ดิฉันเชื่อว่าเรายังมีโอกาสที่จะพัฒนาผู้บริหารหญิงให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารที่มีความเป็นมืออาชีพได้อีกมากและจะเป็นประโยชน์ต่อทุกองค์กร เนื่องจากเป็นผู้ที่โดยเฉลี่ยมีความอดทนต่อสภาวะที่มีแรงกดดันสูง และมีการตัดสินใจที่คำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน การเสริมสร้างความรู้และมุมมองที่กว้างขวาง

รวมทั้งการเพิ่มกลยุทธ์การนำเสนอตนเองความกล้าที่จะก้าวออกมาเป็นแถวหน้า และ ความมั่นใจว่าผู้หญิงเรามีคุณสมบัติและความสามารถเท่าเทียมกับผู้ชาย ซึ่งจะทำให้เราเปิดรับโอกาสต่างๆ ที่เข้ามา และกล้าตัดสินใจที่จะรับความผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประตูสู่ความเป็นผู้หญิงแถวหน้าคนต่อไปค่ะ