ปัญหาการค้ามนุษย์กับการค้าระหว่างประเทศ

ปัญหาการค้ามนุษย์กับการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมาสำนักงานเพื่อการติดตามและการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ

ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2557 (Trafficking in Persons Report 2014 : TIP 2014) ซึ่งเป็นรายงานที่จัดอันดับประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นสามอันดับตามความสามารถและความพยายามในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ในแต่ละประเทศโดยอ้างอิงตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ตามมาตรา 108 แห่งกฎหมายป้องกันเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากการค้ามนุษย์ พ.ศ.2543 (Trafficking Victims Protection Act 2000 : TVPA) ของสหรัฐ ซึ่งมีหลักที่สำคัญอยู่ 3 ประการคือ การป้องกัน การคุ้มครอง และการดำเนินคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์

โดยอันดับที่ 1 (Tier 1) คือกลุ่มประเทศที่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อันดับที่ 2 (Tier 2) คือกลุ่มที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำไม่ครบถ้วนแต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ แต่หากปรากฏว่ายังคงมีเหยื่อจากการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น โดยไม่สามารถแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่ามีความพยายามอย่างเพียงพอในปีที่ผ่านก็จะถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 2 ประเภทเฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) และหากประเทศในกลุ่มดังกล่าวยังคงไม่แก้ไขปรับปรุง ก็จะถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 3 (Tier 3) ซึ่งคือกลุ่มประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำและไม่แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ไขปรับปรุง ซึ่งหลังจากที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 2 ประเภทเฝ้าระวังมาตั้งแต่ปี 2553 ในที่สุดปีนี้ก็ถูกลดลงมาอยู่ในอันดับที่ 3 โดยในรายงานดังกล่าวได้ชี้แจงเหตุผลในการปรับลดอันดับว่าประเทศไทยมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านการทุจริตซึ่งปรากฏอยู่ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงานยิ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

สำหรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศไทยจากการที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 3 นั้น แม้ว่า TVPA จะไม่มีบทกำหนดโทษในทางกฎหมายกับประเทศไทย หรือกับผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ตาม TVPA โดยตรง แต่สหรัฐเองอาจใช้เป็นเหตุผลในการระงับการให้ความช่วยเหลือกับประเทศไทยทางด้านวัฒนธรรมและการศึกษา รวมถึงอาจคัดค้านสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ ธนาคารโลก (World Bank) หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้น ในการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินกับประเทศไทย โดยสหรัฐจะเริ่มดำเนินมาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป เว้นแต่ว่าการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับสหรัฐ

นอกจากนี้ ก่อนหน้าที่รายงาน TIP 2014 จะประกาศอย่างเป็นทางการไม่กี่วัน หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษก็ได้เผยแพร่รายงานที่กล่าวอ้างว่าบริษัทผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ในประเทศไทยได้ใช้แรงงานทาสในสายกระบวนการประมงกุ้ง ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ของอังกฤษมีคำสั่งให้สมาคมค้าปลีกของอังกฤษจัดทำคู่มือแนวทางการเลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตต่างประเทศที่ไม่มีที่มาจากแรงงานทาส ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทผู้ส่งออกเท่านั้น แต่ดูทั้งสายกระบวนการผลิต (Supply chain) หากมีส่วนใดในสายที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาส ก็อาจอยู่ในข่ายต้องห้ามมิให้ทำการค้าด้วยและหากบริษัทใดฝ่าฝืนอาจโดนปิดกิจการได้ ซึ่งรายงาน TIP อาจถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในหลักฐานในการพิจารณาประกอบการจัดทำคู่มือดังกล่าว โดยให้เฝ้าระวังบริษัทที่มาจากประเทศที่มีปัญหาเกี่ยวกับแรงงานทาสซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของการค้ามนุษย์ก็เป็นได้ ผลกระทบที่เป็นรูปธรรมที่เห็นในขณะนี้คือการที่มีบางบริษัทในประเทศฝรั่งเศส นอร์เวย์ ที่ได้ยกเลิกการค้ากับบริษัทในประเทศไทยจากประเด็นปัญหาแรงงานทาสแล้ว และปฏิเสธที่จะดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับบริษัทใดๆ ที่มีปัญหาในทำนองเดียวกันนี้

ทั้งรายงาน TIP 2014 และรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian) ที่ออกมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันทำให้ประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์และแรงงานทาสในประเทศไทยกลายเป็นประเด็นร้อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญ โดยจะเห็นได้จากภายหลังจากที่มีรายงานดังกล่าว คสช. ก็ได้กำหนดมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ เพื่อมาดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เสนอแนะ มาตรการ และแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 70/2557, ที่ 73/2557 และ ที่ 74/2557

ทั้งนี้ บริษัทคู่ค้าในต่างประเทศก็อาจพิจารณาปฏิเสธที่จะทำธุรกิจกับบริษัทไทยที่มีปัญหาเกี่ยวกับแรงงานทาสหรือการค้ามนุษย์ได้ บริษัทไทยที่ประกอบกิจการส่งออกจึงควรระมัดระวังและตรวจสอบว่าในสายกระบวนการผลิตของตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานทาสหรือการค้ามนุษย์

พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ

*********************************

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่