8 เทคนิคผสานโซเชียล มีเดีย กับการตลาดเดิมๆของคุณ

8 เทคนิคผสานโซเชียล มีเดีย กับการตลาดเดิมๆของคุณ

ปัจจุบัน "โซเชียล มีเดีย" อย่างเฟซบุ๊ค ลิงค์อิน และกูเกิล พลัส กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมโยงกิจกรรมทางการตลาดของคุณ

ไม่ว่าจะเป็น การแชร์ภาพและวีดิโอผ่าน ยูทูบ ฟลิคเกอร์ และอินสตาแกรม ทั้งยังใช้เป็นแหล่งเก็บข้อมูลที่สำคัญ และสามารถเผยแพร่ไปผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น การนำภาพและวีดีโอไปลงในบล็อกต่อเพื่อใช้เป็นแหล่งรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ที่เดียวกันสำหรับเจาะตลาดเฉพาะ (Niche-Market)

กระนั้นก็ตาม โซเชียล มีเดีย ไม่ควรใช้เป็นช่องทางสื่อสารแบบโดดๆ ที่แยกจากการตลาดแบบเดิมของคุณแบบสิ้นเชิง ควรใช้เป็นเหมือนกับ "เครื่องมือช่วย" ที่ผสมผสานและพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบบเดิมให้สมบูรณ์แบบ และเข้าถึงคนได้มากขึ้น เร็วขึ้น พูดง่ายๆ คือ "แทนที่จะสร้างแคมเปญทางโซเชียล มีเดียโดยเฉพาะ ควรเปลี่ยนให้ทุกแคมเปญการตลาดของคุณให้มี โซเชียล มีเดียไปผสมผสานอยู่ทุกๆ อันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการสื่อสาร"

นี่คือ 8 วิธีในการผสมผสานโซเชียล มีเดียเข้ากับการตลาดในรูปแบบอื่นๆ

1.ใช้ "ทวิตเตอร์" เพื่อเป็นช่องทางบริการลูกค้า แทนที่จะใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางสื่อสารทุกๆ อย่างไว้ในอันเดียวเช่น ใช้เป็นช่องทางพูดคุยกับลูกค้า โปรโมทโปรโมชั่นสินค้า การทำการตลาดผ่านเนื้อหา เป็นต้น คุณควรแยกทวิตเตอร์ออกมาเป็นอีกหนึ่งแอคเค้าท์ เป็นช่องทางการบริการลูกค้า หรือตอบคำถามลูกค้า รวมถึงใช้เป็นช่องทางรับฟังเรื่องราวต่างๆ ของลูกค้าที่แจ้งเข้ามา

วิธีนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั้งในบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น คอมแคสต์ และเน็ตเวิร์ค โซลูชั่นส์ และเป็นวิธีการที่ธุรกิจขนาดเล็กกว่าสามารถนำไปปรับใช้ได้เป็นอย่างดี (ในไทยธุรกิจต่างๆ ยังไม่ค่อยใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือสื่อสารกับลูกค้าเท่าไร)

2.ผสานอีเมล์เข้ากับโซเชียล มีเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันและกัน วิธีเชื่อมโยงสื่อสองอย่างเข้าด้วยกัน ได้แก่ เพิ่มปุ่มแชร์ผ่านโปรแกรมโซเชียลต่างๆ ลงในอีเมล์เทมเพลตที่ส่งประจำด้วยวิธีการนี้ หากมีผู้ที่ชื่นชอบในแคมเปญของคุณ สิ่งที่พวกเขาต้องทำมีเพียงแค่คลิกที่ปุ่มแชร์เพื่อแบ่งปันเนื้อหาให้เพื่อนและผู้ติดตามได้ทันที การใช้ไอคอนของโซเชียล มีเดียที่เชื่อมกับช่องทางโซเชียล เน็ตเวิร์คของธุรกิจของคุณในอีเมล์เทมเพลตที่คุณใช้เป็นประจำเพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าถึงบริษัทของคุณผ่านทางโซเชียล มีเดียได้ง่ายขึ้น

[อีเมล์ไปโซเชียล] โพสต์เนื้อหาของแคมเปญในอีเมล์ไปที่โซเชียล มีเดียเพื่อเพิ่มช่องทางให้คนเข้าถึงแคมเปญการตลาดได้อีกทาง บริการแพลตฟอร์มอีเมล์บางแห่งมีความสามารถโพสต์เนื้อหาจากอีเมล์เข้าไปที่โซเชียล มีเดียของเราได้อัตโนมัติ

[โซเชียลไปอีเมล์] เปลี่ยนจากผู้ติดตามบนโลกโซเชียลไปสู่รายชื่อผู้ติดต่อในอีเมล์ แพลตฟอร์มบริการส่งอีเมล์ อย่าง MailChimp, Constant Contact, Mad Mimi, และ iContact มีบริการ “แบบฟอร์มสมัครสมาชิกอีเมล์ (Signup Form)” ที่สามารถนำไปใส่ไว้ในเฟซบุ๊ค เพจ ของคุณได้เพื่อดึงข้อมูลอีเมล์ลูกค้าของคุณออกมาเก็บเอาไว้

3.เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับผลลัพธ์การค้นหาในกูเกิล (SEO) โดยเชื่อมโยงกูเกิล พลัส สร้างหน้าธุรกิจกูเกิล พลัส เพจ ทำให้กูเกิล พลัส กลายเป็นเครื่องมือที่มีค่าในการทำให้ธุรกิจติดในผลลัพธ์การค้นหากูเกิลได้ดีขึ้น การโพสต์ข้อมูลลงไปในกูเกิล พลัสมีความสัมพันธ์กับอันดับที่สูงขึ้นในผลลัพธ์การค้นหาในกูเกิล และการเก็บข้อมูลจากเว็บเพจต่างๆ ของกูเกิลได้อ้างอิงกูเกิลพลัสเป็นแหล่งข้อมูลอีกแห่งหนึ่ง ทำให้การสร้างตัวตนในกูเกิล พลัส จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในตอนนี้ (สร้างหน้ากูเกิล พลัสให้กับธุรกิจคุณ)

4.รู้จักสื่อสาร ติดตาม และสร้างความสัมพันธ์กับนักข่าวที่ใช้โซเชียล มีเดีย นักข่าวสมัยนี้หาแหล่งข่าวข้อมูลผ่านทางโซเชียล มีเดีย หลายครั้งที่เขาได้ข่าวจากทางช่องทางนี้ แทนที่จะรอให้เข้าพวกเขามาหาคุณหรือมาเอาข่าวคุณ คุณควรเริ่มติดตามนักข่าวในสายธุรกิจคุณทางโซเชียล มีเดีย จากนั้นเริ่มพูดคุย แชร์ เกี่ยวกับข้อมูลของพวกเขา สร้างความรู้จัก ความสัมพันธ์ กับนักข่าวผ่านช่องทางนี้ เพื่อให้เขารู้จักคุณมากขึ้น และติดตามคุณ จากนั้นควรเริ่มแสดงความคิดเห็นของคุณ ประสบการณ์ และข้อมูลที่น่าสนใจออกไปยังโซเชียล มีเดีย เพื่อทำให้เกิดการบอกต่อ และยังเพิ่มโอกาสที่นักข่าวเหล่านั้นจะนำข่าวของคุณไปลง

5.การตลาดที่คุณใช้อยู่ในปัจจุบันด้วยแคมเปญ แฮชแท็ก (Hashtag #) ปัจจุบันแบรนด์ใหญ่หลายแบรนด์เริ่มหันมาใช้แฮชแท็ก หรือคำที่มีตัว # นำหน้า เพื่อระบุว่าสิ่งที่เราพูดและสื่อสารอยู่เกี่ยวกับอะไร และคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน หรือพูดถึงแคมเปญนี้ของคุณ เขาก็สามารถนำแฮชแท็กไปอ้างอิงได้ และยังทำให้คนที่สนใจสามารถหาข้อมูลลักษณะเดียวกันผ่านแฮชแท็กได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น ในปี 2012 แบรนด์ไนกี้ จัดแฮชแท็ก แคมเปญผ่านโซเชียล มีเดีย อย่างทวิตเตอร์ พินเทอร์เรสต์ และอินสตาแกรม โดยให้ผู้ที่ติดตามบนโลกโซเชียลแบ่งปันความเห็นว่าพวกเขาวางแผนการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าอย่างไรในปี 2012 ผ่านแฮชแท็ก #makeitcount ผลที่ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก หลายๆ คนแชร์ความเห็นของตัวเองว่า จะทำอะไรไหนปี 2012 ผ่านแฮชแท็ก #makeitcount มากมายเป็นประวัติการณ์ เป็นอีกวิธีการสื่อสารของไนกี้ ผ่านทางโซเชียล มีเดีย โดยใช้แฮชแท็กทำให้ไนกี้ขยายระยะเวลาของแคมเปญนี้ออกไปไปสู่ปี 2013 อีกปี

ปัจจุบันบริการโซเชียล เน็ตเวิร์ค อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม สามารถใส่แฮชแท็ก และกดติดตามได้แล้ว จึงเป็นวิธีการที่ง่ายมากที่จะทำให้ ข้อความและแฮชแท็กของคุณที่จะสื่อสารไปถึงผู้บริโภคโดดเด่นมากขึ้น

6.ขยายแคมเปญการตลาดจากช่องทางอื่นสู่โซเชียล มีเดีย ผู้ขายของผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการทำอีคอมเมิร์ซ มักใช้การโปรโมท ส่วนลด ข้อเสนอพิเศษ และ โปรโมชั่นตามเทศกาลต่างๆ ผ่านทางอีเมล์ และช่องทางการตลาดประเภทอื่นๆ ดังนั้นจงอย่างลืมรวมโซเชียล มีเดียไปในช่องทางการสื่อสารเหล่านั้นด้วย

โดยผนวกการตลาดรูปแบบเดิมและโซเชียล มีเดีย ได้หลากหลายวิธี ดังนี้ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และลิงค์อิน เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้างมากกว่าเดิม สร้างเฟซบุ๊ค เพจ หรือทำแอพในเฟซบุ๊ค หรือลิงค์อิน โชว์เคส เพจ เพื่อทำให้คนสนใจในแคมเปญโปรโมชั่นของคุณ โชว์ผู้ที่ชนะการแข่งขันบนโซเชียล เน็ตเวิร์ค และกระตุ้นให้พวกเขาให้แชร์ (share) ความสำเร็จหรือชัยชนะนั้นออกไปยังเพื่อนและผู้ติดตามของพวกเขา สร้างแฮชแท็กเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการแข่งขันโปรโมชั่นต่างๆ

7.ให้ลูกค้ามาให้คะแนน (Rating) และ การรีวิว (Review) บนเว็บไซต์ของคุณ เว็บไซต์ขายของหรืออีคอมเมิร์ซในหลายแห่ง มาพร้อมความสามารถให้ผู้ซื้อสามารถให้คะแนน และรีวิว สินค้าและการให้บริการได้ เช่น TARAD.com แต่หากเว็บคุณไม่มีบริการลักษณ์นี้ แต่อยากให้บริการ ก็มีผู้ให้บริการในด้านนี้มากมายที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าหรือคนที่สนใจสามารถให้คะแนนและรีวิว ด้วยการใช้จาวาสคริปต์ หรือเอชทีเอ็มแอล โค้ด ติดที่เว็บไซต์คุณได้ง่ายๆ วิธีนี้จะเป็นวิธีสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวคุณอีกวิธีนึง (หากคุณบริการเขาดี แต่หากคุณบริการเขาห่วย ผลจะออกมาตรงข้ามทันที)

8.เชื่อมโยงข้อมูล (Content) เดิมไปสู่โซเชียล เน็ตเวิร์ค แทนที่จะให้ข้อมูลเดิมของคุณอยู่เพียงแค่บนเว็บไซต์ และคนเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ยาก เช่น ข้อมูลบริษัท ประวัติ ความเป็นมา ข้อมูลสินค้า ข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจ เป็นต้น ให้โพสต์ข้อมูลเหล่านั้นลงไปในโซเชียล มีเดียของคุณ และหากคุณข้อมูลที่น่าสนใจในรูปแบบต่างๆ เช่น พาวเวอร์พ้อยต์นำไปโพสต์แชร์ใน Slideshare.net, Videos ให้ไปแชร์บนยูทูบ หากมีรูปภาพให้ไปแชร์ใน Flickr.com, เอกสารที่น่าสนใจนำไปแชร์ใน Scribd.com และโพสต์ข้อมูลลงไปในลิงค์อิน ทวิตเตอร์ กูเกิลพลัส รวมถึงโซเชียล มีเดียอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดการพูดถึงและแชร์ออกไปให้มากที่สุด

ทั้งหมดนี้เป็น 8 ข้อที่น่าสนใจ และคุณสามารถนำไปใช้กับธุรกิจคุณได้ทันที แต่ต้องกลับมาดูก่อนว่า คุณเองได้สร้างตัวตนของคุณในโซเชียล มีเดียแล้วหรือยัง หากยังจงรีบไปสร้างและกำหนดคนดูและสื่อเหล่านี้ให้ชัดเจน