เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ในยุคสีจิ้นผิง

เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ในยุคสีจิ้นผิง

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “เส้นทางสายไหม”(Silk Road) ภาพของคาราวานสินค้าจีนที่ขนส่งไปแลกเปลี่ยนซื้อขายในต่างแดน ก็คงจะปรากฏขึ้นในความคิดของหลายท่าน

และน่าจะเป็นภาพของการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีความพอใจ ไม่มีใครเอาเปรียบใครมากจนเกินไป มีภาพของความสุขและรอยยิ้มของผู้คนที่อยู่ต่างวัฒนธรรม ซึ่งมีโอกาสจับจ่ายและสัมผัสสินค้าแปลกตาที่มาจากดินแดนแสนไกล ผ่านมาตามเส้นทางสายไหม

ดิฉันคิดว่า นี่คงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ท่านสีจิ้นผิง ผู้นำจีนคนปัจจุบันและทีมงานที่ปรึกษาของท่าน ในการตัดสินใจเลือกใช้คำว่า “เส้นทางสายไหม” เพื่อใช้เป็น Soft Power ในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกของมังกรจีนที่แม้จะยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ไม่เคยเอาเปรียบหรือเป็นภัยคุกคามต่อประเทศอื่นใด

เส้นทางสายไหมในประวัติศาสตร์จีนมีหลายแนวเส้นทางขนส่งสินค้า หนึ่งในนั้น ก็คือ ช่องทางการค้าผ่านมาทางทะเลจีนใต้ ลงมายังช่องแคบมะละกา ผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าสู่มหาสมุทรอินเดียและเชื่อมต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกาและยุโรป ซึ่งเรียกว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (Maritime Silk Road) โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ซ่ง นับเป็นยุคที่การค้าเส้นทางสายไหมทางทะเลเจริญรุ่งเรืองที่สุดของจีน

มาถึงยุคนี้ พ.ศ.นี้ ท่านสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนได้หยิบยกคำนี้ขึ้นมากล่าวถึงอีกครั้ง ในระหว่างการเดินทางทัวร์ประเทศอาเซียนช่วงปลาย ปี 2013 โดยได้กล่าวว่า "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ หนึ่งในเขตสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล จีนพร้อมที่จะเพิ่มความร่วมมือทางทะเลกับอาเซียน"

ผู้นำจีนคนนี้ยังได้เลือกที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ในระหว่างการเยือนอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศแกนนำ (ตัวจริง) ของอาเซียน และอินโดนีเซียไม่มีข้อขัดแย้งกับจีนในประเด็นพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ล่าสุด อินโดนีเซียยังได้พยายามเป็น “ตัวกลาง” ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างจีน กับอีก 4 ประเทศในอาเซียน คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและบรูไน

เมื่อผู้นำระดับสูงสุดของจีนส่งสัญญาณชัดเจนในเรื่องของการใช้เส้นทางสายไหมทางทะเล เพื่อเชื่อมโยงอาเซียน รัฐบาลมณฑลจีนที่เกี่ยวข้องก็ขานรับทันที โดยเฉพาะมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ได้มีการจัดประชุมฟอรั่มทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับ “เส้นทางสายไหมในศตวรรษใหม่” ขึ้นที่เมืองเฉวียนโจว มณฑลฝูเจี้ยน เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และประกาศความพร้อมที่จะผลักดันความร่วมมือเส้นทางสายไหมทางทะเลระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนและภูมิภาคอาเซียนต่อไป

เมืองเฉวียนโจว สถานที่จัดประชุมดังกล่าว ในประวัติศาสตร์จีนเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ตั้งแต่ครั้งที่มาร์โคโปโล นักเดินเรือชื่อดังชาวอิตาลีได้เดินทางมาถึงจีนโดยผ่านเส้นทางสายไหมทางทะเล และต่อมา เขาได้ลงเรือที่เมืองเฉวียนโจวแห่งนี้ เพื่อเดินทางกลับไปยังเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

ในขณะนี้ รัฐบาลฝูเจี้ยนได้ชูประเด็น “เส้นทางสายไหมทางทะเล” เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เมื่อปลายเดือนมีนาคม ดิฉันได้รับเชิญให้บินไปยังมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อร่วมวงเสวนากับผู้บริหารระดับสูงของจีนพร้อมกับท่านทูตและท่านกงสุลใหญ่จากหลายประเทศในอาเซียนที่ประจำอยู่ในประเทศจีน เพื่อร่วมกันหารือทิศทางและรูปธรรมของความร่วมมือจีน-อาเซียนในการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมทางทะเล ภายใต้หัวข้อเสวนา “Forging China-ASEAN Community of Common Destiny, Building a Maritime Silk Road of the 21st Century” โดยมีรัฐบาลฝูเจี้ยนเป็นโต้โผใหญ่ในการจัดงานเสวนาระดับสูงครั้งนี้

นักการทูตอาเซียนที่ร่วมวงหารือด้วย ส่วนใหญ่ให้การตอบรับและชื่นชมแนวคิดในการสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเล เพื่อการเสริมสร้างมิตรสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-จีน ส่งเสริมการไปมาหาสู่และเร่งขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน หลายคนเห็นพ้องกันว่า “เส้นทางสายไหมดังกล่าวจะช่วยเปลี่ยนทศวรรษแห่งยุคทอง (Golden Decade) ระหว่างจีนและภูมิภาคอาเซียนสู่การเป็นทศวรรษแห่งยุคเพชร (Diamond Decade)” ดังที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนได้เคยกล่าวไว้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา ท่านหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ก็ได้กล่าวถึงแนวคิดนี้ในระหว่างพิธีเปิดการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน (NPC) โดยย้ำว่า “ควรเร่งพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” ตามที่ริเริ่มโดยท่านสีจิ้นผิง

จึงชัดเจนว่า ความพยายามในการสร้าง “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขยายผลประโยชน์ระหว่างจีนกับประเทศที่รายรอบจีนในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ แนวคิดนี้ยังสอดรับกับการผลักดันของผู้นำจีนในการจัดตั้งกองทุน China-ASEAN Maritime Cooperation Fund วงเงิน 3 พันล้านหยวน เพื่อสร้างความร่วมมือทางทะเลระหว่างจีนกับเพื่อนอาเซียน เช่น การวิจัยทางทะเลและปกป้องสิ่งแวดล้อม การเดินเรือเพื่อความปลอดภัย การเชื่อมโยงเส้นทางเดินเรือ การค้นหาและการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนการต่อสู้กับภัยคุกคามข้ามชาติ เป็นต้น

โดยสรุป การผลักดันแนวคิด “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ของผู้นำจีน จึงเป็นการใช้ Soft Power เพื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกของจีนและเพื่อกระตุ้นกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอาเซียน โดยเน้นด้านความร่วมมือทางน่านน้ำ ดิฉันมองว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี และน่าจะช่วยลดความร้อนแรงของปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับบางประเทศในอาเซียนลงได้บ้าง

อย่างไรก็ดี ในการผลักดันแนวคิดเส้นทางสายไหมทางทะเลให้เกิดขึ้นได้จริง แต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องควรที่จะร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคและระบบการขนส่งในการเชื่อมต่อท่าเรือสำคัญของแต่ละประเทศ การพัฒนาเครือข่ายท่าเรือที่ทันสมัย และการทำข้อตกลงทางทะเลร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการเชื่อมโยงท่าเรือเหล่านั้นต่อไป