ความตาย ความหมายตัวตน : หนังสือแจกงานศพ (จบ)

ความตาย ความหมายตัวตน : หนังสือแจกงานศพ (จบ)

ความตายกลายเป็น “พันธะกิจสุดท้าย” ที่มนุษย์คนหนึ่งจะได้มีโอกาสทำประโยชน์แก่สังคม

การเสียสละชีวิตหรือการตายเพื่อชาติบ้านเมืองจึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ หากไม่มีโอกาสที่จะสละชีวิตเพื่อชาติบ้านเมือง ก็ต้องทำให้การตายอย่างธรรมดาสามัญนั้นมีคุณค่ามากที่สุด กล่าวได้ว่า เมื่อสังคมให้ความหมายแก่มนุษย์ด้วยการเน้นย้ำถึง “ร่างทางสังคม” (social body) การสูญสิ้น “ร่างทางสังคม” ก็ต้องอุทิศให้มีค่าต่อสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ด้วยความคิดเช่นนี้จึงทำให้เกิดหนังสือแจกงานศพขึ้นมา แต่ “พันธะกิจสุดท้าย” ของมนุษย์ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงทศวรรษ 2520 จนถึงทศวรรษ 2550 เป็นช่วงเวลาที่ความหลากหลายทางสังคมทวีสูงขึ้นจนปรากฏอย่างเด่นชัด และส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในการให้ความหมายแก่ชีวิต ซึ่งย่อมรวมไปถึงความหมายในการสร้างความทรงจำต่อผู้ตายด้วย เพราะกลุ่มทางสังคมแต่ละกลุ่มก็ล้วนแล้วแต่แสวงหาคำตอบให้แก่ชีวิตของตนที่แตกต่างกันออกไป

ความเปลี่ยนแปลงภายในแบบแผนที่สำคัญในยุคร่วมสมัยนี้ ได้แก่ การให้ความสำคัญแก่ “คำไว้อาลัย” จาก “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในเครือข่ายและในสังคมมากขึ้น จนกลายเป็นเนื้อหาที่เข้ามาแทนที่การเขียนประวัติของผู้วายชนม์ในแบบเดิมที่เคยมีอยู่มากในยุคก่อนหน้า และการเรียงลำดับ “คำไว้อาลัย” โดยมากก็จะให้พื้นที่แก่ข้าราชการระดับสูงก่อนเครือญาติ การให้ความสำคัญแก่ “คำไว้อาลัย” จาก “ผู้หลักผู้ใหญ่” เช่นนี้ได้กลายมาเป็นส่วนหลักของประวัติผู้วายชนม์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการยอมรับและแสดงให้เห็นว่าระบบ “เครือข่าย” ว่าเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ชีวิตของปัจเจกชนประสบความสำเร็จ

การเขียนประวัติการทำงานผู้ตายผ่าน “คำไว้อาลัย” จึงเป็นไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ตายอยู่ใน “เครือข่าย” อะไรและในสถานะใดเป็นสำคัญ เพราะการเขียนเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการยกย่องผู้ตายเท่านั้น แต่เป็นการประกาศให้สังคมได้ประจักษ์ด้วยว่าเครือญาติหรือลูกหลานของผู้ตาย (ซึ่งเป็นผู้จัดทำหนังสือแจก) เป็นคนที่มีสถานภาพทางอำนาจสูงเพราะมี “เส้นสาย” ในกลุ่มคนที่เป็นเครือข่ายของผู้วายชนม์ด้วย

ด้วยเหตุที่คนชั้นกลางที่ขยายตัวมากขึ้นได้ยอมรับแบบแผนที่ถูกสร้างเอาไว้ว่าหนังสือแจกงานศพจะต้องเป็นหนังสือพุทธศาสนา จึงทำให้เกิดธุรกิจการเตรียมหนังสือเกี่ยวกับหนังสือทางพุทธศาสนาแบบที่เข้าใจง่ายหรือสำเร็จรูปแล้วเพื่อรองรับความต้องการพิมพ์อย่างเร่งด่วน ซึ่งก็ทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น

แบบแผนใหม่ที่ขยายตัวมากที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่การเลือกพิมพ์หนังสือที่ให้ความรู้ทางการแพทย์เพื่อสร้างความสามารถในการดูแลตนเองให้แก่ผู้คน เช่น เรื่อง การแพทย์ ซึ่งนายแพทย์ประเวศ วสี เป็นบรรณาธิการ เรื่อง “ไข้” และเรื่อง “ไข้เลือดออก” ของนายแพทย์เกษม วัฒนชัย เรื่อง "โรคความดันโลหิตสูง (มากที่สุด)" เป็นต้น

กล่าวได้ว่า ความรู้เกี่ยวกับโรคทุกโรคที่คนไทยเป็นกันมากรวมทั้งโรคทางด้านจิตด้วยถูกทำให้เป็น “วิทยาทาน” ลักษณะใหม่ของหนังสือแจกงานศพที่เน้นความรู้ทางการแพทย์และความรู้ทางด้านจิตวิทยาดังกล่าวนี้ นอกจากจะเกิดขึ้นเนื่องจากต้องการให้ความรู้แก่ผู้อ่านแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่ปรารถนาจะให้หนังสือที่ทำให้ผู้อ่านมี “ความทรงจำ” ที่ดีต่อผู้ตายนั้นมีประโยชน์ต่อชีวิตในปัจจุบันมากที่สุด เพราะครอบครัวของผู้ตายเองก็ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลงของการพิมพ์หนังสือแจกงานศพทั้งในส่วนที่เปลี่ยนแปลงภายในรูปแบบหรือแบบแผนที่มีมาก่อน และการเลือกพิมพ์หนังสือประเภทใหม่ๆ ที่ปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่จะสะท้อนความสนใจที่แตกต่างหลากหลายของคนในสังคมไทยเท่านั้น ที่สำคัญกว่าก็คือการที่เนื้อหาของหนังสือแจกล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงความสำนึกในศักยภาพของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น คนไทยส่วนหนึ่งให้ความสำคัญแก่ความหมายของชีวิตในแง่ของศักยภาพทางจิตใจ จึงต้องการศึกษาธรรมะเพื่อบรรลุความสำเร็จทางจิตเพื่อจะลดความทุกข์ทางใจของตนให้ทุเลาเบาบางลง โดยสนใจศึกษาหลักธรรมะเพื่อจะนำมาปฏิบัติด้วยตนเอง คนไทยอีกส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับความหมายของชีวิตในแง่การมีสุขภาพดี ไม่ว่าจะเพื่อความสุขสบายส่วนตัวหรือเพื่อจะสามารถทำประโยชน์แก่สังคมได้มากขึ้นก็ตาม คนกลุ่มนี้จะพยายามเพิ่มศักยภาพของตนเองในเรื่องความรู้ในการดูแลสุขภาพให้มากที่สุด เพื่อจะพึ่งตนเองได้มากขึ้นและยืดระยะเวลาไปสู่ความตายให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ความหมายของความตายก็ไม่เคยหยุดนิ่งคงที่ สังคมได้ปรุงแต่งให้ความตายเป็นสิ่งจรรโลงสังคมมนุษย์ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคแต่ละสมัยใดตลอดมา ความหมายของความตายจึงไม่ได้แยกออกจากความหมายของการดำรงชีวิตอยู่ของผู้คน ความตายจึงถูกทำให้เป็นความทรงจำเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่คนที่อยู่เบื้องหลังต่อไป หนังสือแจกงานศพได้ทำหน้าที่สำคัญนี้มาอย่างยาวนาน

ในปัจจุบันคนไทยต่างมีความสำนึกว่าชีวิตมีเพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้นและความตายก็เป็นสิ่งสุดท้ายที่มนุษย์ทุกคนต้องพบพานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในระหว่างที่ยังไม่ตาย ชีวิตของแต่ละคนก็ต้องประสบกับความผันแปรอย่างรวดเร็วของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว จนคำตอบใดๆ ที่เคยยึดถือเอาไว้เป็นหลักการในการดำเนินชีวิต รวมทั้งคำตอบในเรื่องความหมายของชีวิตด้วยนั้น ล้วนแต่ถูกตั้งคำถามทั้งสิ้น ต่างจากคนในอดีตที่คำตอบชุดเดิมสามารถใช้ในการอธิบายและเผชิญหน้ากับเรื่องต่างๆ ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ถ้าหากคนไทยในปัจจุบันรู้สึกว่าชีวิตจะมีความหมายก็ต่อเมื่อได้ทำประโยชน์เพื่อชาติ ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นในใจทันทีว่า “ชาติคืออะไร” และอย่างไรที่เรียกว่า “ทำประโยชน์เพื่อชาติ” เพราะการกระทำที่เคยเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชาติอาจส่งผลร้ายต่อชาติอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้ จะเห็นได้ว่าความซับซ้อนของโลกและชีวิตทำให้ทุกๆ คำตอบล้วนแต่มีคำถามตามมาเสมอ ยิ่งไปกว่านั้นแต่ละคำตอบยังล้วนแต่เป็น “คำตอบชั่วคราว” ทั้งสิ้น เพราะเมื่อบริบททางสังคมผันแปรไปและชีวิตเปลี่ยนไป แต่ละคนก็อาจต้องตั้งคำถามใหม่และแสวงหาคำตอบใหม่ให้แก่ตัวเอง เพื่อให้สามารถจัดการกับ “ขณะปัจจุบัน” (ซึ่งแตกต่างจากอดีต) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณค่าของหนังสือแจกงานศพต่อชีวิตของคนในปัจจุบันและอนาคตจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม แต่การที่หนังสืองานศพเคยมีบทบาทสำคัญในสังคมไทยเป็นเวลานานกว่าหนึ่งร้อยปี ก็ทำให้หนังสือเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทุกสาขาที่ต้องการจะศึกษาเกี่ยวกับชีวิตคนไทยและสังคมไทยให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง

การศึกษาหนังสือแจกงานศพจึงไม่ใช่เรื่องของการอ่านธรรมดาเท่านั้น หากแต่เป็นการอ่าน “ความใฝ่ฝัน” ของผู้คนในแต่ละยุค อ่าน “ความหมาย” ของความสัมพันธ์ทางสังคมในปัจจุบัน และอ่าน “ระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด” ของสังคมไปพร้อมๆ กัน

ขอขอบคุณ โครงการ “หนังสือเก่าชาวสยาม” (Siam Rare Books) สังกัดในศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์กรมหาชน) ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (STKS) สำนักหอสมุดแห่งชาติ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักพิมพ์ต้นฉบับ อีกครั้งหนึ่งที่ได้ทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่งในการสืบทอดความรู้ประวัติศาสตร์ให้แก่สังคมไทย