ความตาย ความหมายตัวตน : หนังสือแจกงานศพ (2)

ความตาย ความหมายตัวตน : หนังสือแจกงานศพ (2)

ดังได้กล่าวไว้ในคราวที่แล้วว่าความเป็น/การมีชีวิตอยู่สัมพันธ์กับความตายอย่างลึกซึ้ง

เพราะความตายเป็นภาพแสดงให้เห็นและเข้าใจถึง “ความหมายของชีวิต” ที่ผู้คนสำนึกหรือยอมรับ ย่อมมีผลอย่างลึกซึ้งต่อพฤติกรรมทางสังคม เพราะ “ความหมายของชีวิต” ย่อมรวมเอาอุดมคติ วิธีคิด โลกทัศน์ เป้าหมายในชีวิต ตลอดจนวิธีการในการบรรลุเป้าหมายของชีวิตที่คนคนหนึ่งจะเลือกใช้ ซึ่ง “ความหมายของชีวิต” นี้มิได้เป็นของปัจเจกบุคคลโดดๆ เพราะบุคคลไม่ว่าจะมีจิตสำนึกแบบปัจเจกชนนิยมหรือไม่ก็ตาม ย่อมได้รับอิทธิพลจากสังคมและวัฒนธรรมที่ตนใช้ชีวิตอยู่

การสร้างความทรงจำ “ความหมายของชีวิต” ผ่านหนังสือแจกงานศพก็ไม่ใช่ความทรงจำเฉพาะครอบครัวหรือความทรงจำของปัจเจกบุคคล ความทรงจำทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตของสังคมและเป็นส่วนของ “ความทรงจำร่วม” (Collective Memory) กันทั้งสิ้น ดังนั้น การศึกษาหนังสือแจกงานศพจึงเป็นการศึกษาความใฝ่ฝัน ความสำเร็จ ของชีวิตคนคนหนึ่งในระบบความหมายของชีวิตของสังคม

ในสังคมบางช่วงเวลาที่กรอบคิดในการให้ความหมายแก่ชีวิตของมนุษย์ถูกทำให้สัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับสังคม และชีวิตมนุษย์ที่มีคุณค่าก็จะผูกพันอยู่ที่ว่าชีวิตนั้นได้ทำความก้าวหน้าให้แก่สังคมหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และอย่างไร การเกิดเป็นจุดเริ่มต้นตามธรรมชาติของชีวิต แต่การดำเนินชีวิตจวบจนวันตายกลายเป็นเรื่องที่มีความหมายต่อตัวตนของมนุษย์ว่าได้ทำให้เกิดคุณค่าประการใดต่อสังคม และ “คุณค่า” นี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องถ่ายทอดและสร้างประโยชน์ต่อคนในรุ่นหลังสืบต่อไปด้วย

ความหมายของชีวิตคนเช่นนี้ จึงทำให้ความตายกลายเป็น “พันธะกิจสุดท้าย” ที่มนุษย์คนหนึ่งจะได้มีโอกาสทำประโยชน์แก่สังคม การเสียสละชีวิตหรือการตายเพื่อชาติบ้านเมืองจึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ หากไม่มีโอกาสที่จะสละชีวิตเพื่อชาติบ้านเมือง ก็ต้องทำให้การตายอย่างธรรมดาสามัญนั้นมีคุณค่ามากที่สุด กล่าวได้ว่า เมื่อสังคมให้ความหมายแก่มนุษย์ด้วยการเน้นย้ำถึง “ร่างทางสังคม” (social body) การสูญสิ้น “ร่างทางสังคม” ก็ต้องอุทิศให้มีค่าต่อสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะแม้แต่ “พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี...” เมื่อ “นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์” จึงต้องให้มี “ความดี” หรือสิ่งอันมีคุณค่า “ประดับไว้ในโลกา” ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

การเกิดขึ้นของหนังสือแจกงานศพในทศวรรษ 2460 จึงเป็นการสถาปนาความหมายของชีวิตคนที่จะต้องมีคุณค่าและทำประโยชน์ให้แก่ “บ้านเมือง” หนังสือแจกงานศพจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จัดทำกันเฉพาะกลุ่มเจ้านายก็ได้ขยายตัวไปสู่กลุ่มข้าราชการ กลุ่มพ่อค้า และคหบดี (หากสนใจเรื่องนี้ อ่านหนังสือ “คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

ความเปลี่ยนแปลงในการทำหนังสือแจกงานศพเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงประมาณทศวรรษ 2520 ได้แก่ การขยายตัวของชนชั้นกลางอันเนื่องจากมาการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของระบบราชการ กล่าวคือ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง พ่อค้าจีนส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจที่จะลงหลักปักฐานในประเทศไทย เนื่องจากสงครามระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่จบลงด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำให้ชาวจีนเดินทางกลับประเทศจีนไม่ได้ ชาวจีนเหล่านี้เริ่มลงทุนในการขยายกิจการออกไปอย่างกว้างขวาง และถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนมาสู่ความเป็นคนไทย (หากสนใจเรื่องนี้ อ่านงานของณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมกับการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงการรัฐประหาร พ.ศ. 2500, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2552)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของระบบราชการดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และขยายตัวอย่างมากเมื่อมีการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ทำให้เกิดการขยายตัวของชนชั้นกลางขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งที่เป็นพ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ และผู้ขายความชำนาญเฉพาะด้านต่างๆ

ชนชั้นกลางกลุ่มใหม่นี้มีขนาดที่ใหญ่โตจนถึงระดับที่สามารถสร้างและกำหนดให้ “รสนิยม” ของกลุ่มตนเองได้รับการสถาปนาขึ้นมาครองตลาด “ความเป็นไทย” ได้สำเร็จ ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นประดิษฐกรรมใหม่ๆ ทางด้านความบันเทิง ในด้านวรรณกรรม ก็เกิดวรรณกรรมที่เน้นคุณลักษณะของปัจเจกชนเป็นด้านหลัก เช่น ความรักของปัจเจกชนที่เป็นความรักอันปราศจากพรมแดนของชาติ ไม่มีชนชั้น และไม่มีศาสนา วรรณกรรมชนชั้นกลางเหล่านี้ได้ขยายตัวออกครอบคลุมสังคมคนอ่านในสังคมไทยมายาวนาน ทางด้านวงการเพลงก็เกิดเพลงลูกกรุง ซึ่งวงดนตรีที่สำคัญและเป็นตัวแทนชัดเจนที่สุดก็ได้แก่วงดนตรีสุนทราภรณ์ นั่นเอง (ส่วนเพลง “ลูกทุ่ง” จะขยายตัวและเป็นแบบแผนขึ้นมาในกลางทศวรรษ 2500 โดย “วิทยุทรานซิสเตอร์” นำไปสู่เงื่อนไขการสร้างเพลงอีกชุดหนึ่งขึ้นมา)

การสร้างสรรค์ “รสนิยม” ทั้งหลายของชนชั้นกลางรุ่นใหม่หลังสงครามโลกนี้เกิดขึ้นเพราะว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้ดำรงชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งต้องการคำอธิบายใหม่ให้แก่ชีวิตของตนเองตั้งแต่เกิดจนตาย การเกิดและการดำเนินชีวิตที่ได้รับการสร้างสรรค์ความหมายขึ้นมาใหม่ความตายก็ถูกให้ความหมายใหม่เช่นกัน เพราะคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตและความตายย่อมสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ที่สำคัญคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากและมีอำนาจซื้อมากพอที่จะกำหนด “รสนิยม” ของพวกตนให้กลายมาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสังคมไทย

การขยายตัวของชนชั้นกลางได้ทำให้เกิดการพิมพ์หนังสือแจกงานศพเพิ่มขึ้น และเป็นการขยายตัวบนฐานความเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ซึ่งลักษณะร่วมหลายประการของความคิดของชนชั้นกลางได้ส่งผลต่อการให้ความหมายหรือการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับความหมายของ “ความตาย”

การสร้าง “ความทรงจำ” เกี่ยวกับความตาย/ผู้ตายก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กลุ่มชนชั้นกลางที่ได้กลายเป็นผู้สร้างแบบแผนของรสนิยมในหลายๆ ด้านก็ได้สร้างแบบแผนของหนังสือแจกงานศพขึ้นมาอย่างชัดเจน และเป็นแบบแผนที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลงของการสร้าง “ความทรงจำ” ของผู้ตายและความตายในช่วงหลังสงครามโลกจนถึงประมาณทศวรรษ 2520 ที่สำคัญ ได้แก่ การเน้นประวัติผู้ตายมากขึ้นกว่าเดิม หนังสือแจกในงานศพข้าราชการก็จะเน้นความสำเร็จในการทำงานราชการและความสำเร็จในการไต่เต้าขึ้นไปเป็นข้าราชการระดับสูง หนังสือแจกในงานศพของนักธุรกิจจะเน้นความสำเร็จของผู้ตายในการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ในการอธิบายความสำเร็จทางธุรกิจก็มักจะเชื่อมต่อไปยังการได้รับการยอมรับจากระบบราชการให้เข้าไปมีส่วนในระบบเกียรติยศนั้นด้วย เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ก็ถือได้ว่าความสำเร็จทางธุรกิจเริ่มแยกออกจากความสำเร็จในระบบราชการเด่นชัดมากขึ้น

การเขียนประวัติผู้ตายในช่วงนี้ได้เริ่มปรากฏการณ์แบ่งเนื้อที่ของหนังสือให้แก่การเขียนคำไว้อาลัยให้แก่ผู้ตายมากขึ้น โดยมีความเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ การเขียนคำไว้อาลัยจากบุคคลใน “เครือข่ายความสำเร็จ” ในชีวิตของผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง หัวหน้างาน ผู้ร่วมงานในระดับต่างๆ และมิตรสหายที่มีชื่อเสียงในสังคม ยิ่งถ้ามีคำไว้อาลัยของบุคคลที่มียศถาบรรดาศักดิ์สูงในเครือข่ายด้วยแล้ว ก็จะนำมาพิมพ์ไว้ในหน้าแรกๆ ของหนังสือแจกให้เห็นอย่างโดดเด่นที่สุด ที่สำคัญ ในการเขียนประวัติผู้ตายนี้จะต้องนำเอาผลงานและรายชื่อของ “เครื่องหมายแห่งเกียรติยศ” อันสำคัญของสังคมไทยอันได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์มาพิมพ์ไว้

ขอต่อคราวหน้านะครับ