“ปรับตัวอย่างไร เมื่อองค์กรเปลี่ยน”

“ปรับตัวอย่างไร เมื่อองค์กรเปลี่ยน”

ในองค์กรใดองค์กรหนึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีพนักงานที่อยู่ในภาวะ S AR AH ที่แตกต่างกัน

ในโลกธุรกิจมีการแข่งขันสูง องค์กรต่างๆ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต่างกันก็ตรงความต้องการหรือความจำเป็นของแต่ละองค์กรว่า ต้องการเปลี่ยนแบบไหน เปลี่ยนอย่างไร เปลี่ยนมากหรือเปลี่ยนน้อย เปลี่ยนเร็วหรือเปลี่ยนช้าแค่ไหนเท่านั้น พนักงานอย่างเราๆ ในองค์กรต่างๆ ก็จะต้องมีการปรับตัว และเปลี่ยนให้ทันกับองค์กรที่เปลี่ยนไป หากองค์กรเปลี่ยนแปลงไม่มากแบบค่อยเป็นค่อยไป พนักงานก็อาจปรับเปลี่ยนโดยแทบจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะระบบหรือวิธีการใหม่จะหล่อหลอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่องค์กรต้องการ แต่หากท่านเป็นพนักงานที่อยู่ในองค์กรที่ความต้องการการเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ท่านก็ต้องบริหารจัดการปรับตัวเอง เพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ได้
แม้ว่าเราทุกคนจะทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลดีกับตัวเรา อาจทำให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่คงน้อยคนนักที่จะบอกว่าชอบเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งนี้ เพราะมนุษย์มักนึกถึงการเปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมโยงกับความเสี่ยง และความคิดในทางลบย่อมเกิดขึ้นในจินตนาการ เช่น การเปลี่ยนแปลงอาจทำให้เสียการควบคุมในการบริหารงาน หรือห่วงว่าตัวเราอาจมีความสามารถไม่พอกับการรับสิ่งใหม่ๆ อาจจะต้องทำงานมากขึ้น หรือยากขึ้น หรืออาจต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยชิน อาจเรียนรู้ไม่ทัน สู้คนอื่นไม่ได้
นักวิชาการท่านหนึ่ง ชื่อ John Fisher ได้กล่าวว่า "เมื่อคนเราต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลง (โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยที่เราไม่ได้มีเวลาได้ทำใจไว้ก่อนนานๆ) แต่ละคนอาจจะมีช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวสั้นยาวแตกต่างกัน" ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านบทความของนักวิชาการหลายๆ ท่านในเรื่องที่เกี่ยวกับการปรับตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็เห็นว่าแนวคิดคล้ายกัน จึงขอนำมาสรุปสั้นๆ แบบ Simple Simple โดยขอแนะนำให้รู้จัก “SARAH” สภาวะการปรับตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
Shock - ภาวะประหลาดใจ ตกใจ เมื่อทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น (โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัว)
Anxiety / Anger - ภาวะเกิดความกระวนกระวายใจ เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอทำให้คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดได้ยาก รู้สึกขาดการควบคุมสถานการณ์ สภาวะนี้บางคนอาจถึงขั้นโกรธองค์กร โกรธผู้บริหาร โกรธฟ้าโกรธฝน (หากไม่รู้จะโทษใคร)
Resistance/Rejection - ภาวะปฎิเสธ ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คนที่อยู่ในภาวะนี้อาจจะทำตัวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำงานแบบเดิมๆ ไม่ยอมรับวิธีการใหม่ๆ ใครจะทำอย่างไรก็ไม่สนที่ฝรั่งเรียกว่า “Head in the sand syndrome” คิดเอาเองว่าเมื่อมองไม่เห็น ก็คือ ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่เกิดขึ้น เป็นภาวะของการปฎิเสธความจริงที่เกิดขึ้น
Acceptance - ภาวะที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยอาจคิดตระหนักได้ หรือได้ข้อมูลมากขึ้น หรือได้เห็นผลดีที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น เห็นแสงสว่างแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นดีอย่างไร หรือเดินมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว
Harness - ภาวะที่ควบคุมบังเหียนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหมายถึง การปรับตัวในทางที่ดีเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลง เช่น การศึกษาหาทักษะเพิ่มเติม การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งพูดคุยเพื่อสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้อื่นให้เข้าใจ
ในองค์กรใดองค์กรหนึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีพนักงานที่อยู่ในภาวะ S AR AH ที่แตกต่างกัน องค์กรจะเปลี่ยนได้รวดเร็วและราบรื่น หากพนักงานส่วนมากเดินเข้าสู่ภาวะ Harness ได้เร็ว คงมีบ้างที่พนักงานบางคนต้องลาจากไปเพราะเดินทางไม่ถึงที่หมาย สุดทางแค่ Shock/ Anxiety (Anger)/ Resistance (Rejection) หรืออาจกลับไป Anger อีก กลับไปกลับมา โกรธไปโกรธมา ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง ก็จะอาจมีกรณีขอลาออกเพราะไม่รับ หรือรับไม่ได้ (หรือบางรายโกรธมากก็อาจมีพฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ในองค์กร)
ข้อแนะนำสำหรับท่านที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับตัวให้เข้าสู่ภาวะHarness ให้เร็วที่สุด เช่น
1.สอบถามข้อมูล ฟังข้อเท็จจริง แม้ว่าข้อมูลบางอย่างอาจยังไม่ชัดเจนเพราะต้องรอเวลา แต่ที่สำคัญต้องอย่าฟังข่าวลือ และไม่สื่อสารข่าวลือกับผู้อื่น (ข่าวลือส่วนใหญ่มักไม่ค่อยสร้างสรรค์)
2.ลองคิดดูว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพราะอะไร มีข้อดีอย่างไรต่อองค์กรและต่อตนเองอย่างไร และจะมีผลกระทบต่อตนเองอย่างไร (แนะให้ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์)
3.ซื่อสัตย์กับตัวเอง ตรวจสอบว่าตนเองอยู่ในภาวะใด หากยังคงอยู่ในภาวะลบต่อการเปลี่ยนแปลง แนะนำให้ค่อยๆลองใช้เหตุผลกับตัวเอง เช่น ลองพิจารณาว่าภาวะดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ตนเองดีขึ้น (ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะกังวลกับการเปลี่ยนแปลง แต่กังวลแล้วไม่ทำอะไรก็คงส่งผลเสียกับตนเองมากกว่า) แนะนำให้มองบวกเข้าไว้ ลองให้โอกาสกับสิ่งใหม่ๆ หรือลองแนวทางใหม่ๆ อาจจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่ตนเคยชินหรือสิ่งที่ตนคิดว่ามันดีอยู่แล้วก็ได้
4.วิเคราะห์ตัวเองว่ามีทักษะที่จะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หากมีสิ่งที่ควรปรับปรุง ให้ปรึกษาหัวหน้างาน ขอแนะให้มองตนเองหลายๆมุม (คงไม่มีใครเก่งไปเสียทุกอย่าง) จุดแกร่งของคนเรานั้นประกอบด้วย 3 ด้านหลักๆ คือ ความรู้ (knowledge) ทักษะ (skill) และทัศนคติ (attitude) แนะให้ลองคิดว่า การปรับเปลี่ยนเป็นโอกาสให้เราพัฒนาตนเอง ศึกษาความรู้เพิ่ม เสริมทักษะ และที่สำคัญคือการมีทัศนคติที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลง ต่อองค์กร และต่อตนเอง
สำหรับท่านผู้อ่านที่เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ ก็คงต้องรับบทบาทเพิ่มเติมในการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกเหนือจากต้องพาตัวเองไปสู่ภาวะ Harness ควบคุมบังเหียนของตนเองแล้ว ยังต้องพาลูกทีม พนักงานของท่านเข้าสู่ภาวะดังกล่าวให้เร็วขึ้นด้วย ผู้นำต้องสื่อสารถูกต้อง จริงใจ ทัศนคติต้องเป็นเลิศ ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับพนักงาน ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง โบราณว่าไว้ “ดูช้างให้ดูที่หาง ดูนางให้ดูที่แม่... องค์กรจะดีหรือแย่ ให้ดูที่ผู้นำ” (ท่อนท้ายสุด ผู้เขียนขออนุญาตเติมให้)