ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและโลกาภิวัตน์ : แนวทางการปรับตัวของมัคคุเทศก์ไทย (2)

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและโลกาภิวัตน์ : แนวทางการปรับตัวของมัคคุเทศก์ไทย (2)

ในบทความครั้งที่แล้วผมได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีผลต่อการท่องเที่ยวของไทย

เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัว การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวรุนแรงขึ้น บริการท่องเที่ยวในภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น วัตถุประสงค์และรูปแบบการท่องเที่ยวมีความหลากหลายมากขึ้น การท่องเที่ยวส่วนบุคคลขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาขึ้นของเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และการพัฒนาของมาตรฐานสากลของบริการท่องเที่ยวในภูมิภาค เป็นต้น

จากผลกระทบดังกล่าวทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในบทความนี้ผมจะเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของมัคคุเทศก์ไทยซึ่งควรเตรียมความพร้อมและปรับตัว ดังต่อไปนี้

1) ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน

ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากยังขาดความรู้และความตื่นตัวเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เห็นได้จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ร้อยละ 79.5 มีความรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนน้อยมาก ซึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นตามมาคือทำให้ผู้ประกอบการทำให้เสียโอกาสหรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่ รวมทั้งทำให้ขาดความตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบ ทำให้อาจได้รับผลกระทบรุนแรงหรือไม่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบได้

ด้วยเหตุนี้สมาคมมัคคุเทศก์อาจมีส่วนช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งโดยการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งความรู้ที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับข้อตกลงและกฎระเบียบล่าสุดที่เกี่ยวกับอาชีพมัคคุเทศก์ ความรู้เชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องมาให้ความรู้ มีการตั้งคำถามอย่างเฉพาะเจาะให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยตอบคำถาม เป็นต้น

2) เรียนรู้จักเพื่อนบ้าน

เนื่องจาก การศึกษาไทยไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน ประวัติศาสตร์ไทยที่เกี่ยวกับเพื่อนบ้านมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นชาตินิยม คนไทยจำนวนมากมีทัศนคติที่ไม่เป็นมิตรหรือดูหมิ่นประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้คนไทยไม่รู้จักประเทศเพื่อนบ้านและขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างแท้จริง

สมาคมมัคคุเทศก์ควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จักประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยให้ข้อมูลและความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสม่ำเสมอ เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน วัฒนธรรม ค่านิยมและความเชื่อของนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน แหล่งท่องเที่ยวและผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน สร้างโอกาสปฏิสัมพันธ์กับคนของประเทศเพื่อนบ้าน การดูงานหรือแลกเปลี่ยนความเห็นกับมัคคุเทศก์ในประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพมัคคุเทศก์ในประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนบริษัทท่องเที่ยวจ้างบุคลากรของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

ประเด็นสำคัญที่มัคคุเทศก์ไทยควรให้ความสำคัญในการเรียนรู้ คือวัฒนธรรมของชาวมุสลิม เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากในอาเซียนที่นับถือศาสนาอิสลาม เฉพาะอินโดนีเซียประเทศเดียวก็มีมุสลิมสูงถึง 209 ล้านคน ความไม่เข้าใจอาจปิดกั้นโอกาสขยายตลาดท่องเที่ยวไทยไปยังประเทศมุสลิมได้

3) พัฒนามาตรฐานวิชาชีพและระบบฝึกอบรมมัคคุเทศก์

ปัจจุบันมัคคุเทศก์ไทยกำลังประสบปัญหาทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ปัญหาในเชิงคุณภาพคือระบบการศึกษาผลิตมัคคุเทศก์ที่ขาดคุณภาพอย่างรุนแรง ทำให้มีบัณฑิตเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่สามารถทำงานได้จริง ส่วนที่เหลือต้องฝึกฝนอบรมกันใหม่ ขณะที่ปัญหาในเชิงปริมาณคือมีการสงวนอาชีพนี้ไว้ให้เฉพาะสำหรับคนไทย แต่ระบบการฝึกอบรมมัคคุเทศก์ขาดคุณภาพ ทำให้มัคคุเทศก์มีไม่เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหามัคคุเทศก์เถื่อนรุนแรงขึ้น

ในอนาคตอาชีพมัคคุเทศก์ต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น แม้ว่าอาชีพมัคคุเทศก์ยังไม่ได้เปิดเสรีในปี 2558 แต่อาเซียนมีการเจรจาเปิดเสรีในวิชาชีพต่างๆ เพิ่มขึ้น มัคคุเทศก์เป็นหนึ่งในตำแหน่งงานด้านการท่องเที่ยวที่อยู่ในกรอบการเจรจา สมาคมวิชาชีพมัคคุเทศก์จำเป็นต้องเร่งพัฒนามัคคุเทศก์ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ เช่น การจัดตั้งสภาวิชาชีพมัคคุเทศก์ การสร้างมาตรฐานวิชาชีพมัคคุเทศก์ในประเทศไทย การสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกอบรมในการพัฒนาคุณภาพของบัณฑิต เป็นต้น

4) พัฒนาภาษาที่สาม

โลกาภิวัตน์และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้นักท่องเที่ยวมีความหลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เข้ามาท่องเที่ยวในภูมิภาคมากขึ้นและมีปัญหาขาดแคลนมัคคุเทศก์บางภาษาแล้ว เช่น มัคคุเทศก์ภาษาจีน เป็นต้น ในอนาคตนักท่องเที่ยวในภูมิภาคจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หากไม่เร่งพัฒนามัคคุเทศก์ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน ไทยจะเสียโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวจากเพื่อนบ้าน และหากมีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายมัคคุเทศก์ มัคคุเทศก์ไทยอาจเสียโอกาสออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากขาดทักษะภาษาของเพื่อนบ้าน

ดังนั้น มัคคุเทศก์ไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาที่ 3 นอกเหนือจากภาษาไทยและอังกฤษ ต้องพัฒนาตนเองให้มีทักษะภาษาที่ 3 หรือ 4 เพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น ซึ่งผมคิดว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับภาพรวมประเทศและสอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การเรียนภาษาที่ 3 นั้นควรเลือกเรียนภาษาต่างประเทศใน 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 คือ ภาษามหาอำนาจเก่า เช่น ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน

กลุ่มที่ 2 คือ ภาษามหาอำนาจใหม่ เช่น จีน อินเดีย บราซิล (โปรตุเกส) รัสเซีย

กลุ่มที่ 3 คือ ภาษาในภูมิภาคอาเซียน

5) พัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพสม่ำเสมอ

มัคคุเทศก์ไทยควรกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้และพัฒนาศักยภาพของตน แสวงหาความรู้เพิ่มเติมและพัฒนาทักษะที่จำเป็น ทันการเปลี่ยนแปลงเสมอ เช่น ความรู้ลึกซึ้ง รอบด้าน และถูกต้อง เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ทั้งความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นอยู่ อาหารการกิน ความเชื่อ นาฏศิลป์ ดนตรี และอุปนิสัย หรือวัฒนธรรมประเพณีโดยรวม รวมทั้งแสวงหาความรู้เกี่ยวกับเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มพูนทักษะทางด้านการสื่อสาร การบรรยาย การนำเสนอข้อมูล การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการให้บริการ เป็นต้น เพื่อให้สามารถให้บริการนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ประทับใจ

6) พัฒนาความรู้และทักษะด้านการท่องเที่ยวเฉพาะด้าน

ความหลากหลายของนักท่องเที่ยวและรูปแบบการท่องเที่ยว ทำให้มัคคุเทศก์จำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเฉพาะด้านมากขึ้น โดยการเรียนรู้ความต้องการของนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม และสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ให้บริการเฉพาะด้าน เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับบริการด้านการแพทย์ ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรคที่สำคัญๆ ความเชี่ยวชาญของแพทย์และโรงพยาบาล ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ทางเลือก (เช่น การนวดแผนไทย สมุนไพร) เพื่อให้คำแนะนำกับนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยได้ หรือการเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจและการตลาด ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและตลาดสินค้าและบริการบางประเภท ความรู้เกี่ยวกับแหล่งผลิต แหล่งวัตถุดิบ ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบการจัดตั้งกิจการและดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพื่อสามารถให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจได้ เป็นต้น

ปัจจุบันอาชีพมัคคุเทศก์ได้รับการปกป้องจากกฎระเบียบของรัฐ แต่กระแสโลกาภิวัตน์และ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาจทำให้ในอนาคตสาขาอาชีพนี้จะต้องเปิดเสรีมากขึ้น ผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ที่ขาดความตระหนักและไม่เตรียมความพร้อม ย่อมต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ไม่สามารถแข่งขันกับมัคคุเทศก์ต่างชาติได้ ที่สำคัญยังพลาดโอกาสในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านและไม่ได้รับโอกาสในการออกไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการพลาดโอกาสทางอาชีพที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง