ลีกวนยู... มองจีน

ลีกวนยู... มองจีน

คำถามใหญ่ของจีนและสิงคโปร์จึงไม่ใช่นโยบายไหนถูกต้องในเชิงอุดมการณ์ แต่เป็นนโยบายไหนผ่านการทดลองแล้วและใช้ได้ผลในเวลานั้น

“จีนไม่ใช่เพียงผู้เล่นสำคัญในเวทีโลกเท่านั้น แต่กำลังจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยเห็นมา” นี่เป็นคำทำนายที่ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ที่นำสิงคโปร์จากดินแดนหลังเขาจนมาเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในภูมิภาค กล่าวกับผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันเมื่อ 20 ปี ที่แล้ว

บ้างก็ว่าลีกวนยูเป็นจอมเผด็จการที่ยึดเกาะเป็นของครอบครัว บ้างก็ว่าเขาเป็นผู้สร้างสรรค์ความเจริญให้แก่เกาะเล็กๆ ของเขา แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธก็คือ เขาเป็นคนที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ และมองการณ์ไกล ลีกวนยูเป็นที่ปรึกษาและเป็นแบบอย่างไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้แก่ผู้นำหลายคนทั่วโลก เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ อดีต รมว.กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าลีเป็นนักคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่เขาชื่นชอบมากที่สุด ว่ากันว่าแรงบันดาลใจที่สำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เติ้งเสี่ยวผิงผลักดันการเปิดและปฏิรูปประเทศจีน ก็มาจากการที่เติ้งเสี่ยวผิงได้พบและสนทนากับลีกวนยูที่สิงคโปร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1978 นั่นเอง

หากใครสนใจว่านักคิดเชิงยุทธศาสตร์วัย 90 ปี ท่านนี้ มองจีนและอนาคตของโลกอย่างไร ผมขอแนะนำหนังสือชื่อ “Lee Kuan Yew: The Grand Master’s Insights on China, the United States and the World” ซึ่งเพิ่งวางจำหน่ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และขึ้นแท่นหนังสือขายดีทั่วโลกทันที หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ลีกวนยู ในโอกาสต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสัมภาษณ์โดยอาจารย์และนักวิจัยด้านการต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

กับคำถามที่ว่าจีนตั้งใจจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกใช่หรือไม่? ลีตอบว่าจะไม่ให้จีนอยากเป็นเบอร์ 1 ได้อย่างไร ในเมื่อประเทศนี้เคยเป็นเจ้าเอเชียมา 4,000 กว่าปี ก่อนที่จะถูกฝรั่งแซงหน้าเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี่เอง จีนมีปริมาณประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลก และประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างน่าประทับใจ จีนย่อมต้องคิดอยากกลับมาเป็นเบอร์ 1 ในเอเชีย และผงาดขึ้นมามีอำนาจทัดเทียมกับสหรัฐฯ

Mind set ของจีนก็คือฉันเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่หลับไปและกำลังจะกลับฟื้นคืนสถานะเดิมของตน “จีนมักจะเน้นย้ำเสมอว่าทุกประเทศมีสถานะเท่าเทียมกัน แต่เวลาที่ใครทำอะไรให้จีนไม่พอใจ จีนจะออกมาเตือนเบาๆ ว่า คิดให้ดี คุณกำลังทำให้คน 1,300 ล้าน คนไม่พอใจนะ”

ยุทธศาสตร์ที่จีนใช้ก็คือการเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองและแข็งแกร่ง ใช้ประโยชน์จากแรงงานที่มีการศึกษาและมีทักษะสูงในการผลิตข้าวของและขายแข่งกับประเทศอื่นๆ จีนต้องการโลกที่มีสันติภาพเป็นเวลาอย่างน้อย 40 ปี จีนจึงจะไล่ตามสหรัฐฯ ทัน ดังนั้น จีนจะไม่ใจร้อนเหมือนเยอรมันหรือญี่ปุ่น ซึ่งเข้าแย่งชิงอำนาจและทรัพยากรจากประเทศมหาอำนาจเดิมจนเกิดเป็นสงครามโลก และก็จะไม่ทำผิดพลาดเหมือนสหภาพโซเวียตที่ลงทุนด้านการทหารไล่แข่งกับสหรัฐฯ จนเศรษฐกิจพัง จีนรู้ตัวดีว่าตนไม่สามารถแข่งกับสหรัฐฯ ในเรื่องขีดความสามารถทางการทหารได้ และไม่จำเป็นต้องแข่งด้วย (ไม่จำเป็นต้องรบชนะ แค่มีศักยภาพพอจะขู่ยิงขีปนาวุธข้ามทวีปไปได้ถึงชนบทสหรัฐฯ ก็เกินพอแล้ว) เพราะฉะนั้น ยุทธศาสตร์ของจีนตอนนี้ก็คือทำตัว low profile เข้าไว้และเล่นบทยิ้มแย้มแจ่มใส อดทนรอโอกาสอีกสัก 40-50 ปี

เวลานี้ จีนได้ประโยชน์จากการเป็นมิตรกับสหรัฐฯ มากกว่าจะลุกขึ้นมาเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ จีนยังต้องการขายของให้ตลาดสหรัฐฯ ยังต้องการเรียนรู้และนำเข้าเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น ยังไม่ถึงเวลาที่จีนจะออกมากำหนดระเบียบโลกใหม่ จีนจะยังคงเล่นเกมตามระเบียบโลกในปัจจุบัน จีนจะไม่บอกกับใครๆ ว่า “อย่าขายให้สหรัฐฯ หรืออินเดีย ไม่อย่างนั้นฉันจะรบกับคุณ” แต่จีนจะบอกว่า “มาขายให้ฉันสิ ฉันให้ประโยชน์กับคุณได้สูงกว่าที่สหรัฐฯ หรืออินเดียให้ได้”

สำหรับคำถามที่ว่า จีนมียุทธศาสตร์อย่างไรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ลีตอบว่าอธิบายได้ด้วยประโยคสั้นๆ ของจีนที่ว่า “มาเติบโตไปด้วยกันกับเรา” ผู้นำจีนต้องการสื่อสารว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรหยุดยั้งได้ ประเทศเล็กๆ รอบข้างจึงต้องเลือกว่าจะเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูกับจีน ตัวจีนเองก็พร้อมที่จะปรับระดับความสัมพันธ์เพื่อจะได้สิ่งที่ตนต้องการหรือแสดงออกเมื่อตนไม่พอใจ

อย่างไรก็ตาม ลีมองเห็นความเสี่ยงที่รอวันระเบิดในจีนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาด ธรรมาภิบาล ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันดูเหมือนผู้มีอำนาจในท้องที่จะมีประกาศิตเหนือกฎหมาย วัฒนธรรมที่ไม่ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ การขาดความสามารถที่จะดึงดูดคนเก่งหรือเรียนรู้จากคนเก่งในต่างประเทศ ฯลฯ

ลีทำนายด้วยความมั่นใจว่าจีนจะไม่เป็นประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์ยินดีที่จะทดลองทุกวิถีทางที่จะช่วยปรับปรุงธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ ยกเว้นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่มีหลายพรรคการเมือง เพราะสิ่งที่คนจีนกลัวที่สุดคือความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพ คนจีนคุ้นเคยกับการปกครองแบบรวมศูนย์ และมีความกังวลว่าส่วนกลางจะควบคุมส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นไม่ได้หากเป็นประชาธิปไตย

ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของลีกวนยูอย่างวางไม่ลง ผมคิดว่าเขาเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนในรอบสามสิบปีที่ผ่านมาคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ในยุคสมัยของเขา ลีกวนยูไม่ใช่นักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ เขาเป็นนักคิดเชิงยุทธศาสตร์และยิ่งกว่านั้น เขาเป็นนักปฏิบัติ สำหรับเขาและสำหรับผู้นำจีนที่ผ่านมา การบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องของการเลือกนโยบายตามอุดมการณ์ทางการเมือง (ซ้ายหรือขวา เหลืองหรือแดง) แต่เป็นการทดลองนำนโยบายไปปฏิบัติจริงและพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงข้อผิดพลาดจนกว่านโยบายนั้นจะใช้ได้ผลดีจริง (ไม่ใช่เดินขบวน ล้มกระดาน หรือเปลี่ยนกลับเป็นแบบเก่า) คำถามใหญ่ของจีนและสิงคโปร์จึงไม่ใช่นโยบายไหนถูกต้องในเชิงอุดมการณ์ แต่เป็นนโยบายไหนผ่านการทดลองแล้วและใช้ได้ผลในเวลานั้น

ในหนังสือเล่มนี้ ลีกวนยูไม่ได้กล่าวถึงไทยโดยตรง แต่มีประโยคหนึ่งที่ผมอ่านพบและอาจเกี่ยวข้องบ้าง คือท่านบอกว่า สิงคโปร์นั้น แม้จะเผชิญความท้าทายหลากหลายอย่างไร แต่ก็ยังมีความได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคมาก เพราะสิงคโปร์ไม่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงและความขัดแย้งทางการเมืองเชิงอุดมการณ์เหมือนบางประเทศ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าท่านคิดถึง (หรือคิดเสียดายแทน) ประเทศใดแถวนี้เป็นพิเศษหรือไม่