เพื่อนเยอะ (ข้อมูล)นาฬิกาก็เลยแยะ

เพื่อนเยอะ (ข้อมูล)นาฬิกาก็เลยแยะ

ตามไปดูวิธีทำงานของ 'CSI LA' กับการขุดคุ้ยนาฬิกาหรูสู่เรือนที่ 25 นี่คือพลังของ 'Crowdsourcing' กับความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม

มหากาพย์ข้ามปีของชาวโซเชียลเพื่อหาความจริงจากประเด็น ‘แหวนมารดา-นาฬิกาเพื่อน’ ของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากแค่เรือนเดียวที่เป็นข่าวตอนแรก แต่ทำไปทำมา นาฬิกาเรือนที่สอง.. สาม.. สี่.. ก็เริ่มโผล่ตาม 

กระทั่งล่าสุด คือ เรือนที่ 25 เบ็ดเสร็จรวมมูลค่า 39.5 ล้านบาท ที่สังคมรอคอยคำตอบว่า ทั้งหมดนั้นท่านได้แต่ใดมา

แม้คำตอบจากปากเจ้าตัวยังคงเลือนราง ขณะที่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบอย่างเป็นทางการก็ออกอาการเบลอ แต่ที่แอ็กทีฟไม่เว้นวันก็คือ เพจ ‘CSI LA’ ผู้เปิดประเด็นมาตั้งแต่แรก ด้วยวิธีการ Crowdsourcing ที่ผู้ใหญ่บ้านเราเห็นแล้วน่าจะถูกใจ เพราะเห็นพูดเรื่อง 4.0 กันนักหนา ไม่ต้องไปหาตัวอย่างจากไหนให้ยาก เคสตามล่านาฬิกามหาแพงนี่แหละ ชัดเจนสุดแล้ว

  • โคนัน 4.0

หลังเป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งจากการตามสืบเบาะแสของเณรคำตอนหนีไปอยู่อเมริกา เพจ CSI LA ก็ดังมากขึ้นจากการกัดไม่ปล่อยคดีฆาตกรรมสยอง ฝรั่งชาย-หญิง บนเกาะเต่าเมื่อปี 2557 จนมีผู้ติดตามไต่ระดับมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันใกล้จะเข้าสู่ 8 แสนไลค์เข้าไปทุกที

‘เดวิด’ แอดมินหนึ่งเดียวของเพจ(เจ้าตัวบอกแบบนั้น) ซึ่งอาศัยอยู่ในต่างประเทศ (เจ้าตัวเป็นคนบอกอีกเช่นกัน) เปิดเผยกับ ‘จุดประกาย’ ว่า ที่เปิดเพจนี้ขึ้นก็เพราะอยากจะเห็นคนไทยเลิกรับข่าวสารมาแบบผิดๆ หรือเชื่ออะไรง่ายดายเกินไป เขาจึงต้องการเปิดให้เป็นพื้นที่ถกเถียงเพื่อค้นหาความจริง

“ผมไม่เชื่อว่า คนๆ เดียวจะเก่งทุกอย่าง หรือคิดอะไรถูกต้องเสียหมด มันต้องร่วมมือกัน ช่วยกันถกเถียง แย้งในข้อมูลที่คิดไม่ถูกต้อง” เขากล่าวถึงแนวคิดการทำงานในแบบที่เรียกว่า Crowdsourcing 

โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่คนสนใจเยอะ ก็จะยิ่งมีคนเข้ามาร่วมแชร์ข้อมูลความเห็นเยอะ โอกาสที่จะได้ “คำตอบ” ก็มากขึ้นตามไปด้วย

วิธีที่เพจ CSI LA ใช้ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย
แค่ประกาศออกไปว่า ใครเห็นท่านนายพลฯ
ใส่นาฬิกาเรือนหรูที่ไหน เวลาใด ให้ส่งเบาะแสเข้ามา
นี่แหละที่เรียกว่า  'Crowdsourcing'

ถามว่า Crowdsourcing คืออะไร?

ตอบอย่างวิชาการหน่อยก็หมายถึงการร่วมสร้างสรรค์ของกลุ่มคน(Crowd) เพื่อร่วมกันทำ หรือสร้างสิ่งต่างๆ รวมถึงแก้ไขปัญหาร่วมกัน

แต่ถ้าเอาแบบเข้าใจง่ายขึ้น คุ้นๆ กันไหมกับเหล่าโคนันแห่งพันทิป ผู้ฝากผลงานการสืบเสาะ เปิดโปง แฉความไม่ชอบมาพากลไว้มากมาย นี่ก็ถือเป็น Crowdsourcing ด้วยเช่นกัน

การ ‘สืบ’ ลักษณะนี้ต้องพึ่งพลังมวลชนเพื่อรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง บวกกับการต่อยอดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวซึ่งกันและกัน แสดงความคิดเห็น คิดต่าง และโต้แย้งอย่างมีเหตุและผล พร้อมหลักฐานอ้างอิงจนเกิดการคัดกรองสู่ข้อมูลที่เชื่อถือได้มากที่สุดตามมา

เช่นกันกับวิธีที่เพจ CSI LA เลือกใช้ ซึ่งไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย เพียงแค่ประกาศออกไปว่า ใครเห็นท่านนายพลฯ ใส่นาฬิกาเรือนหรูที่ไหน เวลาใด ให้ส่งเบาะแสเข้ามา นี่แหละที่เรียกว่า 'Crowdsourcing'

นอกจากการรวบรวมข้อมูลบนหน้าเพจแล้ว ในทางหนึ่งแอดมินก็สร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยให้การส่งข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบมากขึ้น เอื้อต่อการคัดกรอง แยกแยะ วิเคราะห์ข้อมูลให้ง่ายขึ้นด้วย

หลังจากได้ข้อมูลดิบ ก็สู่การจัดเรียงข้อมูล ตรวจสอบโดยกูรูว่า น่าจะเป็นยี่ห้อไหน รุ่นอะไร ราคาเท่าไหร่ จากนั้นก็นำมาเรียงลำดับตามไทม์ไลน์ที่พบ

..เรือนไหนปรากฏว่า ใส่ข้ามปี ก็อาจเพราะเพื่อนใจดี ให้ยืมนาน (เหรอ?)

  • ขุดหา ‘ความจริง’

ไกลก้อง ไวทยการ ผู้อำนวยการ Social Technology Institute ร่วมอธิบายว่า จริงๆ บ้านเรามีการทำ Crowdsourcing ตั้งแต่การขอให้ช่วยค้นหาข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เช่น โพสต์ถามว่า สถานที่ในรูปคือที่ไหน จนถึงการขอให้ช่วยหาเอกสารหรือแปลเอกสารต่างๆ

แต่จะเพิ่มพลังชัดเจนขึ้นก็เมื่อหัวข้อที่ยกมามีความเกี่ยวข้องกับคนในจำนวนที่มากขึ้น หรือส่งผลในวงกว้าง ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้ Crowdsourcing ในเรื่องสำคัญๆ มานานแล้ว เช่นเมื่อสำนักข่าว ProPublica ที่อเมริกาประกาศขอให้ประชาชนช่วยส่งเบาะแสการโฆษณาหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อสำนักข่าวจะทำรวบรวมวิเคราะห์เม็ดเงินที่นักการเมืองใช้ไปกับการหาเสียง

หรืออย่างเคส เครื่องบิน MH 370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์หายสาบสูญไป ก็ได้มีการใช้ Crowdsourcing ในการส่งข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในทุกจุดที่ต้องสงสัยว่า เครื่องจะตกมาให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อค้นหาซากเครื่องบิน เป็นต้น

“มันต้องประกอบด้วย หนึ่ง คือ ข้อมูลหรือรูปภาพที่อยู่บนพื้นที่สาธารณะ และสอง คือ กลุ่มคนที่อยากจะช่วยหาข้อมูลตามความถนัดของตัวเอง”

เมื่อสองอย่างมาบรรจบกัน ขบวนการค้นหาความจริงก็เริ่มต้นขึ้น..

การที่เราได้เห็นคนลุกขึ้นมาตั้งคำถาม
และเอาข้อมูลเป็นฐานในการทำงาน
ไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นตัวตั้ง
เราก็จะเป็นสังคมที่ใช้ข้อมูลนำทาง

“ข้อดีของการทำ Crowdsourcing คือ มีคนช่วยกันเช็คความถูกต้องของข้อมูลเบาะแสที่ส่งเข้ามา และเมื่อพบข้อมูลที่มีข้อสนับสนุนมากกว่า ก็จะทำการแก้ไขอัพเดทได้เรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าดีมากถ้าเกิดขึ้นในสังคมไทยเยอะๆ เพราะการที่เราได้เห็นคนลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และเอาข้อมูลเป็นฐานในการทำงาน ไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นตัวตั้ง เราก็จะเป็นสังคมที่ใช้ข้อมูลนำทาง” ไกลก้อง ขยายความ

“ยิ่งเยอะ ยิ่งดีครับ” เดวิด แอดมินเพจ CSI LA กล่าวสำทับ พร้อมบอกว่า ปริมาณ และความหลากหลายของคนที่เข้าร่วมสำคัญมากกับการทำ Crowdsourcing ให้ได้ผลดี ซึ่งตัวเขาเองในฐานะที่เป็น Data Scientist (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) เขาให้ความสำคัญกับการทำ Crowdsourcing มาก โดยเชื่อในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และความคิดเห็นอย่างเสรี ซึ่งข้อมูลหรือความเห็นที่มีความน่าเชื่อถือจะถูกคัดกรองกันเองจากมวลชน

“คอมเมนท์ที่มียอดคลิกไลค์เยอะๆ ก็แปลว่า มีคนเห็นด้วยมาก” เดวิดอธิบาย

มันจึงเป็นเหตุผลที่ตัวเขาในฐานะแอดมินเพจฯ เลือกหยิบประเด็นที่ กระทบกับส่วนรวม หรือเป็นที่สนใจของคนในวงกว้างขึ้นมาเล่น และจะเล่นทีละประเด็น เพื่อให้มีน้ำหนัก ตามให้ลึก และไปให้สุดทาง

“อย่างตอนนี้ผมเล่นเรื่องนาฬิกาเรื่องเดียวเลย แล้วก็ทยอยปล่อย ถ้าผมปล่อยทั้งหมดทีเดียว 25 เรือน เรื่องมันก็จะจบ แต่พอค่อยๆ ทยอยปล่อย คนก็ติดตาม และให้ความสนใจมากขึ้น จนตอนนี้สื่อต่างประเทศก็ตามข่าวนี้กับเขาด้วย” แอดฯ CSI LA เอ่ย

  • สืบ สไตล์ไทย

จากประสบการณ์พยายามค้นหาความจริงในหลายๆ คดีสำคัญที่สังคมสนใจผ่านเพจ CSI LA เขายอมรับว่า ตนเองได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก

“จากเคสเกาะเต่านี่ผมยังอ่อนประสบการณ์ แล้วก็ไม่นิ่งพอ เคสก็ยากด้วย เพราะเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญๆ ได้ มันก็เป็นบทเรียนสอนเราว่า การหยิบเคสแบบนี้มาทำมันอาจไม่เวิร์ค เพราะเราเข้าถึงข้อมูลได้ไม่มากพอ แล้วสุดท้ายคนที่แอ็คชั่นก็คือตำรวจ ไม่เหมือนกับเคสนาฬิกาที่มันเป็น public data อยู่แล้ว เราก็แค่เข้าไปค้นหา ซึ่งถ้าจะว่าไป นาฬิกาที่พบมันเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง สังคมตั้งคำถามขนาดนี้ เขายังตอบแบบนั้น แล้วเรื่องอื่นๆ ที่เรายังไม่รู้ ยังขุดไม่เจอล่ะ” แอดมินเพจ CSI LA กล่าว

การใช้ Crowdsourcing ช่วยได้มาก
ในสังคมแบบ Top-Down อย่างประเทศไทย
ช่วยให้เราได้ยินเสียงของประชาชน 
และเกิดกระบวนการตรวจสอบ ถกเถียง เพื่อความโปร่งใส

แม้ข้อมูลที่ชาวโซเชียลช่วยกันส่งเข้ามาและคัดกรองจะถูกพูดถึงมาก แต่ก็ไม่มีอะไรแน่ชัดว่า จะถูกรับเอาไปร่วมพิจารณาอย่างเป็นทางการหรือเปล่า แต่เขาเห็นว่า อย่างน้อยๆ เขาก็ได้จุดประเด็นให้สังคมและสื่อมวลชนทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป

“ที่แน่ๆ ตอนนี้คนในสังคมที่เชื่อเขาก็น้อยลงแล้วล่ะ”

ในมุมมองของเดวิด เห็นว่า การใช้ Crowdsourcing ช่วยได้มากในสังคมแบบ Top-Down (บริหารจากบนลงล่าง) อย่างประเทศไทย เพราะจะช่วยให้เราได้ยินเสียงความเห็นของประชาชน และจะเกิดกระบวนการตรวจสอบ ถกเถียง เพื่อสร้างความโปร่งใสได้ด้วย

คล้ายกันกับ ไกลก้อง ซึ่งเห็นว่า ขณะที่ภาครัฐยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะได้อย่างจริงจัง ทั้งด้วยข้อจำกัดมากมาย แถม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ก็ไม่ได้ระบุชัดในเรื่องนี้ เขาจึงเห็นว่า สังคมที่ช่วยกันตรวจสอบอย่างเข้มแข็งและมีพลังจะสามารถเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้

“คนไทยตื่นตัว และเริ่มตั้งคำถามกับบุคคลสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลไม่ได้เปิดเผยหรือมีความโปร่งใสมากพอ ประชาชนก็สามารถตั้งข้อสงสัย และช่วยกันค้นหาความจริงด้วยตัวเองได้”  ไกลก้องเสริม

แต่เมื่อเหรียญยังมีสองด้าน สังคมที่เปิดกว้างก็ไม่ต่างกัน การจะดูแลให้ข้อมูลข่าวสารส่งต่อกันอย่างถูกต้อง และไม่ให้ล้ำเส้นเป็นการล่าแม่มด หรือด่วนสรุปจนต้องมาเงิบกันตอนหลัง ก็ยังเป็นเรื่องที่ควรระวัง

ประเด็นนี้ ไกลก้อง มองว่า สังคมไทยจะค่อยๆ เรียนรู้ได้จากความผิดพลาด เช่น ดูคลิปสั้นๆ ที่ตัดตอนมาแล้วด่วนสรุปจนหน้าแตกกันหลายครั้ง ระยะหลังก็เริ่มมีความระมัดระวังในการแสดงความเห็นมากขึ้น และรอดูข้อมูลที่จะตามมาก่อนจะแสดงความเห็นออกมา

ส่วนในฐานะแอดมินอย่างเดวิดก็ร่วมยืนยันความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเพจอย่างเขา ความน่าเชื่อถือคือเรื่องสำคัญ ดังนั้นที่ผ่านๆ มาจะไม่ด่วนสรุปอะไร จนกว่าหลักฐานจะแน่ชัด หรือถ้ามีอะไรที่ผิดไป ก็จะแสดงความรับผิดชอบทันที

“ในทุกเรื่องที่หยิบขึ้นมาเล่น เราจะสันนิษฐานก่อนว่า คนๆ นั้นบริสุทธิ์ จนกว่าจะได้ข้อมูลที่มีน้ำหนักมากพอ” แอดมินเพจ CSI LA ยืนยันในหลักการ พร้อมบอกเป็นครั้งที่ร้อยถึงการเปิดเพจนี้มาไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแต่อย่างใด

ส่วนใครที่ยัง ‘สงสัย’ เบื้องลึกเบื้องหลังของแอดมินรายนี้ ก็สามารถย้อนรอยตรวจสอบด้วยวิธี Crowdsourcing ได้เช่นกัน..