กรมการแพทย์ ห่วงใยสุขภาพประชาชนหลังเหตุไฟไหม้ โรงงานย่านกิ่งแก้ว-บางพลี  

กรมการแพทย์ ห่วงใยสุขภาพประชาชนหลังเหตุไฟไหม้ โรงงานย่านกิ่งแก้ว-บางพลี  

สังเกตอาการและการปฏิบัติตนเบื้องต้นเพื่อรักษาสุขภาพ ถ้ามีอาการแสบตา แสบคอ แสบจมูกมาก หรือ ไอ หอบ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานแห่งหนึ่งในท้ายซอยกิ่งแก้ว 21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ อย่างรุนแรงพร้อมกับมีการระเบิดเป็นระยะ แรงอัดจากการระเบิดทำให้บ้านเรือนและโรงงานที่อยู่โดยรอบรัศมี 500 เมตร ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดจากการสูดดมควันไฟ สารเคมี และบาดแผลไฟไหม้ ทำให้กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สั่งประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงในรัศมี 5 กิโลเมตรออกนอกพื้นที่ กรมการแพทย์ โดยศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชานี มีความห่วงใยประชาชนผู้ประสบเหตุ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในที่เกิดเหตุเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อมูลทั่วไปด้านพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อมพบว่าวัตถุดิบประเภทโฟม EPS หรือ Expandable Polystyrene เมื่อถูกไฟไหม้จะเกิดมลพิษจากสารสไตรีน (styrene)  ผู้ที่สัมผัสสารพิษดังกล่าว จะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ 2 ลักษณะ คืออาการเฉียบพลัน และอาการเรื้อรัง ดังนี้

  • อาการเฉียบพลัน จะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ปวดศีรษะ ง่วงซึม อ่อนเพลีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และ ระบบทางเดินหายใจ การสูดเข้าไปจะมีอาการไอ และหายใจลำบาก ชัก หัวใจเต้นแรง และอาจเสียชีวิตได้
  • อาการเรื้อรัง การได้รับสารสไตรีน (Styrene) เป็นเวลานาน จะ มีอันตรายต่อตับไต ระบบเลือด ในขณะที่เบนซิน (Benzene) จัดเป็นพิษสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมีผลทำให้เป็นโรคโลหิตจาง  

นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้หรือสลายตัวเนื่องจากความร้อนของสไตรีน จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน และเกิดอันตรายต่อร่างกาย

จึงขอแนะนำการปฏิบัติตนเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัยสำหรับประชาชนคือ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งตามประกาศของทางการอย่างเคร่งครัด ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีมลพิษในอากาศสูงโดยมีค่าสารพิษเกินกว่าปกติหลายเท่า ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของเป็นอย่างมาก  หากยังอยู่ในบริเวณที่มีการระบุค่ามลพิษทางอากาศสูง ให้ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ถ้าอากาศร้อนให้ใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลมเพื่อบรรเทา พร้อมด้วยเครื่องฟอกอากาศ (ถ้ามี) อย่าเปิดประตูหรือหน้าต่าง รวมถึงงดกิจกรรมภายนอกอาคาร สถานที่ หรือหากจำเป็นควรใส่หน้ากากชนิดมีไส้กรองหรืออย่างน้อยใช้หน้ากาก N 95  ใส่หน้ากากว่ายน้ำ เฟสชิลด์ หรือแว่นตาเพื่อป้องกันอาการระคายเคืองตา สวมหมวก ถุงมือ ปลอกแขน หรือชุดที่สามารถปกป้องผิวหนังได้ พร้อมลดเวลาการทำกิจกรรมนอกสถานที่ให้ได้มากที่สุด ถ้ามีโรคประจำตัว หรือมีใครในครอบครัวมีโรคประจำตัวให้แจ้งให้แพทย์ทราบด้วย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคปอด โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ถ้ามีอาการแสบตา แสบคอ แสบจมูกมาก หรือ ไอ หอบ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์ ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด สืบเสาะหาเส้นทาง และพาหนะที่ใกล้ที่สุดที่จะไปหาความช่วยเหลือได้  มีเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หลังเหตุการณ์ให้มารับการตรวจสุขภาพ และติดตามการตรวจสุขภาพเป็นระยะตามที่ แพทย์สั่ง