อมตะ -เอสซีจี-ดาวจับมือพัฒนาถนนพลาสติกรีไซเคิล

อมตะ -เอสซีจี-ดาวจับมือพัฒนาถนนพลาสติกรีไซเคิล

อมตะ -เอสซีจี-ดาวจับมือพัฒนาถนนพลาสติกรีไซเคิล เส้นแรกในนิคมฯอมตะซิตี้ชลบุรีเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติก

กรุงเทพฯ  –บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลเส้นแรกในนิคมอุตสาหกรรม ณต้นแบบเมืองอัจฉริยะอมตะซิตี้ชลบุรี ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าให้กับขยะพลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะภายในนิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการตอบโจทย์นวัตกรรมถนนยางมะตอยที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ในแต่ละปี ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณ1.5  ล้านตัน ที่ยังไม่ได้ถูกจัดการอย่างถูกวิธี ซึ่งบางส่วนอาจถูกพัดออกสู่มหาสมุทร ส่งผลต่อระบบนิเวศ โครงการถนนพลาสติกรีไซเคิล ณต้นแบบเมืองอัจฉริยะอมตะซิตี้ โดยความร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างเอสซีจี และ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มุ่งหวังที่จะเป็นแบบอย่างในการจัดการขยะพลาสติกจากภาคอุตสาหกรรมและภาคชุมชนได้อย่างยั่งยืนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างคุณค่าให้กับพลาสติกใช้แล้วนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่าและยั่งยืน โดยโครงการนี้วางแผนที่จะทำถนนพลาสติกรีไซเคิลในพื้นที่นิคมฯอมตะรวมทั้งสิ้น 2,600 ตารางเมตร และคาดว่าจะใช้จำนวนพลาสติกรีไซเคิลประมาณ 1.3 ตัน หรือเทียบเท่ากับถุงพลาสติก จำนวนประมาณ1 แสนใบ โดยคาดว่าการก่อสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลในครั้งนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2561

จากการทดสอบโดยภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปรียบเทียบคุณสมบัติของถนนยางมะตอยซึ่งใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบ กับถนนยางมะตอยทั่วไป พบว่าถนนยางมะตอยซึ่งมีพลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบนั้นมีคุณสมบัติดีขึ้นทั้งในด้าน การเพิ่มความแข็งแรงคงทน ประมาณร้อยละ 15-33 และการเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนประมาณร้อยละ 6

นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาที่ดิน บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน กล่าวว่า ความร่วมมือ 3 ฝ่ายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญในการนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบของการสร้างถนนในพื้นที่นำร่องภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรีเพื่อสร้างต้นแบบเมืองอัจฉริยะ(สมาร์ทซิตี้)แห่งแรกของไทย ซึ่งการสร้างถนนจากพลาสติกรีไซเคิลนอกจากจะมีความแข็งแรงทนทานและประสิทธิภาพสูงกว่ายางมะตอยทั่วไปแล้ว ยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม   ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)  อันจะนำมาซึ่งการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

                “ เบื้องต้นจะมีการนำพลาสติกรีไซเคิลมาสร้างถนน 2 จุดในนิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี ซึ่งการดำเนินงานนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโจทย์ของสมาร์ทซิตี้  คือ Smart Environment  ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่วางเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดสมาร์ทซิตี้โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และถือเป็นถนนพลาสติกรีไซเคิลเส้นแรกในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่จะนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างถนนที่ใช้งานได้จริง และยังเป็นโครงการนำร่องที่จะดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป “นายวิวัฒน์กล่าว

นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ  ธุรกิจ และประชาสังคม สำหรับความร่วมมือกับอมตะและดาว ในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งและมีอุดมการณ์เดียวกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริงและยั่งยืน โดยเอสซีจีพร้อมที่จะร่วมมือและช่วยขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาถนนพลาสติกรีไซเคิล ณ นิคมฯ อมตะซิตี้ชลบุรี ให้เป็นถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ใช้งานได้จริง และสามารถขยายโครงการนี้ต่อไปยังภาคส่วนอื่นๆในอนาคต ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า“ดาว ได้ริเริ่มโครงการสร้างถนนยางมะตอยจากพลาสติกรีไซเคิลในประเทศอินเดียและอินโดนีเซียมาก่อนหน้านี้และได้รับความสำเร็จอย่างดีโดยมีระยะความยาวของถนนรวมกว่า 40 กิโลเมตร นอกจากถนนพลาสติกรีไซเคิลจะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของถนนยางมะตอยอีกด้วย ซึ่งคุณสมบัติของพลาสติกจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานและกันการกัดเซาะของพื้นผิวถนนได้ดีขึ้นด้วยความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้จะทำให้เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบการรีไซเคิลพลาสติกให้เหมาะสมสำหรับการทำถนนในประเทศไทยได้ดีมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นแนวทางหนึ่งของการลดปริมาณะพลาสติกที่ออกไปสู่ทะเลได้อย่างเป็นรูปธรรม”