ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ การสอบสวน BEV จีนของอียู มีผลต่อการส่งออก BEV ไทยปี 67

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ การสอบสวน BEV จีนของอียู มีผลต่อการส่งออก BEV ไทยปี 67

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ กรณีคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดสอบสวน BEV นำเข้าจากจีนทุกค่ายไม่จำกัดสัญชาติ มองไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์ โดยค่ายจีนที่ได้รับผลกระทบมากแล้ว มีการลงทุนในไทยด้วย อาจส่งออก BEV รุ่นเดียวกันที่ผลิตในไทยไปยังตลาดยุโรปทดแทน "SCB EIC" ประเมินว่า ทุก ๆ 1 แสนคันของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ภายในประเทศ ดันGDP ไทย โต 0.2% 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ ปัจจุบัน BEV นำเข้าจากจีนมีส่วนแบ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดอียู นำมาซึ่งความกังวลของคณะกรรมาธิการยุโรปจนเดินไปสู่การเปิดสอบสวนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ต.ค. กับ BEV นำเข้าจากจีนทุกค่ายไม่จำกัดสัญชาติ เรื่องที่อาจมีการรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ซึ่งอาจทำให้เกิดมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุน อย่างเร็วที่สุดคือเดือนก.ค. 2567 

ในกรณีที่อียูออกมาตรการขึ้นภาษีต่อต้านการอุดหนุนออกมาจริง ก็อาจกระทบต่อการส่งออก BEV จากจีนไปยุโรปไม่มากก็น้อย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่เท่ากัน โดยคาดว่าอาจจะมีทั้งค่ายที่โดนเรียกปรับภาษีสูง และค่ายที่โดนเรียกปรับภาษีต่ำกว่า

 

 

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากกรณีนี้ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์ โดยค่ายจีนที่ได้รับผลกระทบมากแล้ว มีการลงทุนในไทยด้วย อาจส่งออก BEV รุ่นเดียวกันที่ผลิตในไทยไปยังตลาดยุโรปทดแทน อย่างไรก็ดี เนื่องจากต้นทุนการผลิตในไทยอาจสูงกว่าผลิตในจีน เพราะค่ายรถจีนเพิ่งจะเริ่มเดินสายการผลิตในไทยปีหน้า ทำให้ยังไม่ถึงจุดที่ได้ Economies of scale จึงอาจทำให้ไทยได้โอกาสส่งออกทดแทนไปยุโรปแค่บางส่วน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในจำนวนกำลังการผลิต BEV ปี 2567 ของค่ายจีนในไทยที่น่าจะทำได้ไม่น้อยกว่า 70,000 คันนั้น มีโอกาสที่จะส่งออกไปตลาดยุโรปราว 10,000 คัน ซึ่งแม้จะยังน้อยหรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 8% ของยอดขาย BEV ค่ายจีนทั้งหมดในยุโรปที่อาจขายได้ไม่ต่ำกว่า 130,000 คันในปีหน้า แต่ก็จะนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการส่งออก BEV จากไทยไปยุโรป  

อย่างไรก็ดี ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกมีโอกาสต่ำกว่าที่คาดได้ หากคำตัดสินออกมาล่าช้าหรือแม้แต่มีประเด็นที่ส่งผลให้ทิศทางการตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรปเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะจากความเห็นที่ยังไม่ลงรอยกันเองในกลุ่มประเทศอียูต่อแนวทางการเก็บภาษีต่อต้านการอุดหนุนดังกล่าว และยังมีกรณีที่จีนอาจมีมาตรการตอบโต้ออกมาที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต BEV ในยุโรป เนื่องจากจีนครองตลาดห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบตเตอรี่อยู่          

3 ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตตลาด EV โลก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ายอดขายเละยอดผลิตรถ EV ทั่วโลกในช่วงระหว่างปี 2022 - 2030 จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 20% และ 33% ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจาก 1) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ไทย บราซิล และอินเดีย ที่ต่างมุ่งส่งเสริมการใช้งานและการลงทุนในอุตสาหกรรม EV 2) การเปิดรับจากฝั่งผู้บริโภค โดยเฉพาะหลังเผชิญราคาพลังงานที่ผันผวน รวมถึงต้นทุนการเป็นเจ้าของรถ EV ก็ทยอยลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าในระยะยาวจะต่ำกว่ารถสันดาปจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและการบำรุงรักษา และ 3) การรุกตลาดของค่ายรถยนต์จีนที่ทำให้ตัวเลือกในตลาดรถยนต์ EV มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในด้านรูปลักษณ์ ฟังก์ชันการใช้งาน และระดับราคา

ผู้ผลิตยานยนต์สันดาปจำนวนไม่น้อยกำลังทยอยปรับตัวให้สอดรับกับกระแสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

SCB EIC ได้ศึกษาแผนการลงทุนของบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ทั่วโลกและพบว่า ค่ายรถจากฝั่งตะวันตก อาทิ BMW Mercedes-Benz และ Volkswagen มีการเปลี่ยนผ่านที่เท่าทันกับกระแส EV ทั้งในด้านการเพิ่มความหลากหลายของโมเดลรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาแบตเตอรี่ EV ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่เจ้าตลาดเดิมจากฝั่งตะวันออก เช่น Toyota Honda และ Nissan กลับมีแนวทางการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่า การแข่งขันในตลาดรถยนต์ทั่วโลกจะทวีความรุนแรง โดยกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่ปรับตัวได้ช้าจะเผชิญความเสี่ยงจากการสูญเสียส่วนแบ่งทางตลาด ขณะที่ผู้บริโภคจะได้รับอานิสงส์จากตัวเลือกในตลาดที่มีความหลากหลายมากขึ้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC นัยต่อเศรษฐกิจไทยจากการก้าวไปเป็น Regional EV hub ไม่เพียงแต่จะมาจากภาคการส่งออก แต่ยังเชื่อมโยงกับมูลค่าเพิ่มจากภาคธุรกิจที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม EV ที่กำลังทยอยเกิดขึ้นอย่างครบวงจรภายในประเทศอีกด้วย ทั้งอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนบางประเภท ซึ่งเดิมเป็น Supplier ให้กับผู้ผลิตรถสันดาป

อย่างไรก็ตาม กระแสนิยมยานยนต์ไฟฟ้าก็นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์บางกลุ่ม

แม้ว่าการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นโอกาสต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์บางกลุ่มมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มความต้องการที่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบส่งกำลังและเชื้อเพลิง โดย SCB EIC คาดว่า มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมเหล่านี้จะปรับลดลง 3.8 พันล้านบาท หรือราว 10% จากปี 2022 หากรถ EV สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 15% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกภายในปี 2025

ความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คือ การเร่งพัฒนาระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า และการส่งเสริมภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวได้สอดรับกับความต้องการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น

SCB EIC ประเมินว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเผชิญกับความท้าทายสำคัญ 2 ประการ คือ 1) การสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานและระบบนิเวศน์ EV ให้เกิดขึ้นภายในประเทศอย่างครบวงจร เพื่อลดการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากกิจกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเป็นหลัก

2) การส่งเสริมภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวและมีความพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ๆ โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตไปพร้อม ๆ กับตลาด EV อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า ยางล้อ และชุดสายไฟ ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ ขณะที่กลุ่มเปราะบางควรมีแนวทางการขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศ อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV คาดว่าจะเกิดขึ้นช้ากว่า รวมถึงการเจาะตลาดอะไหล่ (REM) ซึ่งอุปสงค์ยังเติบโตได้ตามอายุการใช้งานรถยนต์ที่ยาวนานขึ้นในหลายประเทศ