ความท้าทายไทย จากเครื่องยนต์สันดาป สู่ EV

ความท้าทายไทย จากเครื่องยนต์สันดาป สู่ EV

การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ให้เป็นหนึ่งในกลไกพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางจำนวนมาก ดังนั้นการเริ่มต้นจากการพัฒนาแนวทางการศึกษาก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ

ชัดเจนแล้วว่าการที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 หรือ “UNGA78” ที่นครนิวยอร์กสหรัฐในครั้งนี้ จะถือโอกาสชักชวนนักธุรกิจของสหรัฐ รวมไปถึงผู้นำหลายๆ ประเทศที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ มาลงทุนในประเทศไทย ว่ากันว่ามีกำหนดการเข้าพบผู้บริหารเทสลา โดยจะนำนักธุรกิจไทยไปร่วมพบปะและให้ข้อมูลเชิงลึกด้วย รวมทั้งบริษัทเอกชนรายอื่นๆอย่าง โกลด์แมนแซคส์ เจพีมอร์แกน ไมโครซอฟท์ ซิตี้แบงก์ รวมทั้ง แบล็กร็อก อีกด้วย

เป้าหมายการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ในปี 2573 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคต

โรดแมปในการทำให้ประเทศใช้งาน EV ยานยนต์พลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ กำหนดไว้ในอีก 2 ปี ข้างหน้า โดยปี 2568 จะมีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ารวม 1,055,000 คัน ปี 2573 ผลิตยานยนต์พลังงานสะอาดในประเทศไทยให้ได้ 30% หรือเทียบเท่า 2,500,000 คัน และปี 2578 ประเทศจะใช้งานรถไฟฟ้า 15,580,000 คัน แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน (56%) รถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน (41%) รถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน (3%) ซึ่งครึ่งแรกของปี 2566 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (มีโอไอ) ได้มอบสิทธิประโยชน์และส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ผลิตรถยนต์แบตเตอรี่ BEV ไปแล้ว 14 ราย มูลค่าโครงการรวม 33.9 พันล้านบาท และคิดเป็นกำลังการผลิตถึง 276,640 ค้นต่อปี

เราเห็นความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทว่าในความเป็นจริงกลับพบว่าปัจจุบันไทยมีผู้เชี่ยวชาญเพียง 0.58 ล้านคนที่มีความสามารถด้านดิจิทัล หรือน้อยกว่า 1% ของประชากร และต้องการกำลังคนด้านวิศวกร ระดับปริญญาตรีกว่า 40,000 คน ดังนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้อง “ทำงานร่วมกัน” เพื่ออุดช่องว่างทักษะและสร้างโอกาสใหม่ในระบบนิเวศยานยนต์ของประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN EV hub) ให้ได้

ขณะนี้วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศ 258 แห่งได้จัดทำหลักสูตรยานยนต์ไฟฟ้า และเทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า แต่มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพียง 10 แห่งเท่านั้นที่มีรถยนต์ไฟฟ้า หรือ เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติ ทดสอบ ที่เหลือต้องส่งนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติจริง ส่งอาจารย์ไปดูงาน หรือไปฝังตัวเรียนรู้ในภาคอุตสาหกรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะคนที่มีทักษะดิจิทัล และวิศวกรรมขั้นสูง จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันในการพัฒนาแนวทางการศึกษา จัดการเรียนการสอนให้ครบวงจร เพื่อพัฒนากำลังคน รวมถึง อัพสกิล รีสกิล ให้แรงงานในอุตสาหกรรม ที่จะเปลี่ยนผ่านยานยนต์ระบบสันดาป สู่ EV ตามเป้าหมายให้เปิดขึ้นได้จริง