จักรพันธุ์ โปษยกฤตนิทรรศการ งดงามเหนือคำบรรยาย

จักรพันธุ์ โปษยกฤตนิทรรศการ งดงามเหนือคำบรรยาย

จักรพันธุ์ โปษยกฤตนิทรรศการ

20180816164309933

อุศเรน ตัวนางใหญ่ และนางละเวง

เคยสงสัยว่านางละเวงจะสวยงามตาสักเพียงไหน พระอภัยมณีเพียงแค่ได้เห็นเพียงภาพก็ถึงกับหลงใหลนัก มาได้เห็นความงามของนางละเวงหุ่นกระบอกผลงานของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พุทธศักราช 2543 ถึงกับสิ้นสงสัย นางละเวงวัณฬากษัตริย์สาวแห่งเมืองลังกาที่มีเชื้อสายเป็นหญิงฝรั่ง ช่างสวยงามจับตาเหลือเกิน

วัลลภิศร์ สดประเสริฐ รองประธานมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต นำชมหุ่นกระบอกนางละเวงที่จัดแสดงใน จักรพันธุ์ โปษยกฤตนิทรรศการ นิทรรศการจัดแสดงผลงานเดี่ยวในรอบ 15 ปี อันประกอบไปด้วยผลงานชิ้นเอกทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และผลงานหุ่นกระบอก โดยมีนางละเวงเป็นหนึ่งในนั้น

“หุ่นตัวนี้ไม่เคยออกแสดงนะครับเพราะว่าไม่ได้ใส่ตะเกียบ (ไม้ไผ่ขนาดเล็กที่ผูกติดข้อมือหุ่นสำหรับเชิด) เป็นหุ่นเก่าที่โครงเดิมใบหน้าเหลือนิดเดียวเป็นหน้าพังๆอาจารย์มาซ่อมปั้นเติมปิดกระดาษเขียนใหม่

เครื่องแต่งตัวคิดทำเป็นกระโปรง ตอนนั้นม.ร.ว.อารชว วรวรรณ กลับมาจากฝรั่งเศสก็มาหาอาจารย์ชอบมานั่งคุยกัน แล้วมาทำเครื่องแต่งกายนางละเวง ลูกปัดจากฝรั่งเศสส่วนผ้าลูกไม้มาจากกระโปรงเก่าของแม่อาจารย์นำมาตัดเย็บเป็นชุดนางละเวง”

ในส่วนของการจัดแสดงหุ่นกระบอกในนิทรรศการครั้งนี้ นอกเหนือจากหุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณี ซึ่งอาจารย์จักรพันธุ์ได้มาจากคุณครูชื้น (ประเสริฐกุล)สกุลแก้ว ผู้ถ่ายทอดวิชาการเชิดหุ่น หุ่นใดที่ชำรุดได้ซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ ในขณะที่หุ่นตัวใดที่คงความงามอยู่นั้นอาจารย์ก็จะไม่แตะต้อง คุณวัลลภิศร์เล่าพลางชี้ให้เห็นถึงหุ่นตัวนางที่มองเห็นเป็นใบหน้าสีดำแล้วอธิบายว่า

20180816164321744

“เป็นหุ่นโบราณ อาจารย์ไม่แตะปล่อยให้เห็นโครงเพื่อที่จะได้รู้ว่าเมื่อก่อนเขาทำกันอย่างไร เป็นไม้ปั้นกับรักผสมถ่านบด ตัวโครงเป็นไม้กระบอก ต่างจากหุ่นของเรามาทำเป็นวัสดุพีวีซีตั้งแต่เรื่องสามก๊กเพราะมอดไม่กิน หุ่นตะเลงพ่ายโครงเป็นพีวีซีหมดเช่นกัน” ในตู้นิทรรศการห้องด้านในจัดแสดงแม่พิมพ์ต้นแบบตะเลงพ่ายให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงกรรมวิธีการทำหุ่น

เราถามถึงที่มาของหุ่นกระบอกชุดตะเลงพ่าย ซึ่งคุณวัลลภิศร์ เป็นผู้ประพันธ์บทหุ่น เมื่อปี 2532 ว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร

20180820212630349

“เป็นเรื่องประหลาด” คุณวัลลภิศร์ กล่าว

“หลังจากที่เราเล่นเรื่องสามก๊กเมื่อปี 2532เสร็จ อาจารย์จัดงานเลี้ยงขอบคุณกันที่บ้านหลังนี้ทำก๋วยเตี๋ยวกินกัน ครูบุญยงค์ เกตุคง ท่านก็บอกกับผมว่า ต๋อง (วัลลภิศร์) ทำบทหุ่นใหม่ให้เล่นหน่อย ไม่อยากได้ค่าตัวนะแต่ว่ามันสนุกอยากเล่นด้วยกันอีก เพราะสามก๊กประสบความสำเร็จคนมาดูมาก ครูก็สนุกมีความสุข

ผมก็บอกว่าครูผมยังไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีเพราะว่าสามก๊กประสบความสำเร็จมาก ถ้าทำใหม่แล้วมันไม่ดีก็ไม่ควร นั่งๆอยู่คนตีตะโพนชื่อจ่าประยงค์ กิตติเทศ เราเรียกแกว่าจ่าไก่ แกบอกว่าทำเรื่องตะเลงพ่ายสิ ผมว่าสนุกนะมีภาษามอญพม่า แกบอก

ผมก็ลืมนึกเรื่องนี้ไปเลยเพราะผมชอบเรื่องละเลงพ่ายอยู่แล้ว โดยเฉพาะพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผมก็รับปาก มาเริ่มแต่งใหม่มาเป็นกลอนแปด แต่งเสร็จท่านก็บรรจุเพลงไว้ให้ จนครูล้มหายตายจากเราก็เริ่มซ้อม มีหนังสือมาสัมภาษณ์ผมก็พูดแบบนี้ จ่าไก่แกก็ไปอ่านเจอแล้วบอกว่าถามจริงๆเถอะผมพูดเหรอ ที่ว่าให้ทำเรื่องตะเลงพ่าย

ผมบอกว่าพูด อาจารย์ก็ได้ยิน แกบอกว่าไม่รู้จักเรื่องตะเลงพ่าย ไม่เคยอ่าน

ผมว่ามีสิ่งดลใจให้ผมทำขึ้นมา เพราะในระหว่างที่ทำบทผมก็ไม่รู้ยังไงชูพระสุพรรณกัลยาท่านเป็นนางเอก ผมรู้สึกว่าท่านเป็นวีรสตรีที่ไม่มีอนุสาวรีย์ ท่านเสียสละชีวิตไป บางทีนักประวัติศาสตร์โบราณมองวีรบุรุษแค่คนกำอาวุธ ผมว่าคนที่เสียสละชีวิตทั้งที่รบไม่เป็นนี้ยิ่งใหญ่กว่า เพราะท่านเสียสละชีวิตให้น้องกลับมากู้ชาติ” คุณวัลลภิศร์ เล่าว่าในช่วงเวลาที่ซ้อมการแสดงหุ่นตะเลงพ่ายในฉากนี้ผู้ชมร้องไห้แทบทุกคน

20180904180313

อาจารย์จักรพันธุ์กับหุ่นพระสุพรรณกัลยา (ภาพ:มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต)

“หน้าหุ่นพระสุพรรณกัลยา อาจารย์ปั้นเองเขียนหน้าเอง เป็นหุ่นที่สวยที่สุด ทรงรัดเกล้าทำด้วยเงินแท้ประดับทับทิมสยาม ยิ่งได้เห็นอาจารย์เชิดพระสุพรรณฯ แล้วยิ่งเสียดาย อยากให้อาจารย์กลับมาเชิดอีก อยากให้คนไทยได้เห็นอาจารย์เชิดเพราะอาจารย์เชิดสวยมาก สุดยอดของคนเชิดหุ่นเลย”

ใครที่อยากชมหุ่นพระสุพรรณกัลยา ต้องอดใจรอสักหน่อย เนื่องจากการจัดแสดงหุ่นตะเลงพ่าย จะเรียงตามฉากในการแสดง โดยมีฉากแรกเป็นพระมหาธรรมราชานั่งเมือง แสดงภาพท้องพระโรงกรุงศรีอยุธยา โดยฉากยืนด้านหลังเป็นผืนผ้าใบขนาด 9 เมตร แสดงรูปทิวทัศน์อันประกอบด้วยภูเขาลำเนาไพร

20180820211556005

“อาจารย์เขียนเองทั้งหมด ไม่มีใครเขียนได้ ปกติฉากใหญ่ต้องรุมกันเขียนแต่ไม่มีใครกล้า อาจารย์เขียนเองหมด ใช้เวลาไม่นานนะ เพราะอาจารย์เป็นคนแม่น เขียนรูปเร็ว เขียนสดไม่มีเขียนดินสอร่าง อันนี้ใช้สีอะคริลิกเขียนสดเลย ทิวทัศน์แม่น อัศจรรย์มาก”

สำหรับหุ่นเรื่องตะเลงพ่าย ประกอบด้วยหุ่นจำนวนกว่า 200 หุ่น สร้างสรรค์แล้วเสร็จ 140 หุ่น ไม่รวมพาหนะ เช่น ช้าง ม้า นอกจากนี้มีฉากเขียนขนาดใหญ่ 5 x 8 เมตร หลายฉาก ฉากนูนต่ำ ม่านปักอย่างวิจิตรหลายผืน สีวิกา ฉากไม้ที่เป็นพระราชวังทั้งของไทยและพม่า ทั้งเครื่องประกอบฉากอีกมากที่เสร็จแล้ว ในส่วนการแสดงนั้นมีการซ้อมมาตั้งแต่ปี 2546 จนมาหยุดลงในปี 2558 เนื่องจากอาจารย์จักรพันธุ์ ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

20180816164257923

ภาพนี้อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เขียนด้วยมือซ้าย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561

“วันนี้สุขภาพอาจารย์ดีขึ้นมาก ซีกขวาเป็นอัมพาต แต่ความจำยังดี ฟังเราคุยรู้เรื่อง อ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้หมด เวลาเขียนใช้มือซ้าย แต่เขียนตัวหนังสือกลับด้านเหมือนดาวินชี่ ผมสันนิษฐานว่าดาวินชี่อาจเป็นโรคนี้ด้วยก็ได้ เขียนตัวหนังสือกลับด้าน

ตอนทำกายภาพบำบัดเขาให้เขียนหนังสือก่อนเขียนรูป แต่ผมลองให้อาจารย์เขียนรูปก่อน ปรากฏกว่าสบาย เพราะท่านเขียนรูปมาก่อนเขียนหนังสือ เขียนรูปมาตั้งแต่เล็ก รวมๆอาการดีขึ้นรับรู้ความเป็นไป สัมภาษณ์นี่บางวันตอบได้ดี โดยอาการแล้วเส้นเลือดฝอยตีบอยู่เส้นเดียวเล็กมาก แต่บังเอิญเกิดในจุดสำคัญ อาการโดยรวมไม่มีโรคอื่นๆใดเลย”

เนื่องในวันครบรอบวันเกิด 75 ปีของอาจารย์จักรพันธุ์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมาทาง มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต จึงถือเป็นฤกษ์ดีในการนำผลงานอาจารย์มาจัดแสดงหมุนเวียนสับเปลี่ยนทุกๆ 4 เดือน ณ มูลนิธิ จักรพันธุ์ โปษยกฤต(ถนนเอกมัย) เพื่อเป็นการธำรงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและสืบทอดความรู้ให้แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจจะได้รับประโยชน์จากการศึกษาผลงานบรมครู ศิลปินแห่งชาติ

เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 13.00 -16.30น.ไปจนถึง 25 ธันวาคม 2561 โดยมีค่าธรรมเนียมเข้าชม 100 บาท นักเรียน นักศึกษา 50 บาท สถาบันการศึกษาสามารถติดต่อเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อสอบถามได้ที่โทร. 0 2392 7754 ,08 7332 5467

ในส่วนของความคืบหน้าของโดยการสร้างพิพิธภัณฑ์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เพื่อการเรียนรู้ทางศิลปะ แห่งใหม่ ณ ถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2562 โดยจะเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรที่รวบรวมศิลปวัตถุสำคัญของชาติไว้ และยังมีโรงมหรสพสำหรับจัดแสดงหุ่นกระบอกด้วยระบบเวที แสง สี เสียง อย่างเต็มรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งแรกในประเทศ

ใครที่อยากจะได้ชมการแสดงหุ่นตะเลงพ่ายเต็มรูปแบบ โปรดอดใจรอ

20180820212032940

20180820212335782

20180820212341970

20180820211606089