ขอเข้าห้องน้ำได้ไหม ?

ขอเข้าห้องน้ำได้ไหม ?

จะดีกว่าไหม ถ้าใครๆ ก็เข้าถึงบริการสาธารณะพื้นฐาน แบบไม่ต้องไปร้องถามใครว่า “ขอเข้าห้องน้ำหน่อยได้ไหม”

19 พฤศจิกายนของทุกปี คือ วันส้วมโลก แต่ในทุกๆ วัน มีผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องมีปัญหากับส้วม หรือห้องน้ำสาธารณะ บางคนปวดหนักระหว่างเดินทางแต่ไม่รู้จะหาห้องน้ำตรงจุดไหน บางคนยอมออกจากสถานีรถไฟฟ้าเพื่อเดินเข้าห้างสรรพสินค้าไปทำธุระ แล้วค่อยตีตั๋วรถไฟเที่ยวใหม่

ส้วม เรื่องไม่เล็ก

ถ้าได้ลองแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนรอบตัว สำรวจความเป็นไปในโลกโซเชียล แต่ละวันเรามักจะพบเห็นความอัดอั้นที่ว่าด้วยห้องน้ำสาธารณะ เช่น ไปวิ่งที่สวนสาธารณะแล้วเกิดปวดท้อง แต่ห้องน้ำที่มีดันเสียไปครึ่งหนึ่ง หรือไปเข้าห้องน้ำตามสถานบริการน้ำมัน แล้วต้องคาใจกับเรื่องความสะอาด ปลอดภัย

สตรีวัยทำงานรายหนึ่งบอกว่า เธอต้องพกกระดาษชำระแบบเปียกติดตัวไว้เสมอ โดยมีจุดประสงค์ไว้ทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะก่อนใช้บริการโดยเฉพาะ เพราะถ้าไม่ใช่ที่บ้าน สำนักงาน ห้างสรรพสินค้าหรือโรงแรมที่ดูมีมาตรฐานหน่อย ห้องน้ำคือเรื่องที่ต้องคิดเยอะสำหรับเธอ

ส่วนหนุ่มออฟฟิศคนหนึ่งที่ดูแมนๆ ไม่เรื่องมาก แต่เอาเข้าจริงกลับบอกว่า การเป็นคนง่ายๆ สบายๆ เป็นคนละเรื่องกับการเข้าห้องน้ำที่ไหนก็ได้ เพราะห้องน้ำที่ปั้มน้ำมัน หรือห้องน้ำสาธารณะประเภทต้องชำระค่าบริการ 2-5 บาท ไม่ต่างอะไรกับการซื้อหวย เอาแน่เอานอนไม่ได้กับเรื่องอุปกรณ์และความสมบูรณ์ของสุขภัณฑ์ บางแห่งสายฉีดน้ำชำรุด บางที่กระดาษทิชชู่หมด ประตูล็อคเสีย ไม่มีที่แขวนกางเกงและสัมภาระ กระทั่งอีกจำนวนไม่น้อยมีปริมาณไม่พอใช้สำหรับผู้สัญจร เข้าไปทีไร ต้องเข้าคิวก่อนทุกครั้ง

 “ห้องน้ำปั้มน้ำมัน วัด หรือในสวนสาธารณะที่รองรับคนผ่านไปผ่านมา ส่วนใหญ่ผมว่ามันไม่ค่อยสมบูรณ์นะ เชื่อไหมว่าต้องมีอะไรเสียสักอย่างหนึ่ง อาจจะไม่มีสายฉีดน้ำ ไม่มีที่แขวนกางเกง บางแห่งยังเป็นแบบนั่งยองๆ อยู่เลย คุณลองคิดสิว่า ถ้าแต่งตัวมาจัดเต็ม ทั้งเสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว กำลังจะไปทำงานแล้วดันปวดหนักขึ้นมา มันลำบากขนาดไหน บางที่ผมยังอยากจะอั้นไว้ให้ได้นานที่สุดเพื่อไปรอเข้าที่ออฟฟิศเลยทีเดียว”

เมื่อสถานที่เล็กๆ อย่างห้องน้ำได้ซ่อนความต้องการที่ไม่ค่อยอยากจะบอกใครของผู้ใช้ไว้ มันจึงไม่แปลกถ้าจะมีใครสักคนเล่าว่า เขายอมลงทุนเข้าไปซื้อกาแฟสักแก้วหรือสั่งอาหารในร้านเพื่อแลกกับการเข้าห้องน้ำสะอาด ยอมเสียเวลาหาที่จอดรถเพื่อไปทำธุระส่วนตัวในห้างสรรพสินค้า บางกลุ่มเพื่อนเลือกร้านอาหารสำหรับพบปะสังสรรค์เพียงเพื่อเหตุผล “เพราะห้องน้ำสะอาดดี” เลยด้วยซ้ำ

ไม่กี่วันมานี้ มีภาพข่าวผู้โดยสารรถไฟฟ้ารายหนึ่ง ทิ้งธุระหนักจนเหม็นอบอวลไปทั้งขบวน ไม่มีใครเถียงหรอกว่าเรื่องแบบนี้มันสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ หากแต่คำถามที่น่าโยนไปในกรณีนี้คือ เรามีบริการสาธารณะ (Public Service) ในแต่ละจุดดีพอหรือยัง?

พัฒนาส้วม พัฒนาเมือง

ทำไมผู้คนถึงกังวลกับเรื่องเข้าห้องน้ำ ส่วนใหญ่คือเรื่องความสะอาด เชื้อโรคในห้องน้ำสาธารณะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เชื้อโรคกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และกลุ่มเชื้อที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร โดยเชื้อพวกนี้แฝงตัวในจุดต่างๆ เช่น ชักโครก อ่างล้างมือ หรือแม้กระทั่งลูกบิดประตู

ประเทศไทย โดยกรมอนามัยก็มีแผนพัฒนาส้วมสาธารณะ โดยเน้น 3 เรื่อง คือ 1. สะอาด ซึ่งจะต้องได้รับการดำเนินการให้ถูกหลักสุขาภิบาล เช่น ห้องส้วมและสุขภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น มีน้ำสะอาด สบู่ล้างมือ กระดาษชำระเพียงพอ

 2. มีจำนวนเพียงพอ (Accessibility) หมายถึง ต้องมีจำนวนส้วมให้เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ใช้ รวมถึงผู้พิการ ผู้สูงวัย หญิงมีครรภ์ และส้วมต้องพร้อมใช้งานตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ และ 3. ปลอดภัย (Safety) หมายถึง ผู้ใช้บริการจะต้องปลอดภัยขณะใช้

ทุกวันนี้เราอยู่ในแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 4 (พ.ศ. 2560 - 2564) ซึ่งส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้นและพัฒนาการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน โดยนำสิ่งปฏิกูลมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ถึงบรรทัดนี้ถ้าจะเปรียบเทียบแผนเป้าหมายกับสิ่งที่ทุกคนได้เจอมา คุณคิดว่าเป็นอย่างไร ?

เว็ปไซต์ www.data.go.th ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐเคยเผยแพร่ผลการสำรวจความพึงพอใจด้านห้องน้ำสาธารณะ ของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยระบุว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มองว่าห้องน้ำสาธารณะในประเทศไทยผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เช่นที่กรุงเทพฯ ได้คะแนนเรื่องความพร้อมใช้งาน 3.62 (เต็ม 5 คะแนน) ความสะอาด 3.44 คะแนน ความปลอดภัย 3.67 คะแนน ที่เชียงใหม่ ได้คะแนนความพร้อม 3.91 คะแนน ที่ภูเก็ต ได้คะแนนความพร้อม 3.88 คะแนน

ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวกับ‘จุดประกาย’ว่า กรุงเทพมหานครโดยสำนักอนามัยได้มีโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม รณรงค์ส่งเสริมให้มีการพัฒนาสุขลักษณะห้องน้ำสาธารณะในสถานที่ต่างๆ ให้ได้เกณฑ์มาตรฐานความด้านความสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย โดยมี 12 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ศาสนสถาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตลาดสด ร้านอาหาร โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า สถานที่ราชการ แหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สถานศึกษา สถานีขนส่ง และห้องน้ำริมทาง อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552

จนถึงปัจจุบัน ประเมินว่าห้องน้ำสาธารณะในพื้นที่รับผิดชอบของกทม.มีความพร้อม รองรับการใช้บริการกว่าร้อยละ 60 แล้ว แต่ถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆ ในต่างประเทศ ก็ยอมรับว่าในกรุงเทพฯ ยังไม่ครอบคลุมเทียบเท่า เนื่องจากการจัดสรรพื้นที่ยังเป็นปัญหา มีความขัดข้องในเรื่องการซ่อมแซม การบริหาร กลิ่น ความปลอดภัย ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาล้วนมีผลต่อการพิจารณาจัดวางห้องน้ำถาวรในพื้นที่สาธารณะ

“ถ้าพูดถึงห้องน้ำที่อยู่บริเวณทางเท้า มันมีความไม่สะดวกอยู่หลายประการ ปัญหาใหญ่สุดคือการบำรุงดูแลรักษา ความสะอาด ความปลอดภัย เพราะในพื้นที่บางแห่งยังคุมไม่ได้ จึงหลีกเลี่ยงที่จะมีการตั้งห้องน้ำสาธารณะ ที่เราควบคุมได้คือห้องน้ำในพื้นที่วัด โรงเรียน ที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ได้เลย และเราคุมโดยเฉพาะห้องน้ำในตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากเจ้าของสถานที่เป็นอย่างดี ถือเป็นการช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาสุขลักษณะของห้องน้ำสาธารณะให้ได้มาตรฐาน และในกรณีพื้นที่สำคัญ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยว งานเทศกาล หากมีการร้องขอ กทม.ก็จะจัดรถบริการสุขาเคลื่อนที่อำนวยความสะดวกได้”

Public Facilities ที่ชื่อว่า ‘ส้วม’

ห้องน้ำไม่ใช่แค่เรื่องปลดทุกข์ แต่มันยัง Public Facilities (สาธารณูปการ) แบบเดียวกับแสงไฟฟ้า ก๊อกน้ำ ตู้โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งต้องให้บริการประชาชน โดยเฉพาะสถานที่ซึ่งความหนาแน่นของประชากรสูง มีผู้สัญจรไปมา และควรจะอยู่ในจุดที่มองเห็น เข้าถึงได้ทันที โดยไม่ต้องไปบอกเจ้าหน้าที่เพื่อพูดว่า “ขอโทษครับ ขอเข้าห้องน้ำหน่อย”

ปิยา ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง บอกว่า การออกแบบและการบริหารจัดการ Public Facilities ไม่ว่าจะเป็น แสงไฟ น้ำดื่ม ตู้โทรศัพท์สาธารณะ เก้าอี้นั่งพัก ให้ทั่วถึง ปลอดภัย กระทั่งออกแบบให้มีความเท่าเทียม (Universal Design) อย่างไม่เลือกปฏิบัติ คือโจทย์หนึ่งของการพัฒนาเมือง

“มันคงไม่ใช่แค่เรื่องห้องน้ำอย่างเดียว แต่ครอบคลุมบริการพื้นฐานที่จำเป็น แสงไฟ สัญญาณอินเทอร์เน็ต จุดปฐมพยาบาล ลิฟต์ ทางลาดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งบริการเหล่านี้มันอาจไม่ได้มีจำนวนเท่ากันทั้งหมดทุกที่ เช่น ในสถานีย่อยอาจจะมีเพียง 1-2 จุด แต่ถ้าเป็นสถานีที่มีคนพลุกพล่าน เป็นจุดตัดของการเดินทางก็จำเป็นต้องมีรองรับ ทั้งในเวลาปกติและในช่วงที่อาจมีอุบัติเหตุ"

ถ้าเจาะจงเฉพาะห้องน้ำหากจะมีให้ครบทุกสถานีรถไฟฟ้า ความปลอดภัยและการดูแลรักษาน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด นักออกแบบและพัฒนาเมืองชวนคิดว่า ปัญหาดังกล่าวนี้สามารถลดความกังวลลงได้ ถ้าระบบตรวจเข้า-ออกมีประสิทธิภาพเพียงพอ เช่น หากกลัวความไม่ปลอดภัยในห้องน้ำรถไฟฟ้า ระบบสแกนเข้า-ออก ก็จำเป็นต้องเข้มงวดขึ้น หรือในกรณีที่รัฐดูแลไม่ทั่วถึง ต้องบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับเอกชนเจ้าของพื้นที่

“ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่น่าจะเป็นเคสที่ประสบความสำเร็จ ในสถานีใหญ่ๆ เราจะเห็นว่าเขามี Facilities (สิ่งอำนวยความสะดวก) ที่ค่อนข้างครอบคลุม ทั้งห้องน้ำ การให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว จุดนั่งพัก ร้านค้า ฯลฯ แต่ถ้าเป็นสถานีเล็กๆ ซึ่งเป็นสถานีเก่า เขาก็ยังไม่มีทางลาด นักท่องเที่ยวก็ต้องลากกระเป๋าลงบันไดอยู่ ทุกที่ก็มีช่องว่างอยู่ แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า ทุกเมืองก็จะปรับ เพราะหลักคือการอำนวยความสะดวกให้ทั่วถึงและเท่าเทียมด้วยความเสมอภาค”

เมืองใหญ่ทุกเมืองจึงจำเป็นต้องมีการบริการสาธารณะที่สะดวก (Convenient Public service) วางแผนให้จุดบริการกระจายในทุกพื้นที่และหลากหลายช่องทาง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างไร้อุปสรรค

จากทั้งหมดที่ว่าไป หากใครยังมองปัญหาเรื่องห้องน้ำเป็นเรื่องขำๆ ลองเสิร์ชหาประสบการณ์การอยากเข้าห้องน้ำระหว่างอยู่ในที่สาธารณะดู เช่นคำว่า “ปวดท้องบนรถไฟฟ้า” แล้วคุณจะพบกับเรื่องราวที่บอกเล่าประสบการณ์และแนวทางเพื่อรอดพ้นจากการทรมานอดกลั้น เช่นเดียวกับอินโฟกราฟิกแสดงแผนผังห้องน้ำทั้งในและนอกสถานี ที่ยังคงถูกแชร์แล้วแชร์อีก

ลองคิดว่าเป็นคุณ ถ้าปวดท้องแล้วอยากเข้าห้องน้ำแบบทันท่วงที ต้องเดินไปบอกเจ้าหน้าที่ทุกครั้งเลยเหรอว่า “ขอเข้าห้องน้ำได้ไหม”