ประเทศไทยต้องการ DOGE โดยด่วน

สหรัฐอเมริกา ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศจัดทำหน่วยงานที่เรียกว่า DOGE (Department of Government Efficiency) เพื่อแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐ โดยตั้ง อีลอน มัสก์ เป็นหัวหน้าทีมที่จะจัดการปฏิรูปครั้งใหญ่
นโยบายที่ประกาศมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2567 ก่อนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์คือ การปรับลดจำนวนข้าราชการและหันไปใช้เทคโนโลยีแทน เพื่อให้ประหยัดงบประมาณของรัฐบาลจำนวน 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 2 ปี
สัปดาห์ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ส่งอีเมลถึงพนักงานของรัฐทั้งหมด ให้ทุกคนชี้แจงว่าสัปดาห์ก่อนหน้านั้นมีผลงานอะไรบ้าง หากไม่ตอบอีเมลกลับภายใน 48 ชั่วโมงจะถือว่าพนักงานคนนั้นลาออกโดยอัตโนมัติ วิธีการแบบขุดรากถอนโคนของมัสก์ สร้างความปั่นป่วนไปทั่ว
เวียดนาม เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติลงมติรับรองแผนปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี โดยจะยุบและควบรวมหน่วยงานรัฐในระดับกระทรวง 5 กระทรวง หน่วยงานรัฐ 5 แห่ง และสถานีโทรทัศน์ของรัฐอีก 5 แห่ง
การปฏิรูปครั้งใหญ่นี้จะทำให้เกิดการเลิกจ้างข้าราชการราว 100,000 อัตรา หรือราว 20% เพราะเวียดนามตั้งเป้าให้ประเทศเติบโตทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8% ในปีนี้
และแน่นอนสิ่งที่ต้องทำอย่างหนึ่งคือ การต้องทำให้ระบบราชการของประเทศลดความเทอะทะและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเทศไทย พูดเรื่องการปฏิรูประบบราชการมานานแสนนานและคงจะพูดต่อไป แต่ไม่เคยทำได้ เพราะรัฐบาลประเทศนี้ขาดเจตจำนงที่แน่วแน่ ขาดความกล้าหาญ ปล่อยให้ระบบราชการเทอะทะใหญ่โต
มีจำนวนข้าราชการและพนักงานในปี 2566 เกินกว่า 3 ล้านคน (สำนักงาน กพ., กำลังคนภาครัฐ 2566) และต้องใช้งบประมาณของรัฐเป็นงบประจำในส่วนบุคลากรทั้งค่าจ้างเงินเดือน บำเหน็จบำนาญ เงินสมทบ เงินช่วยเหลือ และสวัสดิการ ฯลฯ รวมแล้วกว่า 40% ของงบประมาณแต่ละปี
ในขณะที่ประชาชนผู้รับบริการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและความพอใจที่ได้รับจากข้าราชการมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ควรที่ประเทศไทยจะต้องมี DOGE เพื่อปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ได้แล้ว
ในขณะที่เวียดนามกล้าหาญพอที่จะยุบกระทรวงถึง 5 กระทรวง ประเทศไทยต้องเอกซเรย์ว่ามีสักกี่กระทรวงหรือหน่วยงานที่มีผลงานที่สร้างผลกระทบและมีคุณค่ามากพอที่จะเก็บเอาไว้
ประเทศไทยมีกระทรวงทั้งหมด 20 กระทรวง (19 กระทรวงบวกสำนักนายกรัฐมนตรี) ยุบได้ 2-3 กระทรวงเป็นอย่างน้อย อย่างกระทรวงวัฒนธรรม ยุบไปอยู่กับกระทรวงศึกษาเหมือนเดิม
ยุบกระทรวงพลังงานไปรวมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ยุบกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เอางานไปควบกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอื่น นี่เป็นแนวหนึ่งที่สมควรจะทำได้ ไม่นับว่าควรยุบสำนักงาน สถาบัน และรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่ง
กองทัพ ต้องเล็กลงโดยด่วน พูดกันมาหลายทศวรรษยังไม่อาจทำได้ แค่กรรมาธิการขอตัวเลขจำนวนนายพลในกองทัพยังเป็นความลับ กองทัพเป็นเหมือนดินแดนที่ไม่สามารถแตะต้องได้ไม่ว่าจะเปลี่ยนนายกฯ หรือรัฐมนตรีไปกี่คน
การลดขนาดของกองทัพต้องทำกับทุกระดับตั้งแต่ระดับนายพลลงไปถึงทหารเกณฑ์ ทุกวันนี้มีกำลังพลเกือบ 4 แสนคน มีนายพลมากกว่า 1,000 คนที่ส่วนหนึ่งไม่ทำงานหรือไม่มีงานทำ
ทหารเกณฑ์จำนวนมากถูกเอาไปรับใช้นาย คุณนาย และครอบครัว บางคนเกษียณยังมีทหารรับใช้ไปจนนายตายแล้วยังรับใช้ไปถึงลูกหลาน
สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 กองทัพบกควรยุบ ยุบวันนี้ประชาชนไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะไม่มีใครดูแล้ว แต่ทีวีช่องนี้ยังเต็มไปด้วยญาติโยมทหาร แถมซื้ออุปกรณ์เครื่องมือตลอดเวลา จะยุบ NBT อีกช่องก็ยังได้
การปฏิรูปจะประหยัดทั้งคน งบประมาณ รวมทั้งปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน หน่วยงานอื่นๆ ทั้งองค์การมหาชน สำนักงานต่างๆ นานา ที่ขยันตั้งเพื่อให้คนของนักการเมืองหรือข้าราชการเกษียณมานั่งกินเงินเดือนสูงๆ ทั้งซ้ำซ้อนทั้งไม่มีผลงานต้องยุบเลิกให้หมด
เทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนคนได้ ตั้งแต่ AI หุ่นยนต์ IoT และระบบอัตโนมัติอื่นๆ ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องไปแบกงานและคนที่ไม่ทำงานหรือไม่จำเป็นเอาไว้อีกต่อไป
หน่วยงานจำนวนมากเลิกจ้างพนักงาน รปภ. เพราะมีเทคโนโลยีมาแทน ไม่ต้องจ้างรปภ.มานั่งหลับหรือนั่งเล่นมือถือทั้งวัน งานจำนวนมากเอาท์ซอร์สออกไป
คนที่เหลือต้อง upskill และ reskill ให้มีทักษะหลากหลายทำงานได้หลายๆ อย่างแบบ multitask มีระบบการประเมินผลงานที่เข้มข้นปราศจากการใช้เส้นสาย
การปฏิรูประบบราชการจะมาพร้อมความเจ็บปวด ซึ่งเป็นธรรมดาของการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในโลก ไม่ทำวันนี้ก็เท่ากับรอวันล่มสลาย แต่จะทำแบบอีลอน มัสก์ก็คงไม่ใช่ เสนอว่าให้รัฐบาลประกาศแผน “วาระปฏิรูป 2030”
คือนับจากนี้ไป 5 ปี ทยอยยุบหน่วยงานและลดคนในราชการให้ได้ปีละ 15-20% หรือมากกว่าทุกปีไปจนถึงปี 2030 ที่ต้องลด 30% พร้อมๆ กับลงทุนในเทคโนโลยีและตัดลดระเบียบขั้นตอนที่มีอยู่มากมาย
เพื่อให้จบ 5 ปีแล้วประเทศไทยมีระบบราชการที่กะทัดรัด เร็ว ทันสมัย คนขยันทำงาน และมีประสิทธิภาพ
พรรคการเมืองและนักการเมืองพูดกันนักว่า จะปฏิรูประบบราชการเมื่อครั้งหาเสียง เอาเข้าจริงกลับเงียบหายกันไปหมด ความกล้าหาญและวิสัยทัศน์ที่หาได้ยากจากบรรดาผู้มีอำนาจทำให้เรื่องนี้ไม่เคยคืบหน้า เพราะต่างหวาดกลัวและห่วงคะแนนเสียงจาก “พรรคข้าราชการ” ที่ใหญ่โตมีคนอยู่เกินกว่า 3 ล้านคนในวันนี้
เขียนบทความนี้ยังไม่ทันจบก็เห็นรายงานข่าวนักการเมืองแทนที่จะลดกลับจะเพิ่มหน่วยงานขึ้นมาอีก "สำนักงานเศรษฐกิจสุขภาพ" กำลังจะโผล่ขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุข บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าหรือประเทศนี้จะต้องการทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ และอีลอน มัสก์.