รู้จัก ‘สงครามลูกผสม’ รัสเซียเล่นงานยูเครน 8 ปี

รู้จัก ‘สงครามลูกผสม’ รัสเซียเล่นงานยูเครน 8 ปี

สหรัฐประกาศมาหลายสัปดาห์แล้วว่ารัสเซียจะบุกยูเครนในเร็วๆ นี้ หลังจากส่งทหารเข้าประชิดชายแดนมากขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าสหรัฐตื่นตระหนกเกินเหตุ แท้จริงแล้วรัสเซียทำสงครามลูกผสมกับยูเครนมาตลอดแปดปี

การที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ตัดสินใจยอมรับสถานะของภูมิภาคโดเนตสก์ และลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของยูเครน และประชาชนใช้ภาษารัสเซียในการสื่อสาร ว่าเป็นรัฐอิสระ พร้อมสั่งการให้กองทัพรัสเซีย เริ่มปฏิบัติการ “รักษาสันติภาพ” ในแคว้นดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของสงครามลูกผสม (Hybrid warfare) ที่ทำกับยูเครนมาโดยตลอด เว็บไซต์ dw.com ของเยอรมนี รายงานเมื่อวันก่อนว่า  การเดินหน้าบ่อนทำลายเสถียรภาพของยูเครน รัสเซียไม่ได้พึ่งพาสงครามด้วยวิธีเดิมๆ อีกแล้ว คราวนี้ใช้สงครามลูกผสม ทั้งใช้ทหารรับจ้าง โจมตีไซเบอร์ บิดเบือนข้อมูลอย่างมีเป้าหมาย

แค่สัปดาห์ก่อนเพียงสัปดาห์เดียวยูเครนเกิดการโจมตีไซเบอร์อย่างไม่เคยมีมาก่อนกับกระทรวงกลาโหมและธนาคารใหญ่สองแห่งคือ Privat Bank และ JSC Oschadbank เล่นเอาลูกค้าทั่วไป และระบบธนาคารออนไลน์ได้รับผลกระทบทั้งหมด

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นสอดคล้องกับรายงานข่าวจากแนวหน้าทางภาคตะวันออกของยูเครนที่ว่า เกิดการปะทะกันอย่างเข้มข้นระหว่างกลุ่มกบฏลูฮันสก์และโดเนตสก์ที่รัสเซียสนับสนุนกับกองทัพยูเครน ส่วนในสภารัสเซียขณะนั้นก็ใกล้รับรองการประกาศตนเป็นรัฐเอกราชของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยูเครนเต็มที

ทั้งหมดนี้คือ ตัวอย่างบางส่วนของสงครามลูกผสมที่รัสเซียทำกับยูเครนมาแปดปีแล้ว

มาร์กาเร็ต ไคลน์ นักวิจัยจากสถาบันเพื่อความมั่นคงเยอรมนี (เอสดับเบิลยูพี) ในกรุงเบอร์ลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรปตะวันออกกล่าวกับ DW ว่า พึงรำลึกไว้เสมอว่าวิธีการที่ไม่ใช่การทหารคือ หัวใจสำคัญของสงครามลูกผสม

ด้านสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยรับเชิญ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ The Nation ขยายความเพิ่มเติมว่า สงครามไฮบริดทำเพื่อจำกัดวงสงคราม ควบคุมยุทธศาสตร์ได้ ซึ่งยุทธศาสตร์ของรัสเซียคือต้องการมีอิทธิพลเหนือชายแดนยุโรปตะวันออก และยูเครน แต่ไม่พร้อมที่จะทำสงครามเต็มรูปแบบกับกลุ่มพันธมิตรนาโต จึงใช้วิธีไฮบริดผสมกันหลายอย่าง ทั้งการทูต ข้อมูลข่าวสาร ขยายอิทธิพลทางการเมืองซึ่งจะบรรลุเป้าหมายได้ง่ายกว่า

"ถ้าทำสงครามเต็มรูปแบบรัสเซียสูญเสียเยอะ นาโตเองก็ไม่พร้อมที่จะบุกตะลุย ทุกคนต่างอยากขยายแนวอิทธิพลทางการเมืองเพื่อความมั่นคงตามแนวชายแดนมากกว่าจะก่อสงครามจริงๆ เพราะสงครามเดิมต้นทุนสูง ทั้งรัสเซีย และอเมริกามีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับการยึดดินแดนอยู่แล้ว เช่น การยึดครองอัฟกานิสถานรัสเซีย 10 ปี  อเมริกา 20 ปี สุดท้ายต้องถอยด้วยกันทั้งคู่ให้ตาลีบันครอง" นักวิจัยรับเชิญ กล่าวและว่าตามยุทธศาสตร์รัสเซียต้องบุกระดับหนึ่งหรือแสดงให้เห็นว่าจะบุกเพื่อสร้างอำนาจต่อรองก่อนเปิดการเจรจา แต่ตอนนี้ความชอบธรรมในการบุกยังมีไม่มาก การรับรองสองแคว้นถือเป็นการป้องปราม จนกว่าฝ่ายกบฏก่อเหตุแล้วรัฐบาลยูเครนใช้กำลังปราบ รัสเซียจึงจะถือว่าเป็นการชอบธรรมในการบุก

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์