เวิลด์แบงก์เตือนหนี้สูงฉุดแผนฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

เวิลด์แบงก์เตือนหนี้สูงฉุดแผนฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ล่าสุด ประธานเวิลด์แบงก์ ระบุว่า ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงเกินไปของหลายประเทศที่มีรายได้ต่ำจะเป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม

“เดวิด มัลพาสส์” ประธานธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แก่นิกเคอิ เอเชียว่า หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำกำลังทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเตือนว่า การปล่อยกู้ให้แก่บรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายควรดำเนินการด้วยความโปร่งใส

คำกล่าวของมัลพาสส์เล็งเป้าไปที่การทำข้อตกลงที่ไม่เปิดเผยในการทำสัญญาเงินกู้จากประเทศต่างๆ เช่นจีน โดยมองว่าการทำสัญญากันแบบลับๆ อาจบิดเบือนกระบวนการการทำสัญญากู้เงิน 

ข้อมูลจากเอดดาตา (AidData) ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี (William & Mary) ในรัฐเวอร์จิเนีย ของสหรัฐระบุว่า ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา จีนปล่อยกู้ให้ 165 ประเทศ คิดเป็น 8.43 แสนล้านดอลลาร์  โดยเงินส่วนใหญ่ไปอยู่กับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ)ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2556

แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกังวลกันว่า ประชาชนในประเทศที่กู้เงินดอกเบี้ยสูงจากรัฐบาลเพื่อทำโครงการที่อยู่ในบีอาร์ไอกลับไม่รู้ว่ารัฐบาลประเทศตัวเองไปทำข้อตกลงอะไรกับจีนไว้ และประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้มหาศาล

ในส่วนของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและในอนาคตนั้น ประธานธนาคารโลกบอกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวและคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 5% 

อีกทั้ง การขยายตัวของเศรษฐกิจยังคงไม่เท่าเทียมกัน ชาติเศรษฐกิจก้าวหน้ามีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดี แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวหรือมีการฟื้นตัวแต่อยู่ในอัตราที่ต่ำ

ยกตัวอย่างเช่น ในแง่ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ต่อหัวประชากรนั้น ชาติเศรษฐกิจก้าวหน้ามีจีดีพีต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้น 5% ขณะที่ประเทศรายได้ต่ำเพิ่มขึ้นแค่ 0.5%  ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ธนาคารโลกรู้สึกกังวลอย่างมาก     

นอกจากนี้ มัลพาสส์ ยังมีความเห็นว่า หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงในอนาคตที่ทุกประเทศควรให้ความสนใจคือ อัตราเงินเฟ้อ ประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะไม่สามารถปกป้องตนเองจากปัญหาเงินเฟ้อได้  

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นปัญหาท้าทายสำหรับประชากรในประเทศกำลังพัฒนา  เมื่อสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อ 5 ปีก่อนก็ทำให้บรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างมาก และสร้างความเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมาจนถึงทุกวันนี้   

ปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างคือ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะบรรดาประเทศยากจนในแอฟริกา จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในความพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ขณะที่ช่องว่างของอัตราการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในแต่ละประเทศก็นำไปสู่ช่องว่างในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน  

กล่าวคือ การฉีดวัคซีนที่ล่าช้าในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยืดเยื้อยาวนานยิ่งขึ้น  ยิ่งตอนนี้ โควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกกำลังสร้างภาระให้แก่เศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง

ประธานธนาคารโลก กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้จัดสรรเงินให้กว่า 60 ประเทศเพื่อให้นำไปใช้ในโครงการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน และไม่ใช่แค่การซื้อวัคซีนเท่านั้น แต่ยังจัดหาวัคซีนให้ด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องจัดส่งวัคซีนให้แก่ประเทศเป้าหมายในเวลาอันรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)และองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ)และองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ประชุมร่วมกันเป็นประจำมาตั้งแต่เดือนก.ค.เพื่อกระตุ้นให้มีการฉีดวัคซีน

โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านนี้โดยตรงที่มาจากหน่วยงานทั้งสี่และมีมัลพาสส์เป็นประธาน กำลังทำงานเพื่อค้นหาว่าอะไรคือ อุปสรรคสำคัญในการสกัดกั้นการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงประชากรทั่วโลก

สำหรับประเด็นหนี้สาธารณะ มัลพาสส์ ขยายความว่า ตอนนี้หนี้สาธารณะของประเทศรายได้ต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 860,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12% ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นภาระที่หนักอึ้งมาก

และปัญหานี้ไม่ได้สร้างความเสี่ยงในเรื่องของการจ่ายคืนหนี้ตรงตามกำหนดหรือไม่แค่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้บรรดานักลงทุนส่วนใหญ่ไม่อยากนำเงินมาลงทุนในชาติเศรษฐกิจที่แบกหนี้ปริมาณสูง 

มัลพาสส์ เรียกร้องให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 20 ประเทศ(จี20)จัดทำข้อริเริ่มระงับการชำระหนี้ให้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศเหล่านี้ระงับการจ่ายคืนหนี้  ยกตัวอย่างประเทศชาด และแซมเบีย

การให้สัมภาษณ์ของประธานธนาคารโลกครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 5.6% ในปีนี้ สูงกว่าระดับ 4.1% ที่คาดการณ์ในเดือนม.ค.

ธนาคารโลกระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ เป็นการดีดตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 80 ปีจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมทั้งการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน

แต่ธนาคารโลกก็เตือนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่เท่าเทียมกัน โดยเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนายังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อันเนื่องจากปัญหาการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 5% ในปีหน้า จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% หากประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 6.8% ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 3.5%

และคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 4.2% ในปีนี้ จากเดิมที่ระดับ 3.6% และคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.4% จากเดิมที่ระดับ 3.4%

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์