ส่องความสำเร็จ ประเทศใน ‘อาเซียน’ ปรับตัวอยู่ร่วมโควิด-19

ส่องความสำเร็จ ประเทศใน ‘อาเซียน’ ปรับตัวอยู่ร่วมโควิด-19

ประวัติศาสตร์สงครามทางการทหาร มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย สะท้อนถึงแนวโน้มความแข็งแกร่งของมนุษย์ ขณะที่การทำสงครามกับโควิด-19 แตกต่างกันอย่างมากกับการทำสงครามทางการทหาร เพราะได้แสดงจุดอ่อนของมนุษย์ที่ไวรัสมุ่งเป้าโจมตี

เว็บไซต์ชาแนล นิวส์เอเชีย รายงานบทวิเคราะห์ของ “ชอย ชิง ก๊วก” ผู้อำนวยการสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ของสิงคโปร์ว่า สงครามโควิด-19 เป็นการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง เพราะศัตรูคือ ไวรัสโควิด-19 และการระบาดโรคได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา 

สายพันธุ์เดลตาแพร่เชื้อและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต มากกว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดังเดิม โดยทั้งสองสายพันธุ์มีความแตกต่างจากโรคซาร์ส ไข้หวัดนก และอีโบลา ที่เคยระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนหน้านี้ 

ขณะที่เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้รับมือกับไวรัส ทั้งชุดตรวจวินิฉัยโรค แนวทางการรักษา วัคซีน และยารักษาโรคได้ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ก็เช่นเดียวกับความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 การแบ่งปันผลการศึกษาทางแพทย์ก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว 

การพัฒนากลยุทธ์รับมือโควิด-19 

ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป กลยุทธ์เพื่อจัดการกับโรคโควิด-19 ก็ต้องมีวิวัฒนาการเช่นกัน ในช่วงแรกกลยุทธ์ที่เหมาะสมคือการกักตัว ห้ามเดินทาง การควบคุมชายแดน เป็นต้น

เมื่อแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ถูกทำลายลง ก็ได้เห็นการแข่งขันระหว่างการป้องกันโรค กับการขยายพื้นที่ของไวรัส ทำให้ต้องมีการชะลอการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ผ่านมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และการล็อกดาวน์

หลังการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งาน ก็ได้เห็นการแข่งขันฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในแต่ละประเทศ และชัดเจนแล้วว่า แม้การฉีดวัคซีนจะมีอัตราที่สูง แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการแพร่กระจายสายพันธุ์เดลตาในเมืองที่หนาแน่น เว้นแต่การสร้างภูมิคุ้มกันระดับประเทศ

ช่วงแรกการฉีดวัคซีนมุ่งลดเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิตจากการติดเชื้อ แต่ระยะหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 มุ่งเปิดเศรษฐกิจประเทศ ควบคู่กับใช้ชีวิตร่วมกับกับไวรัสในระดับที่ระบบการแพทย์สาธารณสุขสามารถรับมือได้

 

กลยุทธ์แบบผสมผสาน หนทางสำเร็จดีที่สุด

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างประสบความเร็จในเรื่องการปรับตัวแต่ละด้าน เมื่อต้นปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เวียดนามโดดเด่นอย่างมาก ในเรื่องการควบคุมพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ที่มีผู้ป่วยในท้องถิ่นปรากฏขึ้น เพราะมีบทเรียนจากโรคซาร์ส 

มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปสกินส์ รายงานข้อมูลการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในเวียดนาม ขณะนี้ เพิ่มเป็น 21.31 ต่อ 100,000 คน

ส่วนสิงคโปร์ ในเวลาที่ผ่านมาการกระจายไวรัสโควิดเกิดอย่างรวดเร็วเหมือนไฟป่าในหอพักแรงงานต่างด้าว แต่ก็สามารถเอาชนะและควบคุมการแพร่ระบาดนี้ไว้ได้ มาจนกระทั่งเมื่อมีวัคซีนโควิด สิงคโปร์ก็เปลี่ยนกลยุทธ์เพิ่มอัตราการฉีดให้ตรงตามเป้าหมาย โดยปัจจุบันสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศ "ฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลก" ขณะที่สื่อต่างชาติบางแห่งวิพากษ์วิจารณ์สิงคโปร์ว่า ระมัดระวังกับการเปิดประเทศมากเกินไป 

 

ส่องความสำเร็จ ประเทศใน ‘อาเซียน’ ปรับตัวอยู่ร่วมโควิด-19

หากแต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลอัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน ณ วันที่ 12 ต.ค. ของประเทศที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง เช่น สวีเดน (144.91) หรืออิสราเอล (87.48) สูงกว่าประเทศสิงคโปร์ (2.84) ถึงสิบเท่า  

แม้แต่ประเทศที่พยายามล็อกดาวน์ด้วยการควบคุมการเดินทาง เช่น เดนมาร์ก ก็มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่ 45.90 เนื่องจากการดำเนินมาตรการที่ช้ากว่าและมีประสิทธิภาพน้อยกว่า ช่องว่างอัตราการเสียชีวิตนี้จะแคบลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้าเนื่องจากสิงคโปร์เปิดประเทศอีกครั้ง แต่ไม่น่าจะเต็มรูปแบบ

ถัดมาที่บรูไนทำได้ดีก่อนหน้าการระบาดสายพันธุ์เดลตา แต่แล้วก็สูญเสียพื้นที่ควบคุมอย่างมีนัยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต 64 รายในกลุ่มประชากรขนาดเล็ก หรือเพิ่มขึ้นเป็น 14.77 ต่อประชากร 100,000 ราย

 

ทำนองเดียวกัน กัมพูชา ซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงแรกกับการฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชนวัยหนุ่มสาว แต่ก็ต้องเสียท่าให้กับสายพันธุ์เดลตาทำให้มีอัตราการเสียชีวิตที่ 15.20 ต่อ 100,000 ราย

มีเพียงลาวที่ได้รับผลกระทบจากเดลต้าน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยสามารถรักษาอัตราการเสียชีวิตไว้ที่ 0.36 ต่อ 100,000 คน

ส่วนประเทศไทยและมาเลเซีย จัดอยู่ในกลุ่มประเทศกลางๆ ที่สามารถรับมือกับโควิด-19 โดยไทยเริ่มโครงการฉีดวัคซีนได้ช้า เนื่องจากปัญหาการจัดหาวัคซีน ถึงแม้ประชาชนจำนวนมากจะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังล้าหลัง โดยได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน 33% จนถึงปัจจุบัน และ 50% ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส ขณะที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเนื่องจากสายพันธุ์เดลตา แต่ความสามารถในการเข้าถึงระบบการรักษาและระบบการแพทย์สาธารณสุขที่แข็งแกร่งสามารถคงอัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างต่ำ 25.41 ต่อ 100,000 คน 

ในทางกลับกัน มาเลเซีย มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก อยู่ที่ 85.54 ต่อ 100, 000 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในภูมิภาค เนื่องจากถูกสายพันธุ์เดลตาโจมตี ซึ่งทางการเมืองในประเทศ ทำให้การดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขไม่ต่อเนื่อง

ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเป็นประเทศในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในปี 2563 แต่ยังอยู่ในสภาพที่ดีกว่าหลายประเทศนอกภูมิภาคในขณะนั้น 

แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่า ฟิลิปปินส์จะรักษาสถานการณ์ไว้คงที่หรือไม่ เพราะขณะนี้ฟิลิปปินส์ประสบปัญหาฉีดวัคซีนให้เพียงพอกับระดับสร้างภูมิคุ้มกัน และขณะนี้มีอัตราการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการที่ 36.65 ต่อ 100,000 คน

ขณะที่อินโดนีเซีย ในช่วงเวลาที่จำนวนผู้ป่วยรายวันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องดำเนินการหลายอย่างในระดับท้องถิ่นและแรงผลักดันของการฉีดวัคซีน ในขณะนี้มีรายงานอัตราการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการเพียง 52.71 ต่อ 100,000 คน 

หลายคนเชื่อว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการของทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียถูกประเมินต่ำอย่างมีนัยสำคัญ โดย The Economist กำหนดตัวเลขที่เป็นไปได้ระดับที่สูงในฟิลิปปินส์อยู่ที่ 83 - 210 ต่อ 100,000 คน และอินโดนีเซีย อยู่ที่ 110 - 410 ต่อ 100,000 คน 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเมียนมาถูกบดบังด้วยสถานการณ์การเมืองที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้วิเคราะห์แนวโน้มการอยู่ร่วมโควิดที่เป็นไปได้ยาก

ขณะนี้ การเปิดประเทศกำลังเกิดขึ้นในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะอยู่นานแค่ไหน และที่แน่ๆ ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า จะมีสายพันธุ์ใหม่ที่ร้ายแรงกว่า ทำให้จำเป็นต้องคิดหากลยุทธ์ใหม่มารับมือครั้งใหม่และอาจสร้างโปรแกรมการฉีดวัคซีนที่จำเป็นขึ้นด้วย

ผ.อ.สถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ชี้ว่า ประเทศจะผ่านพ้นสงครามโควิดได้นั้น ต้องอาศัยผู้นำในรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความคิดที่ฉับไว และยืดหยุ่นให้ทันเกม เพื่อปรับตัวให้อยู่รอด หลังสงครามโควิด-19