วารสารการแพทย์กว่า200ฉบับเตือนอากาศเปลี่ยนหนุนโควิดระบาดหนัก

วารสารการแพทย์กว่า200ฉบับเตือนอากาศเปลี่ยนหนุนโควิดระบาดหนัก

วารสารการแพทย์กว่า 220 ฉบับร่วมเผยแพร่บทบรรณาธิการร่วมเตือนว่าความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพสาธารณะของโลก และจะทำให้โควิดระบาดหนัก

กลุ่มพันธมิตรด้านสุขภาพสหราชอาณาจักรว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ UK Health Alliance on Climate Change (ยูเคเอชเอซีซี)ระบุว่า เป็นครั้งแรกที่บทบรรณาธิการที่ตีพิมพ์โดยวารสารการแพทย์หลายร้อยฉบับมีจุดยืนในเรื่องเดียวกัน

“ถือเป็นความแข็งแกร่งของเหล่าผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพทั่วโลกที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับภัยคุกคามจากสภาพอากาศเปลี่ยนต่อสุขภาพของผู้คน”ลอรี  เลย์เบิร์น-แลงตัน ที่ปรึกษาอาวุโสจากยูเคเอชเอซีซี  หนึ่งในกลุ่มผู้เขียนบทบรรณาธิการ กล่าว

 บทบรรณาธิการร่วมยังเตือนว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการติดเชื้อ เกิดภาวะขาดน้ำหรือแม้แต่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตขั้นรุนแรง 

 “ความเสียหายทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า รวมถึง ที่อยู่อาศัยและสายพันธุ์ต่างๆ ปัญหาการกัดเซาะของน้ำ ความมั่นคงด้านอาหารและโอกาสที่การระบาดของโรคโควิด-19จะเพิ่มขึ้น”บทบรรณาธิการร่วม ระบุ

 บทบรรณาธิการร่วมนี้ยังอ้างถึงรายงานจากโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ(ยูเอ็นอีพี)ที่ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นตัวแปรหนึ่งทำให้เกิดโรคติดเชื้อเช่น การเพิ่มขึ้นของปริมาณยุง ทั้งยังส่งผลทำให้สายพันธุ์ต่างๆเพิ่มขึ้น อาทิ ค้างคาว ซึ่งบ่อยครั้งมักเป็นต้นกำเนิดของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และที่ผ่านมา มีโรคติดเชื้อใหม่ๆเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเขตร้อนชื้น

 บทบรรณาธิการร่วมนี้เขียนจากบรรณาธิการวารสารการแพทย์ชั้นนำกว่า200 ฉบับรวมถึง เดอะ แลนเซ็ต เดอะ บริติช เมดิคัล เจอร์นัล และเนชั่นแนล เมดิคัล เจอร์นัล ออฟ อินเดีย โครงการนี้ดำเนินการโดยยูเคเอชเอซีซี ซึ่งติดต่อไปยังวารสารต่างๆทั่วโลก รวมถึงThe Chinese Science Bulletin             

การเขียนบทบรรณาธิการร่วมนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศต่างๆลงทุนมหาศาลเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านมาตรการต่างๆตั้งแต่ปีที่แล้ว 

“แม้ทั่วโลกจำเป็นต้องเร่งรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 แต่เราไม่สามารถรอให้การระบาดของโควิด-19ผ่านพ้นไปแล้วจึงหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเวลาอันรวดเร็วได้”บทบรรณาธิการร่วมระบุ 

พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆแสดงออกถึงพันธกิจมากกว่านี้ในการประชุมความหลากหลายด้านชีวภาพของยูเอ็นที่คุนหมิง ประเทศจีนและการหารือเรื่องสภาพอากาศที่รู้จักกันในชื่อ COP26 ที่จะจัดขึ้นในเมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ในเดือนพ.ย.

ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศต่าง ๆ ต้องตอบว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือการไม่ปล่อยก๊าชเรือนกระจกไปมากกว่าที่สามารถกำจัดได้ ภายในปี 2593  ซึ่งการเผาพลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นปัจจัยหลัก ดังนั้นกระบวนการที่ต้องทำจึงประกอบไปด้วย การหยุดใช้พลังงานถ่านหิน หยุดตัดไม้ทำลายป่า เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการลงทุนในการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

บทบรรณาธิการ ยังเสนอแนะว่าเป้าหมายของทั่วโลกที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออ็กไซด์เป็นศูนย์เปอร์เซนต์ภายในกลางศตวรรษนี้ไม่ได้มีการสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์อย่างเพียงพอ "ประเทศที่มีฐานะร่ำรวยกว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ตามเป้าให้เร็วกว่า และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ให้ได้ศูนย์เปอร์เซนต์ก่อนปี 2593 และจะต้องดำเนินการรับมือกับความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

"รัฐบาลประเทศต่างๆต้องเข้ามาแทรกแซงและลงทุนเป็นเงินมหาศาล เพราะกลยุทธ์ที่ทุกประเทศใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและตลาดต่างๆเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นยังไม่เพียงพอ”บทบรรณาธิการ ระบุ