'EV Hackathon'เยอรมนีหนุนไทย ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเอเชีย

'EV Hackathon'เยอรมนีหนุนไทย ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเอเชีย

'EV Hackathon'เยอรมนีหนุนไทยนั่งแท่นยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเอเชีย ขณะที่ไทยและเยอรมนีมีความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ ด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ปีนี้ครบรอบ 160 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเยอรมนี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2405 หลังการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการลงทุน ที่เรียกว่า สนธิสัญญาออยเลนบวร์ก ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับจักรวรรดิปรัสเซีย  

ปัจจุบัน เยอรมนีได้กลายเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และมีพลวัติต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ ไทยและเยอรมนีมีความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ ด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ในโอกาสการเฉลิมฉลองการครบรอบความสัมพันธ์ 160 ปี กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย จะจัดกิจกรรม “การแข่งขันความคิดสร้างสรรค์สำหรับการคมนาคมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”หรือ “EV Hackathon: Future EV Mobility Creative Contest for Sustainability #EV4Sustain”

การแข่งขัน EV Hackathon มุ่งสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการประกวดความคิดและสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมไปประยุกต์ใช้และต่อยอดได้ในอนาคต
 

การจัดแข่งขันครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชนชั้นนำ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท บีเอ็มดับเบิ้ลยู กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เมอร์เซเดส เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

มีหัวข้อของการแข่งขันครั้งนี้ คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) เป็นไปตามหัวข้อหลักของการเฉลิมฉลองการครบรอบความสัมพันธ์ในปีนี้ ที่มุ่งขับเคลื่อนแนวคิด “พันธมิตรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน”

หรือ “Partners for Sustainable Growth” ให้มีผลเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่เยอรมนีมีความเชี่ยวชาญ และจะเป็นประโยชน์สำหรับไทยที่จะพัฒนาและเรียนรู้ความทันสมัยในเทคโนโลยีของเยอรมนี เพื่อสนับสนุนบทบาทของไทยที่จะก้าวไปสู่ “ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเอเชีย”

กิจกรรม “การแข่งขันความคิดสร้างสรรค์สำหรับการคมนาคมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จะจัดขึ้นระหว่างเดือนมิ.ย. – ส.ค. 2565  โดยเปิดให้นักศึกษาอายุ 18-35 ปีเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์และส่งผลงานเข้าประกวด โดยทีมที่ได้รับคัดเลือก 8 ทีม ทีมละ 3 คน จะเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ EV Hackathon 24 ชั่วโมงที่ มจพ. ในวันที่ 27 – 28 ส.ค. 2565  เพื่อชิงรางวัลเงินสดรวม 250,000 บาท

สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีหวังว่า กิจกรรมครั้งนี้จะสนับสนุนประเทศไทย ตามนโยบาย 30/30ของรัฐบาล ที่ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30%ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030

ขณะดียวกัน การแข่งขันยังสอดคล้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของทั้งสองประเทศ ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ของไทย และนโยบาย Energy Transition and Climate Change ของเยอรมนี