นักเศรษฐศาสตร์เตือนเศรษฐกิจโลกไม่ถดถอยแต่เติบโตต่ำ

นักเศรษฐศาสตร์เตือนเศรษฐกิจโลกไม่ถดถอยแต่เติบโตต่ำ

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆและอัตราเงินเฟ้อในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ แถมเศรษฐกิจจีนลดความร้อนแรงลง ทำให้เกิดคำถามว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ หาคำตอบได้จากมุมมองของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ

“ไซมอน  แบปติสต์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โลกจากอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู)มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า  เมื่อสงครามในยูเครนและความปั่นป่วนจากการระบาดของโรคโควิด-19 ยังเดินหน้าทำลายระบบซัพพลายเชนของโลกอย่างต่อเนื่อง ภาวะ stagflation ก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ สังเกตได้จากการที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อสูง โดยคาดว่าจะอยู่ในภาวะแบบนี้เป็นเวลาอีก 12 เดือนเป็นอย่างน้อย

“ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะเริ่มปรับตัวลงตั้งแต่ไตรมาสหน้าแต่จะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดสงครามในยูเครนจากสาเหตุที่รัสเซียเป็นแหล่งผลิตสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดแก่ตลาดโลก”แบปติสต์ กล่าวเพิ่มเติม

การระบาดของโรคโควิด-19 และการทำสงครามในยูเครนสร้างความปั่นป่วนแก่ระบบซัพพลายของสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าประเภทต่างๆ รวมทั้งบั่นทอนประสิทธิภาพของการกระจายสินค้าผ่านระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก กดดันให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งเชื้อเพลิงและอาหาร
 

แต่ขณะที่ราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสร้างผลกระทบต่อภาคครัวเรือน การเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคของโลกจะชะลอตัวลงแต่ยังคงเติบโตต่อไปได้และตลาดแรงงานไม่ล่มสลาย โดยอัตราว่างงานในหลายประเทศอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ

เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาผู้บริโภคที่กังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่มีสาเหตุมาจากปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐเมื่อ10ปีที่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเตรียมตั้งรับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอีกในครั้งนี้

“สำหรับเศรษฐกิจในเอเชีย แทบไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดภาวะถดถอย ถ้าเรากำลังพูดถึงการติดลบของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ติดต่อกันสองไตรมาส”เบปติสต์ กล่าวในรายการสตรีท ไซจน์ ของซีเอ็นบีซี เมื่อวันพฤหัสบดี(26พ.ค.)

นักเศรษฐศาสตร์จากอีไอยูรายนี้ยังกล่าวด้วยว่า แม้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถดถอย ผู้บริโภคจำนวนมากยังมีการออมที่มากพอและมีสินค้าคงทนสำหรับครัวเรือนในสต็อกจำนวนมาก

ด้าน“เชน โอลิเวอร์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเอเอ็มพี แคปิตัล มีความเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงขั้นถดถอยเช่นกัน อย่างน้อยก็ในช่วง 18เดือนข้างหน้า

โอลิเวอร์ระบุในรายงานว่า “ช่องว่างระหว่างบอนด์ยีลด์ระยะยาวและอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นยังไม่ได้บ่งชี้หรือเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยและหากมีสิ่งบ่งชี้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างน้อยก็อีก18เดือนข้างหน้า”

นักเศรษฐศาสตร์จากเอเอ็มพี แคปิตัลยังมองแง่ดีว่าสหรัฐและออสเตรเลียจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะตลาดหมี หรือตลาดหุ้นช่วงขาลงอย่างหนักได้ 

ขณะเดียวกัน บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยเมื่อวันที่ 3-4 พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ได้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่แรงที่สุดในรอบ 22 ปี

ขณะที่รายงานการประชุมมินิทส์จากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด ประจำเดือนพ.ค. ซึ่งปิดฉากด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กล่าวมาข้างต้นบ่งชี้ว่า คณะกรมการคิดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในการประชุมเดือนมิ.ย.และก.ค. ที่กำลังมาถึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม

เมื่อวันที่25พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 2.0% ถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดเงินเฟ้อ

“ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงขึ้น และรวดเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อลดความเสี่ยงของเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันธนาคารกลางจะดำเนินนโยบายการเงินที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลก” RBNZ ระบุในแถลงการณ์

การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของนิวซีแลนด์อยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. ปี2559 โดย RBNZ ถือเป็นธนาคารกลางในระดับต้นๆ ของโลกที่ยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ที่เคยนำมาใช้ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด
อย่างไรก็ตาม บรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็มองว่าการควบคุมเงินเฟ้อของหลายประเทศมีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่ง Stagflation เป็นภาวะที่ยากจะควบคุมเพราะการควบคุมราคาสินค้าแพงในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นอาจจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง

"ยิ่งอัตราเงินเฟ้อทะยานขึ้นนานเท่าใดยิ่งสร้างความวิตกกังวลแก่บรรดานักลงทุนในตลาดต่างๆมากขึ้น และธนาคารกลางประเทศต่างๆก็จะไม่สามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ขณะที่เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดก็พูดชัดว่า การที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งขึ้นสูงกว่าเป้าหมาย 2% แล้วประมาณ 3 เท่า ทำให้เฟดเล็งเห็นว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย"โอลิเวอร์ กล่าว

แต่พาวเวลก็ตระหนักว่า เฟดอยู่ระหว่างเส้นแบ่งที่มีความอ่อนไหวระหว่างการควบคุมเงินเฟ้อและผลกระทบที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง

“เป้าหมายของเราคือการใช้เครื่องมือเพื่อทำให้อุปสงค์และอุปทานกลับคืนสู่ภาวะที่สมดุลอีกครั้ง และเราจะดำเนินการเช่นนั้นโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงจนนำไปสู่ภาวะถดถอย ซึ่งนี่เป็นความท้าทายอย่างมาก” พาวเวล กล่าว

ขณะที่“วิกกี้ เรดวู้ด”ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอาวุโสจากแคปิตัล อีโคโนมิคส์ มีความมั่นใจว่าบรรดาธนาคารกลางประเทศต่างๆจะสามารถรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างดีโดยไม่ส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

พร้อมทั้งมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศ ทั้ง ในยุโรป สหราชอาณาจักรและในสหรัฐน่าจะเพียงพอที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้หรืออยู่ในระดับที่เป็นเป้าหมายของแต่ละประเทศ