เพื่อนของ มีนา โชติคำ

เพื่อนของ มีนา โชติคำ

เก็บเรื่อง “มีนา ไม่มีจริง” เอาไว้ก่อน แล้วไปดูกันว่า “ชูใจ” และ “Change.org” ที่มีอยู่จริง พวกเขาคิดและทำอะไรกันอยู่

สำหรับเสียงวิจารณ์ที่กระหึ่มโลกโซเชียลตลอดกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังคลิปรณรงค์ให้มีพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ (National Knowledge Center) ผ่านการสัมภาษณ์วินมอเตอร์ไซค์นายหนึ่ง นามว่า “มีนา โชติคำ” ที่มาเว้าอีสานสื่อใจความที่หัวก้าวหน้าสุดๆ ถูกโพสต์ขึ้นบนโซเชียล และแชร์กันสนั่น ทำเอาผู้คนต่างอยากรู้จักว่า มีนา โชติคำ คือใคร

เมื่อสุดท้ายทีมงานเฉลยว่า พี่วินสุดเจ๋งคนนี้เป็นเพียง “ตัวละคร” ตัวหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเรียกความสนใจให้กับโครงการเท่านั้น ผลก็คือ คนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจ และต่อว่า ตั้งแต่ข้อหาหลอกลวง, เหยียดคนอีสาน จนลามไปถึงข้อหาหมกเม็ด เป็นเบี้ยให้รัฐหาเรื่องเอาเงินไปถลุง ฯลฯ

นั่นคือ ก้อนหินที่ทีมงานครีเอทีฟเอเยนซี “ชูใจ กะ กัลยาณมิตร” น้อมรับไว้ในฐานะเจ้าของไอเดียดังกล่าว

แต่เผื่อใครยังไม่รู้ว่า ก็ “ชูใจ” อีกนั่นแหละ  ที่เป็นเจ้าของไอเดียโครงการที่ถูกพูดถึงมากในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือ โครงการ Limited Education ที่กระชากสติจากสังคมให้รับรู้ถึงปัญหาเด็กไทยกว่า 1.4 แสนคนอ่านหนังสือไม่ออก และอีก 2.7 แสนคนเขียนหนังสือไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการขายเสื้อ Limited Education ที่ให้มีการเขียนชื่อของผู้ซื้อด้วยลายมือของน้องๆ ที่ “ขาดการศึกษา” แน่นอนว่า ชื่อที่ถูกเขียนไปสะกดผิดมากกว่าถูก โดยปลายทางของโครงการ นอกจากสร้างการรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าวในสังคมแล้ว เงินทุกบาททุกสตางค์ก็ได้นำไปสนับสนุนกองทุนการศึกษาด้วย

  • ครีเอทีฟ เพื่อสังคม 

ถ้าใครตามเข้าไปส่องว่า “ชูใจ” คือใคร พวกเขามีคำอธิบายการทำงานตัวเองในเฟซบุ๊กว่า “ถ้ามีเงินสองบาท บาทนึงซื้อข้าว..อีกบาทไว้ซื้อดอกไม้”

มันไม่ใช่เรื่องโลกสวย เพราะเขาทำแบบนี้มาแล้วเกือบ 5 ปี

..ย้อนกลับไป ชูใจก็เป็นหนึ่งในคนวงการโฆษณาเท่ๆ คูลๆ ในสายตาคนรอบข้าง แต่แล้วก็ถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้พร้อมใจกันยื่นใบลาออก และมาเปิดเอเยนซีเล็กๆ อย่างชูใจขึ้นมา โดยมีโมเดลธุรกิจแบบ Social Enterprise รับลูกค้าคอมเมอร์เชียลเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และแบ่งกำลังอีกส่วนหนึ่งไปรับงานเพื่อสังคม โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่มีเป็นทุนในการต่อยอด

“สมัยทำเอเยนซี ปกติก็จะมีงานเพื่อสังคมเข้ามาให้ทำ ให้ล่ารางวัล จนมาปีนึง ได้ทำโปรเจค Mom-made toys เป็นซีเอสอาร์ของแปลนทอยส์ ที่เขาอยากทำของเล่นให้เด็กพิเศษ พองานนั้นจบ เราก็รู้สึกว่า ทำงานแบบนี้มันดีมาก ไม่เหมือนมานั่งทำปรินต์แอด มันส์ๆ แรงๆ เอาไปส่งประกวด หลังจากนั้น ก็เลยไปรับงาน สสส. มาทำ เป็นงานสื่อสารช่วงน้ำท่วม ตังค์ก็น้อย ก็เลยไปขอแรงคนอื่นๆ ให้มาช่วย ไปหาพี่ต่ายขายหัวเราะ ไปหาพี่กฤษนะ เนชั่น หาพี่ปุ๊ อัญชลี ให้ช่วยลงเสียงให้ ซึ่งเซเลบดังๆ บางคน ต่อให้เรามีเงินจ้าง เขาก็อาจไม่รับด้วยซ้ำไป แต่งานนี้ได้มาฟรีๆ ซึ่งมันต่างจากตอนเราทำงานแอดมาก เอาเงินฟาดหัวคนโน้นคนนี้ เขามาทำให้ เสร็จงานก็กลับ แต่ที่เราเจอคือ พี่ปุ๊บอกเราว่า พี่ขอแก้ได้มั้ย มันยังไม่ดี อะไรแบบนี้ มันทำให้เรารู้สึกว่า โคตรเจ๋ง เราอยากทำแบบนี้ ก็เลยชวนกันออกมา” เป้า-ไพรัช เอื้อผดุงเลิศ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของชูใจ

จากตอนแรกที่โลกสวย คิดว่าทำงานเพื่อสังคมอย่างเดียวจะอยู่ได้ แต่เมื่อมาพบความจริงที่ว่า องค์กรเพื่อสังคมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีเงินมากมาย มีเยอะหน่อยก็อาจจะแค่ได้โปรดักชั่นที่ดีมากขึ้น เงินส่วนใหญ่จึงลงไปที่คุณภาพงาน มากกว่ากระเป๋าสตางค์ทีมงาน มันจึงเป็นเหตุผลให้พวกเขามาลงตัวที่การเป็นกิจการเพื่อสังคม

  • ยุคทองของหีบห่อ

เกี่ยวกับความดราม่าที่เกิดจากกรณี มีนา โชติคำ ไม่มีอยู่จริง เป้า ยอมรับว่า ไม่คิดมาก่อนว่า จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ 

“ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่า มันจะดัง” เขาเอ่ย ฉะนั้นเรื่องจะดักตีหัว หลอกให้คนคิดว่า มีนา มีตัวเป็นๆ นั้น ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะมันไม่ได้อยู่ในความตั้งใจตั้งแต่แรก

“เอาจริงๆ นะ ถ้าเราอยากให้เนียน เราก็จะใช้กล้องที่มันคุณภาพต่ำกว่านี้ ตัวละครของเราจะนั่งส่ายตัวไปมา แต่นี่มันการแสดงไง มุมกล้องที่เราใช้ มันก็ไม่แอบเลยนะ เพราะโปรดักชั่นที่เราทำ มันคือโปรดักชั่นแบบโฆษณาเรื่องนึงนั่นแหละ นั่นก็เพราะเราไม่ได้ตั้งใจที่จะหลอกใคร แต่โอเค เมื่อมันกลายเป็น “ดูจริงมาก” ในสายตาคนอื่น เราก็ต้องแล้วแต่เขา แค่อยากจะบอกว่า ถ้าให้ทำเนียนกว่านี้อีก เราก็ทำได้นะ” เขาอธิบาย 

ก่อนจะย้อนหลังกลับไปที่จุดตั้งต้นโครงการนี้ว่า อันที่จริง OKMD พยายามสื่อสารเรื่องนี้มาเป็นปี หลายครั้ง หลายเวที แต่ผลตอบรับกลับไม่ค่อยดี คนสนใจน้อย อยู่ในแวดวงจำกัด จึงต้องการหาวิธีสื่อสารให้ผู้คนหันมาฟัง และฟีดแบ็คกลับมาว่า ต้องการโครงการในลักษณะนี้หรือไม่.. ถ้าประชาชนต้องการ พวกเขาก็จะได้ยืนยันที่จะเดินหน้าต่อไป

นำมาสู่คลิปดังกล่าว ที่เขายอมรับว่า “มันคงล้ำเกินไป”

“โลกของคอนเทนต์มันเปลี่ยนไป อินเทอร์เน็ตมันเข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง จำนวนคอนเทนต์มีเยอะมากเพราะใครๆ ก็ทำได้ คนจึงเลือกดูเฉพาะคอนเทนต์ที่มีหีบห่อน่าสนใจ เพราะถ้าจะรับเข้ามาทั้งหมด ทั้งชีวิตก็ไม่พอ เมื่อมันเป็นแบบนี้ creativity จึงสำคัญ” เขาอธิบายถึงความพยายามที่จะจัดหีบห่อให้กับการสื่อสารในงานเพื่อสังคมให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

“มันช่วยส่งให้งานมันไปต่อได้ งานเชยหรือน่าเบื่อๆ แรงส่งมันก็น้อย อย่างที่เห็นๆ กันว่า เรื่องดีมักไม่ค่อยดัง” เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ อีกหนึ่งคีย์แมนของชูใจ เอ่ยเสริม 

และตอบคำถามถึงงานที่ผ่านมา ถ้ากลับไปแก้ได้ จะอยากแก้ไขอะไร.. “ก็คงทำให้มันชัดเจนมากขึ้น เสียดาย ไม่อยากให้มันสะดุดด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง” เม้งตอบ

  • คลิกเพื่อ ‘เปลี่ยน’

อีกหนึ่งที่โดน ‘ถล่ม’ จากกรณีนี้ ก็คือแพลตฟอร์มที่มุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่าง Change.org ซึ่งจับพลัดจับผลู กลายเป็นแนวร่วมกับขบวนการ “มีนา โชติคำ” ชนิดยากจะปัดออกจากตัวได้

เอย-วริศรา ศรเพชร ผู้อำนวยการด้านการรณรงค์ Change.org ประเทศไทย เล่าถึง “แคมเปญจัดตั้ง” ว่า ที่ผ่านมา ถ้าทีมงานเห็นว่า มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจหรืออยากผลักดัน แต่ยังไม่มีคนมาเปิดแคมเปญ ก็สามารถไปตามหาคนที่คิดหรือมีจุดยืนในทางเดียวกัน เพื่อให้มาเป็นคนเปิดแคมเปญได้ แต่สำหรับกรณีของ มีนา ที่ไม่มีอยู่จริง มันจึงเกินกว่าที่จะทำได้

“เรื่องนี้มันค่อนข้างซับซ้อน คนที่เกี่ยวข้องมันเยอะ ตอนที่ชูใจมาปรึกษา เล่าแผนให้ฟัง และบอกว่า อยากจะใช้แพลตฟอร์มของ change ในการขอเสียงสนับสนุนจากประชาชน เขาก็เล่าว่า จะทำหนังโฆษณา เพื่อชวนให้คนมาลงชื่อ โดยจะมีวินมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ได้มีตัวตนจริงๆ มาสร้างแคมเปญบน change ซึ่งเราก็บอกว่า มันทำไม่ได้ เพราะกฎของเราชัดเจนเรื่องตัวตนว่า คนที่มาเรียกร้อง จะต้องมีตัวตนจริงๆ ไม่แอบอ้างเอาชื่อใครมา แต่ความที่เขามั่นใจว่า ตัวหนังเมื่อทำออกมาแล้ว คนดูจะรู้ว่า นี่คือตัวละคร ก็มาเปิดแคมเปญไว้ในชื่อ มีนา เพื่อเอาไปถ่ายหนัง แต่พอหนังออกมา เราเลยขอให้ชูใจหาคนจริงๆ ที่สนับสนุนแนวคิดนี้มา (เพราะตัวละครตั้งแคมเปญไม่ได้ ขัดกับกติกาของ change) คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “เพื่อนๆ ของมีนา” เป็นเจ้าของแคมเปญแทน”

แม้ในแง่ผลตอบรับจะถือว่า ค่อนข้างดี เพราะล่าสุด เพื่อนเพื่อนของ ‘มีนา’ ได้รับเสียงสนับสนุนไปแล้ว 1.74 แสนรายชื่อ (เป้าหมายที่ 2 แสนรายชื่อ) รวมถึงมีการถกเถียงต่อยอดประเด็นเพิ่มเติม ตั้งแต่ความเป็นไปได้ของโครงการ ทิศทางที่ควรจะเป็น กลุ่มเป้าหมายที่ศูนย์การเรียนรู้ควรจะโฟกัสไป ฯลฯ 

ขณะเดียวกัน ก็มีบางเสียงตั้งคำถามถึงความโปร่งใส ทำนองว่า.. หรือ Change มีนอกมีใน หรือ มีส่วนรับเงินว่าจ้างขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวหรือไม่ ?

“เอาจริงๆ ตอนแรกที่คุยกัน ทางเราก็กำลังมองหารายได้อยู่ด้วย พอชูใจเข้ามา ก็แอบคิดหาโมเดลว่า หรือเราจะเพิ่มบทบาทเป็นเหมือน Consultancy ให้กับเอ็นจีโอ หรือองค์กรเพื่อสังคมที่ต้องการสร้างแคมเปญรณรงค์ขึ้นมา”

แต่นั่นก็เป็นแค่ “ความคิด” เพราะกระแสวิจารณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทีมงานต้องกลับไปทบทวนใหม่ ถึง “การดำรงอยู่” เสียใหม่ โดยเฉพาะเพื่อพยุงให้แพลตฟอร์มเปลี่ยนโลกนี้ยังคงสามารถเป็นกลไกเรียกร้องจากคนตัวเล็กตัวน้อยได้ต่อไป

ถามว่าทำไม? 

คำตอบง่ายๆ แบบกำปั้นทุบดิน ก็คือ ถ้ายังไม่สามารถหารายได้เข้ามา ก็คงถึงเวลาต้องปิดตัว!

  • ฟรี&ดี ไม่มีในโลก

แม้ว่า แพลตฟอร์มอย่าง Change จะให้บริการ “ฟรี” แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะไม่ได้มีต้นทุนอะไร..

“ก้อนหลักๆ เลย คือ ค่าเทคโนโลยี เรามีทีมงานอยู่ 3 คน ทำทุกอย่าง ตั้งแต่หน้าบ้าน หลังบ้าน เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เปิดแคมเปญ จัดประชุมกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ นำเอกสารไปยื่น แล้วยังมีค่ากราฟิก ค่าผลิตสื่อ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ฯ แล้วหลังจากนี้ เราต้องหาเงินด้วยตัวเอง ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน

เราเริ่มเปิดรับเงินสนับสนุนจากคนที่เข้ามาร่วมลงชื่อ แต่ก็ยังได้น้อยมาก ตอนแรกเคยกะไว้ว่า น่าจะอยู่ได้แค่กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พอดี Change ในต่างประเทศเขาระดมทุนได้ ก็แบ่งมาให้เรา ต่อชีวิตมาได้อีกหน่อยนึง และถ้าเรายังไม่ได้ผู้สนับสนุนที่เป็นองค์กร ก็ยิ่งต้องหวังเงินบริจาคจาก membership” ผู้อำนวยการ Change ประเทศไทย เอ่ย

และเปิดใจว่า ทีมงานถึงขั้นนั่งคุยกันว่า ถ้าไม่มีเงินจริงๆ ก็คงต้องทำงานเป็น Volunteer ไม่รับเงินเดือน เพราะอย่างไรก็ทำใจทิ้งไปไม่ได้

บางคนอาจแย้งว่า ตัวแพลตฟอร์มที่มีอยู่ มันน่าจะจบได้ในตัวเอง ไม่ต้องอาศัยแรง “คน” ให้เปลืองเงิน เรื่องนี้ วริศรา ยกตัวอย่างในบางประเทศที่มีแต่แพลตฟอร์ม แต่ไม่มีคนช่วยบริหารว่า พลังการเรียกร้องจะแผ่วลงไปมาก ทั้งไม่มีคนวางกลยุทธ์สื่อสาร ไม่มีคนจัดการเรื่องกลุ่มเป้าหมาย ไม่มีใครคอยมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหว.. ก็จะถูกทิ้งร้างไปในที่สุด

เกี่ยวกับเป้าหมายว่า ต้องใช้เงินเท่าไร วริศรา ยอมรับว่า ยังไม่สามารถเคาะตัวเลขได้อย่างชัดเจน แต่ที่คำนวณไว้คร่าวๆ เว็บไซต์ Change.org ประเทศไทย ต้องหา membership หน้าใหม่ให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 300 ราย เพื่อการอยู่ได้ในระยะยาว

“ตอนนี้ เราหา membership ได้แล้วประมาณ 140 คน” เธอเอ่ย

และคงต้องขีดเส้นใต้ตัวโตๆ ด้วยว่า.. จากจำนวนผู้เคยร่วมลงชื่อ 2 ล้านคนเศษ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมมาแล้วหลายต่อหลายโครงการ แต่มีผู้ร่วมต่อลมหายใจให้แก่เว็บไซต์เพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ เพียง 140 คน!

 

  • แรงใจ ให้หายเหนื่อย

ขณะที่สมาชิกทั้ง 3 ต่างวิ่งวุ่น คิดหาวิธีที่จะได้เงินมาต่อลมหายใจ เมื่อความดราม่าอย่าง มีนา โชติคำ บังเกิดขึ้น เธอยอมรับว่า ทำลายกำลังใจไปไม่น้อย..

“ทีมงานตอนนี้เหนื่อยกันมาก เราผ่านช่วงลำบากและความไม่แน่นอนมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่ออยู่ดีๆ เราต้องหาเงินมาเลี้ยงตัวเอง ก็พยายามคิดหาวิธีกันสารพัด เพราะเราไม่อยากให้มันถูกปิด แต่พอมีดราม่าขึ้นมาแบบนี้ โอเคว่า เราเข้าใจความผิดหวังของคนนะ แต่ในแง่คนทำงาน เราใช้พลังงานในการจัดการปัญหาตรงหน้าค่อนข้างมาก พอเจอแบบนี้ก็ท้อไปเหมือนกัน 

แต่เมื่อเช้ามีคนส่งดอกไม้มาให้ทีมงาน Change ที่ออฟฟิศ แล้วก็มีข้อความให้กำลังใจจากคนที่สมัครเป็น membership ซึ่งถึงจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นกำลังใจให้เราได้มาก แล้วเรากับทีมงาน ก็ยืนยันเหมือนกันแล้วว่า.. เราจะสู้ต่อค่ะ” เธอเอ่ยยืนยันอย่างมั่นใจ

ส่วนถ้าจะถามถึง “รางวัล” ให้หายเหนื่อยสำหรับครีเอทีฟอย่างชูใจแล้ว เอาจริงๆ พวกเขาก็ยังเป็นคนโฆษณา ฉะนั้นเรื่องรางวัลจากการประกวดก็ยังเป็น “ฝัน” ที่อยากได้

“เรายังส่งงานประกวดนะ แต่มันไม่ได้ (หัวเราะ) คือเราก็อยากวัดผล แล้วมันเป็นความสะใจส่วนตัวด้วยแหละ ถ้าวันนึงงานเพื่อสังคมเกิดไปได้รางวัลใหญ่ขึ้นมาจริงๆ” เม้ง ให้คำตอบ

เสริมโดยเป้า ว่า “รางวัลก็สำคัญ แต่ถึงไม่ได้อวอร์ด ก็ไม่ได้แย่อะไร เพราะเราทำงานให้คนประเทศนี้ดู ไม่ได้ทำให้ฝรั่งดู”

เพราะสิ่งที่พวกเขาเชื่อก็คือ ได้รางวัลมันก็สะใจไปอีกแบบ แต่ถึงไม่ได้ อย่างน้อย คุณค่า ของงานชิ้นนั้นก็เกิดประโยชน์แล้วตั้งแต่ตอนทำ 

“ถ้าเราทำแล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศได้จริง นั่นก็ถือว่า เราได้รางวัลแล้ว”