คมความคิดในจิตรกรรมวัดเกาะ

คมความคิดในจิตรกรรมวัดเกาะ

เคยเดินทางไปเพชรบุรีก็หลายครั้ง หากเพิ่งรู้ว่า “พริบพรี” เป็นชื่อที่ชาวต่างชาติใช้เรียกขานเมืองเพชรบุรี

ดังมีปรากฎในเอกสารของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา อาทิเช่น Tome Pires ชาวโปรตุเกส (พ.ศ.2054) เรียกว่า Peperim , Pepory ในจดหมายเหตุการเดินทางของพระสังราชแห่งเบริธ (พ.ศ.2205) เรียก Pipili ในประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของนิโกลาส์ แชรแวส เรียก Piply เป็นต้น

ครั้นได้ทำความเข้าใจในที่มาของ “พริบพรี”แล้วยังมีโอกาสได้ติดตามประอร ศิลาพันธุ์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม ในอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้วิถีชีวิต คติความเชื่อของคนสมัยโบราณผ่านผลงานจิตรกรรมที่กล่าวได้ว่ามีความงดงามและเล่าเรื่องได้แตกต่างจากที่อื่น

 วัดเกาะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเนื่องจากภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถระบุปีที่เขียนไว้เมื่อพ.ศ.2277 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ(พ.ศ.2275-2301)

ความน่าสนใจเริ่มต้นจากภาพจิตรกรรมบนผนังด้านหน้าพระประธานที่ตามธรรมเนียมนิยมเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ แต่ที่นี่กลับเขียนภาพมารผจญไว้ด้านหลังพระประธาน ส่วนด้านหน้าเขียนเรื่องจักรวาลเอาไว้แทน

ภาพจักรวาลนี้วาดขึ้นตามความเชื่อในคติของพุทธศาสนา อันประกอบไปด้วยเขาพระสุเมรุแวดล้อมไปด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ (ได้แก่ ยุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัศนะ เนมิทร วินันตกะ อัสสกัณณะ ระหว่างเขาแต่ละชั้นมีแม่น้ำสีทันดรคั่น) มีวิมานอยู่บนเขาทั้ง 7 ยอด เขาพระสุเมรุมีวิมานของพระอินทร์ เรียกว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในภาพพระพุทธเจ้ากำลังประทับโปรดพระอินทร์ และพระพรหม ด้านขวามือเป็นพระเจดีย์จุฬามณี ด้านซ้ายเป็นต้นปาริชาติ เบื้องล่างเป็นช้างเอราวัณ

ถัดขึ้นไปเป็นวิมานชั้นต่างๆที่ล่องลอยในวิมานต่างๆมีดาวนักษัตรพระอาทิตย์พระจันทร์พระราหู

ผนังด้านหลังพระประธานเขียนรูปพระพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพนี้มีความน่าสนใจตรงท่ายืนของแม่พระธรณีบิดมวยผม โดยทั่วไปเราจะเห็นว่ายืนเอี้ยวตัวเล็กน้อย แต่ที่นี่ท่ายืนดูเป็นธรรมชาติ ส่วนไพร่พลพญามารที่จะเข้ามาทำร้ายพระพุทธเจ้านั้นนอกจากยักษ์ สิงห์ เงือก งูแล้ว และยังประกอบไปด้วยเหล่ามารที่มีหน้าตาและการแต่งกายเหมือนกับชาวต่างชาติ ทั้งฝรั่งและแขก

รูปบุคคลต่างชาตินั้นยังพบได้อีกในภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านอื่นๆอาจารย์ประอรอธิบายว่าเมืองเพชรบุรีในสมัยอยุธยานั้นเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจทำให้มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกันมากมาย

ส่วนมุมมองของคนในยุคนั้นที่มีต่อคนต่างชาติเป็นอย่างไรคำตอบอยู่ในภาพที่วาดให้เป็นเหล่ามารบ้างเดียรถีย์บ้าง(ผู้ที่มีความเชื่อถืออย่างอื่นนอกเหลือไปจากพุทธศาสนา)

คราวนี้มาถึงไฮไลต์(ความจริงจิตรกรรมทุกภาพจัดเป็นไฮไลต์ได้ทั้งหมด) ที่เราไม่ค่อยเห็นการจัดวางองค์ประกอบของภาพในลักษณะเช่นนี้เท่าไหร่นักกล่าวคือ

ภาพผนังด้านข้างทางทิศเหนือการเขียนภาพจะแบ่งเนื้อหาเป็นช่องเป็นภาพเจดีย์สลับกับฉัตรเนื้อหาในภาพแสดงสถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับหลังจากตรัสรู้7 แห่งเรียกว่าสัตตมหาสถาน ได้แก่ ต้นโพธิ์ อนิมิสเจดีย์ พุทธจงกลมเจดีย์ เรือนแก้ว ต้นไทร สระมุจลินทร์ และราชาตนพฤกษ์ (ร่มไม้เกด)

ภาพผนังด้านข้างทางทิศใต้มีการเขียนภาพในลักษณะภาพเจดีย์สลับกับฉัตรเช่นกันหากเป็นภาพเล่าเรื่องพระพุทธประวัติที่เกิดขึ้นในสถานที่สำคัญ8 แห่งเรียกว่าอัฏฐมหาสถานคือที่ประสูติตรัสรู้ปฐมเทศนาที่ประทับป่าลิไลยก์ที่ทรมานช้างทรปาลหัตถีที่ทำยมกปาฏิหารย์ที่โปรดพุทธมารดาและภาพพระพุทธองค์แสดงฤทธิ์ปราบเดียรถีย์(ที่นิพพานไม่ได้วาดไว้)

นอกจากคติความเชื่อในเรื่องศาสนาแล้วอาจารย์ประอรยังชี้ให้เห็นถึงการสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตของคนในสมัยนั้นที่ศิลปินนำมาบอกเล่าผ่านทรงผมเครื่องแต่งกายรวมไปถึงดอกไม้และพันธุ์พฤกษา

กล่าวได้ว่าถ้าอยากรู้ว่าศิลปินคิดหรืออยากจะบอกอะไรไปถอดรหัสได้จากผลงานจิตรกรรม