แพลตฟอร์ม "Metaverse" ที่น่าสนใจ แต่ส่วนใหญ่ยังเน้น "เกม"

แพลตฟอร์ม "Metaverse" ที่น่าสนใจ แต่ส่วนใหญ่ยังเน้น "เกม"

รายงานจากบริษัท McKinsey & Company ระบุว่า อีก 5 ปีข้างหน้าผู้เล่นอินเทอร์เน็ตในสหรัฐ จะใช้เวลาอยู่กับโลก Metaverse วันละ 3.7 ชั่วโมง และคาดว่าแพลตฟอร์ม Metaverse ต่างๆ จะมีมูลค่ารวมกันถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์

สัปดาห์ที่แล้วกล่าวถึง Metaverse ว่ามีแพลตฟอร์มมากมายที่มีผู้ใช้ รายงานจากบริษัท McKinsey & Company ระบุว่า อีก 5 ปีข้างหน้าผู้เล่นอินเทอร์เน็ตในสหรัฐ จะใช้เวลาอยู่กับโลก Metaverse วันละ 3.7 ชั่วโมง และคาดว่าแพลตฟอร์ม Metaverse ต่างๆ จะมีมูลค่ารวมกันถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์

แม้ล่าสุดจะพบว่า แพลตฟอร์ม Metaverse กำลังประสบวิกฤติเรื่องราคาที่ดินเสมือนจริงลดลงไปมาก จากความสนใจผู้ใช้ลดลง อาจเป็นกระแสจากความซบเซาตลาดคริปโทฯ แต่โลก Metaverse ไม่ใช่แค่เรื่องการซื้อขายที่ดินเสมือนจริง แต่เป็นสถานที่เสมือนในโลกดิจิทัลที่ทำให้ผู้คนมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้อย่างมากมาย ตั้งแต่เล่นเกม จัดการแสดง จัดนิทรรศการ หรือแม้แต่ทำเป็นร้านค้าเสมือนจริงเพื่อซื้อขายสินค้าต่างๆ

หลักการ Metaverse กล่าวถึงตั้งแต่นิยายวิทยาศาสตร์ชื่อ Snow Crash เขียนโดย Neal Stephenson ในปี 1992 ที่ระบุโลกออนไลน์ใช้เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ให้ผู้คนมาพบปะโต้ตอบกัน และก่อนเฟซบุ๊คประกาศเรื่อง Metaverse จะมีหนังใน NetFlix เมื่อปี 2018 เรื่อง Ready Player One ให้ผู้ชมจินตนาการภาพ Metaverse ว่าจะเป็นอย่างไร

ปัจจุบัน Metaverse จะนำเทคโนโลยีอื่นๆ นอกจาก VR มาประยุกต์ใช้งาน เช่น บล็อกเชน เพื่อให้แพลตฟอร์มเป็นแบบไม่รวมศูนย์กลาง (Decentralized) นำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้จ่ายในโลกเสมือนจริง รวมถึงใช้เทคโนโลยี NFT จัดการสินทรัพย์ดิจิทัล

ผู้ใช้แพลตฟอร์มอาจต้องแลกเงินคริปโทฯ เพื่อใช้จ่ายในแพลตฟอร์มนั้นเพื่อใช้งาน เช่น แลกเหรียญ SAND สำหรับแพลตฟอร์มที่ชื่อ Sandbox เพื่อซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลที่อาจเป็นไอเทมสำหรับเกม หรือที่ดินเสมือนจริง

แพลตฟอร์ม Metaverse ปัจจุบัน อาจไม่ได้ใช้เทคโนโลยีทุกตัวที่กล่าวมา บางแพลตฟอร์มเป็นแบบรวมศูนย์ ไม่ได้ใช้บล็อกเชน หรือบางแพลตฟอร์มเน้นเฉพาะระบบ VR ที่ผู้เล่นต้องมีอุปกรณ์ VR สวมใส่เข้าใช้ แต่ถ้าพิจารณาแพลตฟอร์มดังๆ ที่มีผู้ใช้จำนวนมาก จะพบว่า มีหลายแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ ดังนี้

Decentraland แพลตฟอร์มที่เป็นบล็อกเชน ให้ผู้ใช้ซื้อขายที่ดินเสมือนจริง (ซึ่งเรียกว่า LAND) และสร้างเนื้อหาดิจิทัล ผู้ใช้ต้องใช้เหรียญ MANA ซื้อขาย LAND เมื่อปลายปีที่แล้วมีผู้เล่นเฉลี่ย 18,000 ราย แต่ล่าสุดราคาเฉลี่ย LAND ตกลงจาก 37,238 ดอลลาร์ เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เหลือ 5,163 ดอลลาร์

Sandbox แพลตฟอร์มที่มีที่ดินเสมือนจริงคล้าย Decentraland ให้ผู้ใช้ซื้อขายได้ผ่านเหรียญที่ชื่อ SAND แต่เน้นออกมาทางชุมชนของการเล่นเกม ผู้ใช้สร้างเกม 3 มิติเองได้ ไม่ต้องเขียนโปรแกรม Sandbox เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้จำนวนมาก โดยมีผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 2 ล้านคน แต่ปัจจุบันราคาที่ดินเสมือนจริงเฉลี่ยลดลงไปอย่างมากเช่นเดียวกับ Decentraland

Roblox แพลตฟอร์มเกมสำหรับเด็ก ไม่ได้ใช้บล็อกเชน ทำให้ชุมชน Metaverse อาจมองว่าไม่ใช่ Metaverse แท้จริง และเน้นเป็นแพลตฟอร์มด้าน VR เสียมากกว่า แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้มากสุดโดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก มีผู้เล่นเฉลี่ยทั่วโลกวันละ 43.2 ล้านคน และ 67% ของผู้เล่นอายุเฉลี่ยต่ำกว่า 16 ปี และมีเกมอยู่ในแพลตฟอร์มให้เลือกเล่นมากกว่า 40 ล้านเกม ทำให้บริษัท Roblox มีรายได้ในปีที่แล้วสูงถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์

Axie Infinity เป็นแพลตฟอร์มเล่นเกมใช้บล็อกเชนพัฒนา เพื่อให้ผู้เล่นซื้อสัตว์เลี้ยงเสมือนที่ชื่อว่า Axies ได้ และผู้เล่นเพาะพันธุ์เพื่อให้ได้ Axie ตัวใหม่ๆ ตัว Axie เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ NFT ที่ไม่สามารถทดแทนได้ และมีมูลค่าต่างกัน มี Axie Marketplace เป็นศูนย์กลางการซื้อขายตัว Axie ที่ดิน และไอเทมอื่นๆ Axie Infinity ใช้หลักการ Web 3.0 แต่ปัจจุบันจำนวนผู้เล่นแพลตฟอร์มนี้ลดลงมากจากที่มีเฉลี่ยต่อวัน 2.7 ล้านราย ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เหลือ 1.5 ล้านคน ในเดือนมีนาคมปีนี้

จะเห็นได้ว่า Metaverse ส่วนใหญ่ก็ยังเน้นเรื่องของการเล่นเกม และช่วงนี้จำนวนผู้ใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ตลอดจนราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในแพลตฟอร์มเหล่านั้นเริ่มตกลง อาจมีผลมาจากความซบเซาของตลาดซื้อขายคริปโทฯ ดังนั้นถ้าเราจะลงทุนแพลตฟอร์ม Metaverse ต้องพิจารณาจังหวะและเวลาพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดีว่าผู้คนพร้อมใช้งานเข้าสู่แพลตฟอร์มแค่ไหน