‘เอไอเอส-3บีบี’ ส่อแววฉลุย กสทช.ชี้ดีลไม่ซับซ้อน - ควงคู่รับกำไรเพิ่ม

‘เอไอเอส-3บีบี’ ส่อแววฉลุย กสทช.ชี้ดีลไม่ซับซ้อน - ควงคู่รับกำไรเพิ่ม

กสทช.ชี้ การซื้อหุ้น "เอไอเอส-3บีบี" ไม่ซับซ้อน เพราะเป็นผู้รับไลเซ่นประเภท 3 โดยตรง หลัง "เอไอเอส" ประกาศเข้าเทคโอเวอร์ “3บีบี” สานยุทธศาสตร์เน็ตบ้านมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ คาดหากได้ไฟเขียวดีลจบภายในไตรมาส 1 ปี 66

กสทช.เผยได้รับหนังสือจากเอไอเอส แล้วรอสนง.สรุปโมเดลการรวมธุรกิจ ชี้การซื้อหุ้น "เอไอเอส-3บีบี" ไม่ซับซ้อน เพราะเป็นผู้รับไลเซ่นประเภท 3 โดยตรง ด้าน  ‘บล.กสิกรไทย’ ชี้ เอไอเอส กำไรเพิ่ม คาดปีหน้าทริปเปิลทีกำไรพันล้าน เหตุค่าเช่าลดลงปีละ 2-3 พันล้าน ฐานรายได้เพิ่มขึ้น “บล.เมย์แบงก์” ชี้ราคาซื้อถูก คุ้มค่าลงทุน

สมรภูมิในธุรกิจโทรคมนาคมของไทย เพิ่มดีกรีความร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส พี่ใหญ่ในสมรภูมิ ส่งบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค หรือ เอดับบลิวเอ็น (AWN) เทคโอเวอร์ 3บีบี ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน JASIF ภายใต้กลุ่มบริษัทของ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 3.2 หมื่นล้านบาท การขยับตัวครั้งนี้ของเอไอเอส มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นจังหวะที่ดีล “ทรูควบดีแทค” ยังเจอวิบากกรรมกระบวนการควบรวมยังไม่แล้วเสร็จ

แหล่งข่าวจากจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ในกรณีการประกาศซื้อหุ้นบริษัททริปเปิลที บรอดแบนด์ หรือ 3BB และเงินลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน JASIF มูลค่า 32,420 ล้านบาทแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของทางสำนักงาน กสทช.ที่จะสรุปรายละเอียด และแผนซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดเพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด

ทั้งนี้ ตามหลักการดำเนินงานนั้น สำนักงานกสทช.จะเสนอโมเดลภาพการรวมธุรกิจในตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในปัจจุบัน เช่น ดัชนีการแข่งขัน จำนวนผู้เล่นในตลาด มูลค่าตลาดรวม จำนวนผู้ใช้บริการล่าสุด ซึ่งตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่า ต้องมีการรับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) หรือต้องมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการรวมธุรกิจเหมือนอย่างเช่นกรณีการควบรวมธุรกิจของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทคหรือไม่ เพราะโดยรายละเอียดนั้น 2 ดีลนี้ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เทคโอเวอร์ แล้วผู้นำยังไม่เปลี่ยนมือ

จากตัวเลขล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2565 ที่ผู้ประกอบการแจ้งมายังสำนักงานกสทช.นั้นพบว่า มูลค่าตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 52,800 ล้านบาท โดยมีผู้ให้บริการอยู่ 4 รายประกอบด้วย ทรูออนไลน์ มีลูกค้า 4.73 ล้านราย มีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ต แชร์) 43.1% ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ (3บีบี) มีลูกค้า 2.42 ล้านราย คิดเป็น 22.1% บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที มีลูกค้า 1.95 ล้านราย คิดเป็น 17.8% ส่วนเอไอเอส ไฟเบอร์ มีลูกค้า 1.87 ล้านราย คิดเป็น 17% ดังนั้น หาก  เอไอเอสรวมกับ3บีบี จะทำให้ขึ้นเป็นเบอร์ 2 มีลูกค้าจำนวน 4.29 ล้านราย คิดเป็น 39.1%

“การพิจารณาว่าจะอนุญาตให้เอไอเอสเข้าซื้อกิจการครั้งนี้หรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่ซับซ้อนเพราะทั้งเอไอเอส ไฟเบอร์ และ3บีบี ต่างเป็นผู้รับใบอนุญาต (ไลเซ่น) ประเภทสามแบบมีโครงข่ายเป็นของตัวเองทั้งคู่ ทำให้การซื้อกิจการจึงพิจารณาบนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่างกับดีลทรูและดีแทคที่ระบุว่าการควบรวมเป็นเรื่องบริษัทแม่คือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์”

ทุกดีลต้องถูกต้องตามประกาศฯ

แหล่งข่าวจาก กสทช. กล่าวอีกว่า ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2561 แม้ว่าข้อ 5 จะเขียนว่าให้การควบรวมนั้นเป็นการรายงานต่อเลขาธิการกสทช.รับทราบภายใน 90 วัน ซึ่งเอไอเอส และ3บีบี ก็มีการแจ้งให้ทราบแล้วซึ่งไทม์ไลน์กับดีลทรูและดีแทคยังมีการรายงานคลาดเคลื่อนว่าช่วงเวลาที่ส่งเรื่องมาแจ้ง กสทช.ทราบ กับการไปจดทะเบียนบริษัทใหม่ New Co. อะไรเกิดก่อนกัน

นอกจากนี้ ในประกาศฉบับเดียวกันข้อ 9 คือ ระบุว่า การควบรวมต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช. และข้อ 8 เขียนว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ทั้งทางตรงทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน โดยมีการซื้อหุ้นหรือเข้าถือครองหุ้นเกิน 10% ขึ้นไปจะทำไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ซึ่งถ้าเกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน กสทช.มีอำนาจสั่งห้ามได้ทันที หรือว่าใช้การกำหนดมาตรการเฉพาะก็ได้ซึ่งมาตรการบังคับใช้ได้ประกาศฯกสทช.ปี 2549 ปี 2561 ดังนั้น ในดีลเอไอเอส และ3บีบีก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเช่นกัน

ชี้ความต่างกับดีลทรูควบดีแทค

ขณะที่ แหล่งข่าวที่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้นในกิจการ 3บีบี ของ เอไอเอส มีความแตกต่างกับดีลของค่ายมือถือ ที่กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบจาก กสทช. เพราะการควบรวมของทรูและดีแทค ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำในตลาดซึ่งหากเหลือเพียง 2 รายแล้ว ทั้งคู่ก็คงสถานะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดเช่นกัน โดยปัจจุบัน เอไอเอส มีลูกค้า 44.5 ล้านราย คิดเป็น 45.9% ทรูมีลูกค้า 32.6 ล้านราย คิดเป็น 33.6% ดีแทค มีลูกค้า 19.9 ล้านราย คิดเป็น 20.5% และเอ็นที มีลูกค้า 2.2 ล้านราย คิดเป็น 0.7% แต่หากดีลควบรวมสำเร็จทรู และดีแทคจะมีลูกค้าเป็น 52.6 ล้านราย คิดเป็น 54.1% ซึ่งถือว่าเกินกว่ากึ่งหนึ่งของตลาดรวม

อีกทั้ง การควบรวมในกิจการโทรคมนาคมนั้น ยังมาพร้อมการถือครองคลื่นความถี่ จำนวนเสา สถานีฐาน การสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีความครอบคลุมทั้ง 4จี และ5จี ดังนั้น การลดจำนวนผู้เล่นในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก 3 ราย เหลือ 2 รายจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดรวม และคลื่นความถี่ สถานีฐานเป็นทรัพยากรที่มีราคาแพง ใช้เงินลงทุนไมาต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดผู้ให้บริการรายใหม่ในอุตสาหกรรมดังกล่าว

แต่หากพิจารณาในบริการบรอดแบนด์จากผู้เล่น 4 รายลดเหลือ 3 รายก็ยังพอแข่งขันได้ เพราะเอ็นทีแม้เป็นผู้เล่นรายเล็กสุดแต่เอ็นทีมีสายไฟเบอร์ออฟติกและโครงข่ายมากที่สุดในประเทศ สามารถเปิดให้เช่าใช้ไม่จำเป็นที่รายใหม่หากจะเข้ามาต้องวางสายไฟเบอร์เอง และก็ไม่จำเป็นต้องสร้างความครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะสามารถให้บริการเป็นพื้นที่ได้และบริการเฉพาะกลุ่มได้เช่น โรงงาน สถานศึกษา หรือนิคมอุตสาหกรรม

มองโอกาสเติบโตระยะยาว

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า การลงทุนขยายธุรกิจในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญตามเป้าหมายกลยุทธ์ของบริษัท เพื่อขยายการเติบโตในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน และมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ทำให้บริษัทมีขีดความสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านสายไฟเบอร์ที่ครอบคลุมลูกค้าที่กว้างขวางมากขึ้น สามารถขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่

โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด และรอบนอกตัวเมือง ช่วยให้การพัฒนาโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทยโดยรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพลดทอนความซ้ำซ้อนของการลากสายไฟเบอร์โดยไม่จำเป็น

โดยภายหลังจากการได้รับอนุญาตแล้ว จะลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น และหน่วยลงทุนต่อไป โดยบริษัทคาดว่าธุรกรรมต่างๆจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ของปี 2566 ถ้าได้รับการอนุมัติจากกสทช.

บล.กสิกร ชี้ เอไอเอส ทริปเปิลที กำไรเพิ่ม

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ดีลนี้มองเป็นผลเชิงบวกต่อเอไอเอส จากดีลซื้อหุ้นใน บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) สัดส่วน 99.87% เนื่องจากเอไอเอสจะมีกำไรเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านปี 2566 ขณะที่ ทริปเปิลที ผลประกอบการจะพลิกเป็นกำไร 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันขาดทุน 1,600 ล้านบาท

โดยมาจาก 2 ส่วน คือ ค่าเช่าโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะลดลงปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท และจะมีฐานรายได้จะเพิ่มขึ้น จากการแข่งขันในธุรกิจบรอดแบนด์มีแนวโน้มการแข่งขันลดลง

ขณะที่การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน JASIF มองว่าเอไอเอสซื้อในราคาไม่แพง 8.5 บาท ต่ำกว่าราคาในกระดานอยู่ที่ 9.50 บาท และหากมองในแง่ของการจ่ายเงินปันผลก็คาดว่าเอไอเอสจะได้รับเงินปันผลอีกด้วย ขณะเดียวกัน มีโอกาสที่เอไอเอส จะขายสินทรัพย์ที่เป็นอุปกรณ์โครงข่ายบรอดแบนด์ที่มีอยู่เข้ากอง JASIF ได้ในอนาคต

ขณะที่ โดยหากดีลดังกล่าวไม่มีปัญหา จากฐานเลขหมายของ เอไอเอสอยู่ที่ 1.77 ล้านราย และ ทริปเปิลที ที่หากคิดจากฐานเลขหมายที่ทริปเปิลที เรียกเก็บเงินจากลูกค้าอยู่ที่ 2.42 ล้านราย เอไอเอส จะมีมาร์เก็ตแชร์ 35% ซึ่งยังเป็นเบอร์ 2 ของอุตสาหกรรม