10 ม.ค.นี้ ดีเดย์ ทำธุรกรรมภาครัฐ ได้ตลอด 24 ชม.จริงหรือ?

10 ม.ค.นี้ ดีเดย์ ทำธุรกรรมภาครัฐ ได้ตลอด 24 ชม.จริงหรือ?

ดิจิทัล กำลังเฟื่องฟู “อยู่ที่ไหน!! ก็ติดต่อราชการได้ ขออนุญาต ขอรับบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง” ผมเห็นข้อความเหล่านี้ในแบนเนอร์สำหรับการประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ที่มีผลเริ่มใช้บังคับในวันที่ 10 ม.ค.ปีนี้

“อยู่ที่ไหน!! ก็ติดต่อราชการได้ ขออนุญาต ขอรับบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง” ผมเห็นข้อความเหล่านี้ในแบนเนอร์สำหรับการประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ที่มีผลเริ่มใช้บังคับในวันที่ 10 ม.ค.ปีนี้แล้วรู้สึกดีใจว่า ถ้าทำได้จริงชีวิตประชาชนอย่างผม และคนอีกจำนวนมากจะสะดวกสบายขึ้นมาก

เมื่อนึกถึงการทำธุรกรรมการเงิน ที่สาขาธนาคารเมื่อ 20-30 ปีก่อน จะฝากจะถอนเงิน ต้องไปรอคิวที่สาขา บางทีรอเป็นชั่วโมง ทุกวันนี้พอเราใช้โมบายแบงกิ้งทำธุรกรรมออนไลน์ เอกสารแบบเดิมกลายเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น ทำธุรกรรมได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่พอมานึกถึงระบบราชการ จะทำธุรกรรมแต่ละเรื่องต้องเตรียมเอกสารต่างๆ สำเนาเอกสารจำนวนมาก ทั้งต้องไปยื่นเอกสารที่หน่วยราชการ รอคิวเป็นเวลานาน ถ้าไม่อยากไปเอง ต้องทำเอกสารมอบอำนาจด้วยความวุ่นวาย บางธุรกรรมใช้เวลานับวันกว่าจะแล้วเสร็จ เสียทั้งเวลาเดินทาง และค่าใช้จ่าย

พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2565 กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องมีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ติดต่อสื่อสาร ทั้งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการกับหน่วยงานรัฐ ได้กำหนดวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมาตรฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับภาครัฐ เพื่อให้เชื่อมโยงข้อมูล และบริการประชาชนได้โดยสะดวกและปลอดภัย

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.คือ มาตรา 7 ที่กำหนดให้การใดๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชน หรือผู้ประกอบธุรกิจต้องยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ โดยต้องยื่นเอกสารหลักฐาน หรือสำเนาเอกสารประกอบคำขออนุญาต ผู้ขออนุญาตสามารถเลือกยื่นเอกสารโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และให้ถือว่าเป็นการยื่นเอกสารโดยชอบแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธไม่รับคำขอดังกล่าวเพราะการยื่นขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 12 กำหนดให้เมื่อประชาชนติดต่อหน่วยงานเพื่อขอรับอนุญาตได้นำเอกสารตัวจริงมาแสดงแล้ว ให้หน่วยงานรัฐมีหน้าที่เป็นผู้ทำสำเนาเอง โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ

รวมทั้งยังมี มาตรา 15 ที่กำหนดให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐด้วยกัน หรือระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ หรืออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว

นอกจากนี้ กรมการปกครอง ยังได้พัฒนาระบบการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ DOPA-Digital ID เพื่อรองรับยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศรองรับการใช้งานบริการภาครัฐ ผ่านแอปพลิเคชันที่ชื่อ D.DOPA แทนบัตรประจำตัวประชาชนแบบเดิม เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องการยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมภาครัฐตาม มาตรา 8 ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้

พ.ร.บ. นี้ มีผลใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐแทบทุกหน่วยงาน รวมไปถึงหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง เทศบาล หรือ อบต. จะมียกเว้นก็แต่ หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ หน่วยงานของรัฐในฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง

พ.ร.บ. นี้ ทำให้ต่อไปนี้ ประชาชนสามารถทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ได้หลากหลาย ทั้งการขออนุมัติ อนุญาต ขึ้นทะเบียน จดทะเบียน การแจ้งเพื่อประกอบกิจการของประชาชน การรับเงินหรือสวัสดิการ และการออกใบเสร็จรับเงินของหน่วยงาน หรือการส่งเอกสารใดๆ ให้หน่วยงานราชการ ทางหน่วยงานราชการก็จะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ใช้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

เช่น การสร้างแบบฟอร์มคำขออิเล็กทรอนิกส์จะมีก็แต่การทำธุรกรรมบางอย่างที่ พ.ร.บ. กำหนดว่าไม่สามารถใช้วิธียื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งได้แก่ การขอทำบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง การสมรส การหย่า การรับบุตรบุญธรรม ที่ผู้ขอต้องดำเนินการด้วยเองเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หรืออาจมีธุรกรรมอื่นตามที่กฎกระทรวงกำหนด

การมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งยังมีคำเตือนจากรัฐบาลโดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการและท้องถิ่น ต้องรับเอกสารหรือหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบโดยเฉพาะในการรับจ่ายเงิน ถ้าไม่รับ อาจต้องรับผิดว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า หน่วยงานราชการส่วนใหญ่มีความตระหนักถึง พ.ร.บ. นี้เพียงใด ได้เตรียมฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ มีการบริการทำธุรกรรมออนไลน์ (e-Service) ได้จริงหรือ หรืออาจยังต้องไปที่หน่วยงาน ยังต้องเตรียมสำเนาเอกสารต่างๆ เช่นเดิม และอาจถูกเรียกถามหาสำเนาบัตรประชาชนหรือเอกสารอื่นๆ ที่หน่วยงานราชการออกให้เช่นเดิม นอกจากนี้คงไม่แปลกใจถ้าคนภาครัฐส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้จัก DOPA-Digital ID

จะว่าไปแล้ว พ.ร.บ. นี้เป็นเรื่องที่ดีมาก และจะประโยชน์ต่อประชาชน ตลอดจนประเทศชาติเป็นอย่างมาก นอกจากจะเพิ่มความสะดวก มีความรวดเร็ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการประหยัดเอกสาร ค่าเดินทาง รวมไปถึงเพิ่มความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ เพราะการทำงานออนไลน์จะมีหลักฐานและตรวจสอบได้ดีกว่า แต่สิ่งสำคัญคือ หน่วยงานราชการต่างๆ ต้องมีความพร้อม นอกเหนือจากความตระหนักแล้ว ต้องทำระบบต่างๆ ให้ดี ระบบออนไลน์ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย มีทั้งเรื่องของการทำแบบฟอร์ม การทำขั้นตอนอนุมัติออนไลน์ การยืนยันตัวตน การเก็บเอกสารออนไลน์ รวมถึงเรื่องระบบความปลอดภัย

เชื่อครับว่า หน่วยงานส่วนใหญ่คงยังไม่พร้อม แต่หากเราวางแผนงานให้ดี ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ. นี้ มีการลงมือปฏิบัติ และมีการใช้บังคับอย่างจริงจัง หน่วยงานส่วนใหญ่ก็จะสามารถปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้จริง เราก็จะขับเคลื่อนบริการต่างๆ เข้าสู่ระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริง เพื่อให้คำว่า “อยู่ที่ไหน!!! ก็ติดต่อราชการ” เป็นเรื่องจริง