'เอ็นที'ผนึก'เอไอเอส'ลุย5จี เล็งของบครม.2.5หมื่นล้าน

'เอ็นที'ผนึก'เอไอเอส'ลุย5จี เล็งของบครม.2.5หมื่นล้าน

'ชัยวุฒิ' เปิดผลประชุมนโยบาย 5จีกับ 'เอ็นที' หลังเสนอโมเดลทำตลาดแยก 2 คลื่นความถี่ ระบุย่าน 26 กิก ลุยไพรเวทเน็ตเวิร์กเจาะโรงงาน-โรงพยาบาลอัจฉริยะ งานโซลูชันดิจิทัลภาครัฐรับอีอีซี ส่วนย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์รอสภาพัฒน์ฯไฟเขียวทำตลาดคู่เอไอเอส ภายใต้งบรวม 25,000 ล้านบาท

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ประชุมถึงแผนการให้บริการ 5จีที่บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดีอีเอสให้ดำเนินงานโครงการดังกล่าว หลังจากที่เอ็นทีประมูลมาจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยในวันที่ 10 ม.ค. 2566 นี้ ตนจะนำเรี่องเข้าสู่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติงบดำเนินการรวม 25,000 ล้านบาท

แบ่ง2คลื่นทำตลาดคนละส่วน

ทั้งนี้ จะแบ่งเป็นการดำเนินงานและพัฒนาโครงข่าย 5G ใน 2 ย่านความถี่ ซึ่งส่วนแรกเอ็นทีของบประมาณราว 10,000 ล้านบาท ในการดำเนินงาน 5G บนคลื่นความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายผ่านระบบไพรเวท เน็ตเวิร์กรวมถึงการทำตลาดและบริการดิจิทัล โซลูชัน รูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ 5จีของเอ็นทีในหลากหลายด้าน ได้แก่ โรงงานอัจฉริยะ โรงพยาบาล การพัฒนาแอปพลิเคชัน 5จีการสร้างระบบดิจิทัลของภาครัฐ และการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลตามแนวทางของเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี)
 

ส่วนในย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ที่เอ็นทีได้เลือกให้บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส เป็นพันธมิตรในการดำเนินการตามข้อเสนอที่เอไอเอสส่งมาในสัญญาจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ ตามกรอบงบประมาณที่เอ็นทีเสนออยู่ที่ราว 14,000 ล้านบาท ขณะนี้แผนธุรกิจร่วมกับเอไอเอสอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งตามแผนงานที่เอ็นทีเสนอนั้นระบุว่าจะเริ่มทำตลาดอย่างเป็นรูปธรรมในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งมั่นใจว่าด้วยศักยภาพของเอ็นทีที่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง เนื่องจากมีเสาสถานีฐานมากกว่า 25,000 ต้น ดังนั้น จึงมีความครอบคลุมไม่แพ้เอกชน

“โครงการ 5จี เอ็นทีมีคลื่นความถี่ที่ได้รับจากการประมูลใน 2 ย่านความถี่ โดยคลื่นความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ซึ่งเป็นคลื่นในย่านความสูง เอ็นทีเน้นลงทุนให้บริการสำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เฉพาะกลุ่มเพื่อความคุ้มค่า โดยในปีนี้มุ่งเน้นการพัฒนาและเปิดให้บริการร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) และสนับสนุนการพัฒนาสู่สมาร์ทซิตี้ซึ่งได้เริ่มเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์แล้ว ส่วนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ยังคงรอสภาพัฒน์ฯ”

ย้ำรัฐต้องมีดาวเทียมของตัวเอง

รัฐมนตรีดีอีเอส กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้หารือในส่วนแผนการให้บริการธุรกิจดาวเทียมหลังจากที่่เอ็นทีได้เข้ายื่นซองประมูลวงโคจรดาวเทียมจากสำนักงานกสทช.และจะมีการประมูลจริงในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ว่า การเข้าประมูลของเอ็นท่ีก็เป็นไปตามมติครม.ที่เห็นชอบหลักการร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอวกาศของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้ภาครัฐมีดาวเทียมสื่อสารของตนเอง หลังจากที่ปัจจุบัน กระทรวงดีอีเอส ได้รับสัมปทานดาวเทียมคืนจาก บมจ.ไทยคม คือ ไทยคม 4 วงโคจร 119.5E และไทยคม 6 วงโคจร 78.5E และปัจจุบันได้มอบหมายให้เอ็นทีเป็นผู้รับผิดชอบ

ร่ายแผนปี66หนุนสตาร์ทอัพ

สำหรับแผนงานปี 2566 นั้น ตนจะวางนโยบายให้หน่วยงานภายใต้การดูแลของ ดีอีเอส ได้ดำเนินการพัฒนาทางด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและจังหวัด จัดทำแผนส่งเสริมเศรษฐกิจรายพื้นที่ใน 76 จังหวัด ปัจจุบันทำได้ 48 จังหวัด นอกจากนี้จะมีการจัดตั้ง National Big Data Institute (NBDi) ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอต่อครม.และเตรียมเสนอแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ต่อคณะกรรมการดิจิทัลพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการดีอี) 

ขณะเดียวกัน มีการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ให้สามารถจดจัดตั้งบริษัท จำนวน 142 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างปี 2562 – 2565 (ไตรมาส 3) ราว 16,822 ล้านบาท ขณะที่การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ ได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ โดยมีเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะประเทศไทยแล้ว 30 เมือง และอีก 61 เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะใน 33 จังหวัด