‘ควอลี่’ ออกแบบวัสดุเหลือทิ้งสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์ขยะเป็นศูนย์

‘ควอลี่’ ออกแบบวัสดุเหลือทิ้งสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์ขยะเป็นศูนย์

‘ควอลี่ (Qualy)’ แบรนด์ออกแบบขยะพลาสติกเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่ใช้งานได้จริง ล่าสุด สร้าง ‘พระสติ’ ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา พระเครื่องรุ่นแรกของไทยที่ทำมาจากวัสดุเหลือใช้ จนกลายเป็นพระเครื่องยอดนิยมที่ใครๆ ต่างอยากได้มาบูชา

กระถางต้นไม้จากกล่องน้ำผลไม้ดอยคำ ผลิตภัณฑ์เต่าทะเลเสียบแปรงสีฟันและจานวางสบู่จากซากแหหรืออวนประมงใช้แล้ว กระเบื้องปูผนังจากถุงพลาสติกหรือซองขนมวิบวับ ตัวอย่างนวัตกรรมเปลี่ยน “ขยะ” เป็น “สินค้าเชิงพาณิชย์” ที่ถูกพัฒนาโดย ควอลี่ (Qualy) แบรนด์ออกแบบขยะพลาสติกมาเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่ใช้งานได้จริง

ควอลี่ส่งออกสินค้ากว่า 60 ประเทศทั่วโลก สร้างมูลค่านับ 100 ล้านบาท การันตีฝีมือด้วยรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม Design Excellence Award 2022 และรางวัลออกแบบผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมจากงาน Golden Pin Design Award 2022 จากประเทศไต้หวัน

โดยล่าสุด ทางควอลี่ได้ร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงา สร้าง “พระสติพระเครื่องรุ่นแรกของไทยที่ทำมาจากวัสดุพลาสติกเหลือใช้ จนกลายเป็นพระเครื่องยอดนิยมที่ใครๆ ต่างอยากได้มาบูชา

‘ควอลี่’ ออกแบบวัสดุเหลือทิ้งสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์ขยะเป็นศูนย์

กิจการจากรุ่น สู่รุ่น

ควอลี่ (Qualy) แบรนด์คนไทยที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภทไลฟ์สไตล์ นำขยะพลาสติก วัสดุเหลือทิ้ง แปรรูปเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระถางต้นไม้ ฐานวางแปรงสีฟัน นาฬิกา แก้วน้ำ ที่รองแก้ว ตู้เสื้อผ้า โดยดีไซน์ให้สวยงาม มีความทันสมัย และยังสื่อเรื่องราวกระตุ้นให้ผู้เห็นตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม จนเรียกได้ว่าเป็นงานดีไซน์ที่มีค่าทั้งในแง่ประโยชน์ใช้สอย

ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ ภายใต้บริษัท นิว อาไรวา จำกัด กล่าวว่า ควอลี่เริ่มต้นก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2547 ต่อยอดจากธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของครอบครัวศุภเมธีกูลวัฒน์ เปลี่ยนจากผู้รับผลิตสินค้าพลาสติกมาออกแบบสินค้าขายเอง ปัจจุบันกลายเป็นแบรนด์ส่งออกสินค้ากว่า 60 ประเทศทั่วโลก สร้างมูลราว 100 ล้านบาท

ควอลี่มีพันธกิจ คือ พลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลจะต้องออกแบบให้เป็นสินค้าที่น่าใช้ และต้องมีเรื่องราวสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม การผลิตสินค้ารีไซเคิลจากวัสดุพลาสติกจะช่วยให้ลูกค้า ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

โดยวัสดุที่ควอลี่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จะรับมาจากคนที่นำขยะมาบริจาค หรือจากคนเก็บขยะในชุมชนที่นำมาขายกับทางบริษัท โดยจะแบ่งพลาสติกที่นำมาขึ้นรูปเป็น 4 ประเภทด้วยกันคือ PA เช่น อวนจับปลา, PE เช่น ถุงพลาสติก, PET เช่น ขวดพลาสติก และ PP เช่น ฝาขวด เป็นต้น

‘ควอลี่’ ออกแบบวัสดุเหลือทิ้งสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์ขยะเป็นศูนย์

พลาสติกรีไซเคิลสร้างมูลค่า

ก่อนจะมาเป็นชิ้นงาน ควอลี่ได้รับความร่วมมือจาก โครงการวิจัย “ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเม็ด rFoil” ทดลองผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล จากถุงพลาสติกวิบวับ ให้เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลประเภทใหม่ จากการผสมขยะพลาสติกประเภทลามิเนตและโพลีเอทิลีน นำไปทดลองฉีดขึ้นรูปและทดลองผลิตเป็นชิ้นงานต้นแบบ ซึ่งมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “เม็ด rFoil

รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (VGREEN) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า เม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิดใหม่ rFoil จะได้จากถุงขนมขบเคี้ยว เช่น ถุงขนมมันฝรั่งทอดอย่าง เลย์ (Lay) ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือความวิบวับ ทำให้เวลาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ลวดลายก็จะเห็นความเป็นกลิตเตอร์บนผลิตภัณฑ์

ทีมวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และร่วมมือกับแบรนด์ควอลี่ นำเม็ด rFoil มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์

ได้แก่ กระถางต้นไม้ กระเบื้องปูผนัง และหินตกแต่ง ซึ่งตอบโจทย์ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจบ้านและสวน ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติกลามิเนตได้ถึง 10-100 เท่า

นอกจากนี้ ควอลี่ยังทำให้การหมุนเวียนวัสดุในบริษัทมีความยั่งยืนด้วยการให้ส่วนลด 20 บาทกับลูกค้าที่นำสินค้าเก่าของควอลี่เข้ามาแลกซื้อกับสินค้าใหม่ ซึ่งวัสดุจากสินค้าเก่านี้ก็จะถูกนำกลับมาทำสินค้าอีกครั้ง เพื่อทำให้สินค้าที่ควอลี่ขายออกไปกลายเป็นขยะน้อยที่สุด

‘ควอลี่’ ออกแบบวัสดุเหลือทิ้งสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์ขยะเป็นศูนย์

ออกแบบเพื่อความยั่งยืน

นอกจากกระถางต้นไม้ กระเบื้องปูผนัง และหินตกแต่งที่ผลิตจากเม็ด rFoil แล้ว ควอลี่ยังผลิตสินค้าประเภทใหม่ล่าสุด นั่นก็คือ “พระสติพระเครื่องปลุกเสกที่ทำมาจากวัสดุเหลือทิ้ง 15 ชนิด อาทิ มวลสารขวดนมเปรี้ยว, มวลสารจากยาสีฟัน, แผ่น CD, แก้วกาแฟพลาสติก, เศษแหอวน, กล่องข้าวพลาสติก เป็นต้น โดยได้รับความร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงา บริจาค 200 บาท ก็ได้พระสติกลับไปบูชา

ส่วนเงินที่รับบริจาคก็นำไปให้กับโครงการผู้ป่วยข้างถนน ช่วยผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนเข้าสู่ระบบการรักษา และโครงการชรารีไซเคิล จ้างคนชรา คนไร้บ้าน ขาดโอกาสขาดทักษะ มาช่วยคัดแยกขยะ และรับงานทำความสะอาดอื่นๆ

ธีรชัย เล่าวว่า แนวคิดของพระสติได้มาจากนาฬิกาอัจฉริยะของแบรนด์แอปเปิล (Apple Watch) เพราะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมนๆ ที่คนยุคดิจิทัลคุ้นเคย และยังไม่รู้สึกว่าเชย ส่วนต้นแบบขององค์พระมาจากพระสมเด็จของวัดระฆังที่มีความมินิมอล เรียบง่ายตามหลักการของศาสนาพุทธ

ฐานสามชั้นของพระได้ไอเดียมาจากเลขสามของพุทธศาสนาอย่างศีล สมาธิ ปัญญา และพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขณะเดียวกันก็มองเป็นฐานของความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือ Circular การ Reduce Reuse Recycle ก็ได้

สำหรับด้านหลัง จะมีคำว่าสติอยู่ในวงกลม เพราะตั้งใจให้เป็นเครื่องประดับ คนที่รับพระไปจะได้ใส่หลายๆ แบบ ใส่แบบนาฬิกาก็ได้ เวลาหยิบจับอะไรจะได้เห็นพระก่อน เตือนสติให้รู้ตัวว่ากำลังหยิบ จับ กระทำการใดๆ

“หากหันองค์พระออกตรงด้านที่มีคำว่าสติจะประทับบนมือ เวลาถอดออกจะเห็นรอย ทั้งยังสื่อสารถึงการเตือนสติในการบริโภคสิ่งของด้วย เพราะถ้าบริโภคเยอะ ขยะก็เยอะตาม มันเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เวลาซื้อของหรือทิ้งของ คนก็จะสนใจถึงที่มาที่ไปของขยะมากขึ้น”

ธีรชัย ย้ำเพิ่มเติมอีกว่า การนำวัสดุเหลือทิ้งมาขึ้นรูปเป็นพระเครื่องทำให้เกิดการตั้งคำถามแก่สังคมว่า ขยะที่มองว่าไร้ค่า สำหรับใครหลายๆ คนแล้วมันอาจจะเป็นสิ่งที่มีค่ามากก็ได้ ดังนั้น พลาสติกมีคุณค่ามหาศาล สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ได้

“หัวใจสำคัญที่ทำให้ของควอลี่ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ คือ การออกแบบสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานจริง พลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลจะต้องออกแบบให้เป็นสินค้าที่น่าใช้ และต้องมีเรื่องราวสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม” ธีรชัย ชี้จุดสรุป

ที่มา: salika , qualydesign