BCG ทางรอดธุรกิจ จุดเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน

BCG ทางรอดธุรกิจ จุดเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน

“BCG Economy Model” โมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) ที่มุ่งขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กำลังกลายเป็นวาระแห่งชาติ ที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญ

จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดมุมมองในเวทีเสวนา “ขับเคลื่อนประเทศด้วย BCG Economy Model” ภายในงาน SX SUSTAINABILITY EXPO 2022 ว่า หากนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาปรับใช้ด้วยกระบวนการบีซีจีจะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนา ยกระดับเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต รวมถึงเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“บีซีจีจะเดินหน้าไปได้ต้องดำเนินการแบบจตุภาคี ร่วมมือกันกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยสิ่งสำคัญคือ การสร้างกำลังคนที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานของทุกๆ ภาคส่วนและทุกๆ อุตสาหกรรม”

ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทายในหลายหลายมิติ เช่นภาคการเกษตรและอาหาร ใช้แรงงานกว่า 32% ทว่าสร้างจีดีพีได้ 13% ประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่าเพื่อนบ้าน 20-50% นำเข้าปัจจัยการผลิตมากกว่า 1 แสนล้านบาท

ด้านสุขภาพและการแพทย์ ยา 37% ในบัญชีหลักของชาติรวมถึงวัคซีนรักษาโรคต้องนำเข้า ค่าใช้จ่ายยา 1.9 แสนล้านบาท 70% ต้องนำเข้า, ด้านพลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ แม้เป็นผู้ส่งออกอันดับต้นๆ ของอ้อย มันสำปะหลัง แต่นำเข้าพลังงานกว่า 1 ล้านล้านบาท และเคมีภัณฑ์ 5 แสนล้านบาท ชีวมวล 40 ล้านตัน ไม่ได้ใช้ประโยชน์และต้องเผาทิ้งซึ่งทำให้เกิดมลพิษ

นอกจากนี้ การท่องเที่ยงและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 60% จากผลพวงสถานการณ์โควิด-19 ขณะเดียวกันการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังมีข้อจำกัด

ร่วมมือยกระดับ ‘อีโคซิสเต็ม’

ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า บทบาทของดีป้ามุ่งสนับสนุนการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันเป็นหลัก โดยดีป้าจะเป็นตัวเชื่อมโยงเพื่อการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน

ทั้งนี้ ที่สำคัญคือการทำอิมพรีเมนเทชันโมเดลที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ารัฐไม่อาจทำได้ทั้งหมด ต้องมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน สตาร์ทอัพ ภายใต้โจทย์คือทำอย่างไรจะทำให้เกิดการลงมือทำและมีการปรับใช้ได้จริง

แปลว่าวันนี้จำเป็นต้องสร้างคนที่มาช่วยทำงาน โดยเฉพาะเทคโพรวายเดอร์หรือสตาร์ทอัป เบื้องต้นเช่น เกษตรแม่นยำ โดรน ฯลฯ

มากกว่านั้นนำดาต้ามาใช้ประโยชน์ สร้างความแข็งแรงให้กับระบบนิเวศทางเทคโนโลยี รวมถึงอินฟราสตรักเจอร์ ผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนงานขึ้นจริง ซึ่งอาจต้องมีข้อเสนอ รางวัล หรือสิทธิประโยชน์บางอย่างเพื่อลดภาระและสร้างแรงจูงใจ

'บีซีจี’ ทางรอดธุรกิจโลก-ไทย

ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยว่า ในมุมมองของตลาดทุน บีซีจีจะเป็นทางรอดของโลกและของประเทศไทย ซึ่งหากไม่เริ่มทำอะไรในวันนี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและการใช้ชีวิต

สำหรับโอกาสของตลาดไทย ด้วยความเข้มแข็งภาคเกตรกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ หากนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ย่อมส่งผลดี

ที่ผ่านมาเห็นได้ว่า หลายองค์กรที่ลงทุนในตลาดทุนเร่ิมตั้งคำถามและให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างมาก ดังนั้นประเด็นนี้ต้องมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วน เปลี่ยนมายเซ็ตว่า เป็นต้นทุนของการทำธุรกิจ เป็นสิ่งที่ควรทำและเมื่อทำได้แล้วจะช่วยสร้างโอกาสอย่างมากให้กับธุรกิจ

อย่างไรก็ดี นอกจากสร้างการรับรู้ ต้องมีการแสดงให้เห็นถึงเคสที่ประสบความสำเร็จ มีการสร้างมาตรฐาน ความชัดเจนด้านข้อมูล รวมถึงเฟรมเวิร์คที่จะสามารถตอบคำถามนักลงทุนได้

ที่ขาดไม่ได้ ต้องมีความง่ายในการปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนงานให้ไปถึงเป้าหมาย มีการประสานงานไปกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างความง่ายในทุกกระบวนการ สร้างความทั่วถึงและครอบคลุมทั้งด้านองค์ความรู้ การลดต้นทุน การพัฒนาเชิงดิจิทัล และการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด