ส่องสตาร์ตอัปด้าน “ธุรกิจอวกาศ” ของไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ส่องสตาร์ตอัปด้าน “ธุรกิจอวกาศ” ของไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

NIA ดันสตาร์ตอัปสายอวกาศ ผ่าน “Space Economy: Lifting Off 2022” พร้อมอวดโฉมน้องใหม่ของวงการอวกาศ ที่มาพร้อมโซลูชั่นรุกไทยให้เป็นผู้ผลิตเทคโนฯ ลดการพึ่งพาจากต่างชาติ

ก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีอวกาศ กับธุรกิจแห่งอนาคต มาทำความรู้จักกับคำว่า “เทคโนโลยีอวกาศ” หรือที่เราคุ้นหูกันบ่อย ๆ ก็คือ “Space Tech” แท้จริงแล้วมันคืออะไร แล้วจะนำไปต่อยอดในธุรกิจได้อย่างไร 

มาค้นหาคำตอบไปพร้อมกันจากโครงการ “Space Economy : Lifting Off 2022” หนึ่งในกิจกรรมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่ดำเนินการร่วมกับภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อผลักดันเศรษฐกิจอวกาศให้เกิดขึ้น ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอวกาศให้มีบทบาทสามารถเติบโตได้ในอุตสาหกรรมอวกาศ และลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ส่องสตาร์ตอัปด้าน “ธุรกิจอวกาศ” ของไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

  • เทคโนโลยีโดยคนไทยเพื่อคนไทย

อุตสาหกรรมดาวเทียมได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงองค์การนาซา (NASA) ได้ประกาศว่า จะมีวัตถุอวกาศลอยอยู่รอบโลกถึง 4,000 ดวง ในมุมผู้ประกอบการดาวเทียม หากดาวเทียมที่ให้บริการอยู่เกิดเสียหายขึ้นมากะทันหัน ดาวทีมที่ใช้เกิดปัญหาภาพดับ เช่น การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1 หมื่นล้านบาท จะเกิดผลเสียแค่ไหน และจะมีวิธีการรับมืออย่างไร ซึ่งทาง “ทีม SpaceDox” สตาร์ตอัปจากโครงการ Space Economy : Lifting Off 2022 ได้ทำการสำรวจว่า หากดาวเทียมใช้งานไม่ได้จะเกิดผลเสียหายราว 1 พันล้านบาท     

โดยส่วนใหญ่แล้วสาเหตุของการทำให้ดาวเทียมขัดข้องเกิดมาจากการชนกันของวัตถุในอวกาศ ทำให้รับส่งสัญญาณไม่ได้ ซึ่งปี 2565 นโยบาย Open Sky จากรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการด้านดาวเทียมเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ นั่นหมายความว่า การส่งสัญญาณ หรือการให้บริการดาวเทียมจะมีการตั้งสถานีภาครัฐในส่วนของภาคพื้นดินที่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

และหากเกิดการรบกวนจากเสาสัญญาณวิทยุหรือตัวรับสัญญานจะทำให้ภาพสะดุด ภาพล้ม การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างติดขัด นี่จึงเป็นที่มาของการเกิดโซลูชั่น “ระบบ space traffic management ตรวจสอบและติดตามดาวเทียม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุดาวเทียมชนกันในชั้นบรรยากาศ” ซึ่งจะช่วยในแต่ละด้าน ดังนี้

ส่องสตาร์ตอัปด้าน “ธุรกิจอวกาศ” ของไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

(ภาพจาก: spaceth)

  1. ติดตามการชนกันของวัตถุอวกาศ โดยสำรวจดูทิศทางการเคลื่อนที่ของดาวเทียมและวัตถุอวกาศ
  2. มอนิเตอร์การโคจรของวัตถุอวกาศรอบ ๆ ดาวเทียมที่เรียลไทม์ สามารถทำให้มองเห็นภาพมุมกว้าง และสามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ คาดคะเนได้ทันการณ์ นอกจากนี้ก็มีการเก็บ Data ของดาวเทียมแต่ละดวง เช่น อายุวิศวกรรมของดาวเทียม สุขภาพภายนอก-ในของดาวเทียม ตลอดจนการบันทึกการเคลื่อนที่ของดาวเทียมว่าดาวเทียมแต่ละดวงเคลื่อนที่ผ่าน Foodprint ประเทศใดบ้าง 
  3. เป็นตัวช่วยจัดการเรื่องความถี่ ไม่ให้เกิดการรบกวนของคลื่นแทรกอื่น ๆ โดยการแจ้งเตือนผู้ประกอบการผ่านระบบหรือแจ้งผ่านไลน์ ซึ่งจะเป็นการแจ้งเตือนทั้งการเคลื่อนถี่ของวัตถุอวกาศจะชนกันหรือเปล่า และคลื่นความถี่ที่ใช้งานมีการถูกแทรกด้วยคลื่นอื่น ๆ หรือไม่ 

ในปี 2566 ทางทีม SpaceDox จะพัฒนาระบบให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้นถึง 90% และขยายตลาดไปทั่วประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคาดมูลค่าทางตลาดไว้ราว 850 ล้านบาท เนื่องจากยังมีผู้เล่นน้อยรายในอุตสาหกรรมนี้ 

  • สร้างองค์ความรู้เพื่อการต่อยอดที่ก้าวไกล

การสร้างดาวเทียมเพื่อนำไปใช้บนอวกาศ แต่ละประเทศต้องส่งขึ้นไปทดสอบระบบหลายร้อยดวง เนื่องจากระยะทางบนโลกกับอวกาศนั้นมีความไกลและแตกต่างกันอยู่มาก ดังนั้น “ทีม TemSys” จึงเล็งเห็นว่า การสร้างบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ 

แม้ว่าไทยจะมีการพัฒนาดาวเทียม แต่เครื่องมือและหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมดาวเทียมประเทศไทยอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด และมีราคาที่ค่อนข้างสูง หากในวันหนึ่งต่างประเทศไม่ “ส่งออกชิป” ให้กับประเทศไทย นี่จะเป็นหายนะอย่างหนึ่ง 

ทางทีม TemSys จึงสร้าง “ชุดฝึกการเรียนรู้ระบบรับส่งสัญญาณจากดาวเทียม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน” เพราะต้องการทำให้การศึกษาไทยกับเรื่องอวกาศเป็นสิ่งที่เข้าถึงกันง่ายมากยิ่งขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีที่คนไทยผลิตเอง บ่มเพาะให้เด็กไทยมีความรู้เพื่อในสักวันหนึ่งไทยจะเป็นคนที่ผลิตเทคโนโลยีใช้ได้เองจนไปถึงการส่งออกเทคโนโลยีให้กับต่างชาติ

ในหลักสูตรของ TemSys จะเริ่มต้นตั้งแต่ส่วนที่เล็กที่สุดของระบบดาวเทียมคือ การต่อวงจรและผลิตชิป ที่ใช้สำหรับดาวเทียม แตกย่อยของมาเป็นโมดุลที่มีรายละเอียดเยอะที่สุด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการสร้างชิปและออกแบบวงจรขึ้นมาเองได้ จนเกิดเป็นทักษะติดตัวไปต่อยอดในอาชีพด้านอุตสาหกรรมอวกาศ ทั้งนี้ หลักสูตรจะสามารถใช้ได้ตั้งแต่เด็กประถมจนถึงระดับมหาวิทยาลัย 

โดยขณะนี้ ได้มองหาพาร์ทเนอร์อย่าง ผู้ผลิตดาวเทียมขนาดเล็กภายในประเทศ หน่วยงานราชการและห้องทดสอบระบบดาวเทียม ผู้ผลิตดาวเทียมขนาดเล็กต่างประเทศ และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศและต่างประเทศ 

  • กลไกลรุกธุรกิจอวกาศ

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า NIA มีนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ตอัปที่สนใจทำธุรกิจนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ ผ่านกลไกลต่าง ๆ ดังนี้

  1. สนับสนุนงานด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สตาร์ตอัปสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ
  2. ส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้โครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ เช่น สถานีภาคพื้นดิน
  3. เตรียมพร้อมรองรับการส่งจรวดและดาวเทียมด้วยการพัฒนาให้สตาร์ตอัปสามารถผลิตดาวเทียมได้เองเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
  4. สนับสนุนการใช้งานด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบนำทาง โทรศัพท์สัญญาณดาวเทียม และบริการด้านอุตุนิยมวิทยา 
  5. สร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศให้แก่สตาร์ตอัปของไทยที่สนใจเปลี่ยนมาทำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอวกาศ

นอกจากนี้ ทางด้าน วรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ เปิดเผยว่า การพัฒนาดาวเทียมและระบบพลังงานประสิทธิภาพสูง มาจากความสำคัญในลงทุน 3 ด้าน ที่เป็นส่วนสำคัญที่ต่อยอดให้เกิดการสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมอวกาศและกิจการอวกาศ ได้แก่

  • Human Capital Knowledge (องค์ความรู้)
  • Equipment & Machinery (เครื่องมือและเครื่องจักร)
  • Raw Material (วัสดุอุปกรณ์และสารเคมี) 

อีกทั้ง ยังต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะก่อนให้เกิดเครือข่ายในอุตสาหกรรมอวกาศได้อย่างยั่งยืน และขยายตลาดในอุตสาหกรรมอวกาศได้เติบโตอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้